SCGP Newsroom

Deltalab ได้รับรางวัล The Best FSD Channel Partner, South Europe 2022 จากคู่ค้าระดับโลก

Deltalab, member of SCGP ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ห้องแล็บและทางการแพทย์ รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำยาเคมีและเครื่องทดสอบคุณภาพสูง ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพชั้นนำ ได้รับรางวัล The Best Food Science Division (FSD) Channel Partner จาก Bio-Rad Laboratories ผู้นำด้านน้ำยาเคมีและเครื่องทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพระดับโลก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

โดยรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้แก่คู่ค้าทางธุรกิจและผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มีความโดดเด่น ซึ่งในปี 2022 ทาง Deltalab สามารถสร้างยอดขายได้เติบโตสูงถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางธุรกิจ ในต่างประเทศที่ SCGP ได้มีการขยายการลงทุน พร้อมสร้างความแข็งแกร่งในการเป็นโซลูชันอย่างครบวงจร โดยการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำที่ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากคู่ค้าระดับโลก

ไพฑูรย์กล่องกระดาษ เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยคุณภาพและมาตรฐาน

ไพฑูรย์กล่องกระดาษ

เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยคุณภาพและมาตรฐาน

 

จากคำชักชวนของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่จุดประกายให้ “ไพฑูรย์กล่องกระดาษ” เริ่มต้นออกเดินทางในธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์บนแนวคิดในการเรียนรู้ พัฒนา และม่งสร้างคุณภาพ เพื่อยกระดับธุรกิจมาโดยตลอด จนสามารถบรรจุชื่อแบรนด์ดังระดับโลกเอาไว้ในรายชื่อลูกค้าใด้ในปัจจุบัน ซึ่งคุณปัญจพล ม่วงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไพฑูรย์กล่องกระดาษจำกัด ผู้บริหารที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลธุรกิจต่อจากคุณพ่อ ได้สละเวลามาร่วมย้อนเรื่องราวไปยังจุดเริ่มต้นของธุรกิจ และแนวทางการสานต่อธุรกิจบนวิถีแห่งการปรับตัว เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เริ่มต้นจากการเรียนรู้

“จุดเริ่มต้นของเรามาจากยุคของคุณพ่อ ประมาณปี 2521 ตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เข้ามาบุกเบิกที่ดินละแวกบางบอนเพื่อทำกิจการบรรจุภัณฑ์ และได้ชักชวนครอบครัวเราให้ลองทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ด้วยกัน เนื่องจากเห็นความสามารถในการทำธุรกิจด้านอื่นมาก่อน ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเดิมในครั้งแรกเราเริ่มต้นด้วยคนงานเพียง 3 คน โดยคุณพ่อก็ไปเรียนรู้เกี่ยวกับกล่องกระดาษลูกฟูกรูปแบบต่างๆ จากผู้ใหญ่ท่านนั้นด้วยตัวเองเพราะสมัยนั้นเรายังไม่มีความรู้มาก่อน

 

“ต่อมามีลูกค้ารายหนึ่งต้องการจะสั่งสินค้าเพิ่มอีก 10 เท่า ตอนนั้นคุณพ่อสามารถปรับปรุงและติดตั้งเครื่องจักรเพิ่ม เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวได้ เมื่อออร์เดอร์เพิ่มเข้ามา ทำให้มีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบมากขึ้น สามารถลดต้นทุนได้ ธุรกิจก็เดิบโตขึ้นกระทั่งปี 2539 ตัดสินใจขยายธุรกิจในลักษณะย้อนกลับ (Backward Integration) เริ่มผลิตแผ่นกระดาษลูกฟูกเอง ช่วยลดต้นทุน ลดเวลา รองรับงานเร่งด่วนได้ สามารถตอบสนองลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงต่อยอดธุรกิจนำเข้า จำหน่าย และติดตั้งเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากมีทีมงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เพราะเครื่องจักรของเรา 99% นำเข้าจากญี่ปุ่นมาติดตั้งเอง และดูแลรักษาเองทั้งหมด”

 

ต่อยอดด้วยคุณภาพและมาตรฐาน

 

เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ปัจจุบันคุณปัญจพลเข้ามาบริหารงานแทนคุณพ่อ สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก คุณภาพ และมาตรฐานจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

“อย่างที่ทราบดีว่า ในปัจจุบันปัจจัยแลสภาวะแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนไปจากสมัยก่อนค่อนข้างเยอะ มีข้อกำหนดและมาตรฐานในระดับสากลที่เราต้องศึกษา เพื่อยกระดับธุรกิจของเราให้ตอบสนองลูกค้า รวมไปถึงดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรับรองวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่ปลอดภัยกับสังคมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดต่าง ๆ มีความเข้มงวดขึ้นมาก เช่น วัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องมีการรับรอง FSC (Forest Stewardship Council) ว่ามาจากแหล่งป่าปลูกทดแทน แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานสากล รวมถึงการวางแผนภายในองค์กร การพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลมีความสามารถพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อลูกค้าว่า เราจะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมาตรฐานได้อย่างสม่ำเสมอ สินค้าของเรามีการควบคุมคุณภาพ โดยผ่านการทดสอบในห้องแล็บที่มีการควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดของลูกค้า

 

“ทั้งหมดคือการเรียนรู้ การปรับตัว หากไม่ลอง ไม่เริ่ม เราก็ไม่รู้ ตลอด 5 ปีที่ทำมา เราพิสูจน์จนได้คำตอบ นั่นคือ ผลตอบรับที่ดีที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลสำคัญที่เราอยากรักษามาตรฐานไว้เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่มีความต้องการสูงให้เติบโตมากขึ้น และสอดรับกับเทรนด์ในอนาคต แม้บางอย่างจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม

 

ยกระดับธุรกิจพร้อมพาร์ตเนอร์ที่ใช่

 

“ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ SCGP เพราะตั้งแต่ที่เราเริ่มผลิตแผ่นกระดาษลูกฟูก SCGP ก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องวัตถุดิบม้วนกระดาษที่มีคุณภาพและต้นทุนราคาที่ดี จนทำให้เราเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้ และร่วมพัฒนาโปรเจกต์ลูกค้ารายสำคัญของเราที่มีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง FSC CoC (Chain of Custody Certification) ว่ามาจากแหล่งปลูกป่าหมุนเวียนหรือทดแทน มีการจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องมีการรับรองคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานต่าง ๆ โดยลูกค้าจะมีการตรวจสอบอยู่ตลอด ซึ่งที่ผ่านมากระดาษจาก SCGP สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว ยังมีสินค้าที่เพียงพอต่อความต้องการของเรา แม้ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ก็ทำให้มั่นใจว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

“ลูกค้าของเราในปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำให้เราต้องทำการบ้านเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องนี้ โดยมีการพัฒนาร่วมกันจนสามารถลดการใช้กระดาษลงถึง 15% ลดการใช้ทรัพยากรแต่ยังคงประสิทธิภาพเอาไว้ได้ตามข้อกำหนดของลูกค้า ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว

 

“ความประทับใจอีกอย่างคือ ที่มบริการเทคนิคและทีมขายของ SCGP เหตุการณ์ต่าง ๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ ความต้องการ หรือสิ่งที่เราอยากปรับปรุง จะมีทีมบริการเทคนิคเข้ามาคอยช่วยให้ข้อมูลช่วยวิเคราะห์และติดตามผล ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้า หรือพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น ในอนาคตเราอยากขยายมาตรฐานการรับรองไปในกลุ่มสินค้าประเภทอื่น เช่น ฉากกันกระแทก (Corner Protection) หรือกระดาษกล่องขาวเคลือบ (Duplex) และไม่ว่าโจทย์หรือความต้องการของลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ขอให้เราร่วมกันพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” คุณปัญจพลกล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา a LOT Vol.29
https://www.scgpackaging.com/th/alotNewsletter

WELCOME CHALLENGES AND CHANGES รับมือทุกความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง

รับมือทุกความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง

ดร.เกศินี ธิติวุฒิสกุล

Senior Researcher, Innovation and Product Development Center

 

สินค้า บริการ และโซลูชันของ SCGP ถูกสร้างขึ้นจากองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท นักวิจัยคือ กลุ่มบุคลากรผู้อยู่เบื้องหลังหลากหลายนวัตกรรมที่สำคัญ วันนี้เรามีตัวแทนมาบอกเล่า วิธีคิดและแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เขาสนุกกับการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ SCGP ก้าวไปข้างหน้า

 

“แนนเป็นนักวิจัยที่รับผิดชอบการสร้างสรรค์นวัตกรรมและกำหนดแผนงานด้านการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับนาโนเซลลูโลสที่ SCGP เรานำมาใช้ในธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว

 

“งานด้านการพัฒนานวัตกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เป็นโซลูซัน ในฐานะนักวิจัย เราจึงต้องมองให้รอบด้าน ตั้งต้นจากความต้องการของลูกค้า ความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและทางธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่าง และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรกับลูกค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

 

“ความท้าทายแรกของการพัฒนานวัตกรรมในระดับโลกคือการ Scale up องค์ความรู้ใหม่ไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถให้คำตอบเราได้อย่างชัดเจน เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อน เราอ้างอิงข้อมูลจากภายนอกได้น้อยมาก ทีมเราจึงต้องรับมือกับเรื่องนี้ด้วย การเพิ่มขีดความสามารถของทีม หาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ให้มากขึ้นและลงมือทำให้เร็วที่สุด ความท้าทายต่อมาคือการสร้างคุณค่าเพิ่มเติมเพื่อหาโซลูซันใหม่ที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและสังคมผ่านการเข้าไปเรียนรู้ลูกค้าเพื่อหา Customer Insight ทำความเข้าใจลูกค้าและปัญหาอย่างถ่องแท้ และเรียนรู้ระบบนิเวศตลอดห่วงโซ่คุณค่า มองให้ลึกถึงสิ่งที่จะตอบโจทย์เหนือความคาดหวัง ทั้งในด้าน Functional และด้าน Emotional”

 

ในการทำงานเราจะต้องเจอกับความท้าทายต่างๆ ในโลกธุรกิจและสังคมปัจจุบันที่เรียกว่า BANI (Brittle / Anxious / Non-linear / Incomprehensible) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง เราไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้ชัดทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นตลอดเวลาประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เราต้องไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนา ต้องเปิดรับมุมมองใหม่ในระดับโลกมากขึ้น เพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มี Mindset ที่เรียกว่า “Welcome Challenges and Changes”

 

“แนนเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อโลกที่ดีขึ้นคือ คำตอบของการพัฒนานวัตกรรมสำหรับอนาคต ดังนั้นแรงบันดาลใจในการทำงานของแนนจะพยายามมองให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาโซลูชันสำหรับโลก ทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้พลังงานน้อยที่สุด ด้านการพัฒนาโซลูชันที่มีคุณค่าต่อลูกค้าและสังคม เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น และด้านการพัฒนาโซลูชันที่ช่วยสนับสนุนให้องค์กรของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

“การมี Passion ถือเป็นแรงผลักดันให้เราอยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน การทำงานที่นี่ทำให้เรา มีโอกาสเรียนรู้แบบ T-shape คือ การลงลึกในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญและได้เรียนรู้ศาสตร์ด้านอื่นจากทีมที่มีความชำนาญที่แตกต่างกัน และนั่นคือความสุขและความสนุกในการทำงาน เราได้เรียนรู้ ปรับตัวพัฒนาตนเองและเติบโตเป็น Next Chapter of Me อย่างต่อเนื่องค่ะ”

 

ที่มา a LOT Vol.29
https://www.scgpackaging.com/th/alotNewsletter

SCGP ต่อยอดองค์ความรู้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใหม่ เปิดตัว HOLIS by SCGP B Cap บำรุงสมองแบบองค์รวม

SCGP ต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญการเพาะเลี้ยงพืชมูลค่าสูง ด้วยการนำเทคนิคเฉพาะมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในเห็ดเยื่อไผ่ พร้อมคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งชั้นนำระดับโลกสู่การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใหม่ “HOLIS by SCGP B Cap” ตัวช่วยบำรุงสมองแบบองค์รวม เพื่อป้องกันและฟื้นฟูให้พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่เหนื่อยล้าจากการใช้ความคิดจากการทำงานเป็นเวลานาน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอและมลภาวะต่างๆ ในปัจจุบัน 

 

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ได้ต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ นำประสบการณ์ด้านการเพาะเลี้ยงพืชด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ผสานความร่วมมือกับศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของ SCGP สู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยล่าสุดประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง “เห็ดเยื่อไผ่” (Bamboo Mushroom) เพื่อนำมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรใหม่ “HOLIS by SCGP B Cap” (โฮลิส บาย เอสซีจีพี บี แคป) นวัตกรรมเพื่อการดูแลสมองและระบบความจำแบบองค์รวม หลังจากได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร HOLIS by SCGP IM-MU Cap ที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลร่างกายแบบองค์รวมเมื่อปีที่ผ่านมา

 

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร HOLIS by SCGP B Cap พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Best for Brain Boost การบำรุงระบบประสาทและสมองแบบองค์รวมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองในทุกด้าน ด้วยการบำรุง ป้องกัน ส่งเสริมการทำงาน ฟื้นฟูสมองและความจำแบบองค์รวมให้พร้อมกับทุกการใช้งานในทุกวัน โดยคัดสรร 3 สารสกัดหลักจากธรรมชาติ ได้แก่ (1) Dictyophorine B สารสกัดจากผงเห็ดเยื่อไผ่ที่เพาะเลี้ยงด้วยเทคนิคเฉพาะของ SCGP ช่วยปกป้องระบบประสาทและสมอง (2) DHA เข้มข้น 40% สารสกัดจากน้ำมันสาหร่าย (Algae Oil) นำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วยการทำงานของระบบประสาทและสมอง และ (3) Omega 3 สารสกัดจากน้ำมันคริลล์ (Krill Oil) ที่มีส่วนช่วยบำรุงสมอง ส่งเสริมความจำ ไร้กลิ่นคาว นอกจากนี้ ยังมีวิตามินบี 12 ที่มีส่วนในการทำงานตามปกติของระบบประสาทและสมอง และน้ำมันสกัดอื่น ๆ รวมถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย สามารถตรวจสอบทวนกลับได้

 

HOLIS by SCGP B Cap จึงมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานที่สมองเหนื่อยล้าจากการทำงานเป็นเวลานานและผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่เริ่มมีความกังวลต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์  มี 2 ขนาด บรรจุกล่องละ 30 เม็ด ราคา 1,100 บาท และ 10 เม็ด ราคา 459 บาท  ปัจจุบันสินค้ามีจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ  ร้าน Tops Vita ทุกสาขา และช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลสชั้นนำ ร้าน SCGP Healthcare ใน Shopee, Lazada, Line OA, www.doozyonline  โดยสามารถติดตามข้อมูลสินค้าและกิจกรรมที่น่าสนใจได้ที่ www.holisbyscgp.com และ Facebook : HOLIS by SCGP

SCGP ปี 2565 ทำรายได้ 1.46 แสนล้าน เติบโตร้อยละ 18 กางแผนปี 66 เน้นลงทุนธุรกิจศักยภาพสูง เพิ่มนวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร รับเศรษฐกิจฟื้น

SCGP เผยการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้จากการขาย 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากการควบรวมกิจการกับพันธมิตรชั้นนำศักยภาพสูง (M&P) การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนกำไรลดลงจากผลกระทบด้านปริมาณขายลดลงและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น มองภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี 66 มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจีนเปิดประเทศ ชู 5 กลยุทธ์สร้างธุรกิจแข็งแกร่งรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีโอกาสเติบโตสูง การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่อุปทาน การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุก และการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG 4 Plus ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตต่อเนื่องที่ 160,000 ล้านบาท

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2565 ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ โดยมีรายได้จากการขาย 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน ผลจากการวางกลยุทธ์ขยายกำลังการผลิตและการควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) การรับรู้รายได้เต็มปีจากการรวมผลประกอบการของบริษัทที่ M&P ได้แก่ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab การรับรู้รายได้บางส่วนจาก Peute และ Jordan และการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วน EBITDA เท่ากับ 19,402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน และมีกำไรสำหรับปี 5,801 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 จากปีก่อน จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการลดลงของปริมาณการขายและอุปสงค์กระดาษบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และในภูมิภาคจากการล็อกดาวน์ของประเทศจีน 

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,509 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 มี EBITDA อยู่ที่ 3,554 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสำหรับงวด 450 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการและราคาขายบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ยังเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการทยอยเปิดประเทศ

SCGP ได้กำหนดแผนเงินลงทุนไว้ 100,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2564-2568) เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 200,000 ล้านบาท ในปี 2568 โดยในปี 2564-2565 SCGP ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 37,000 ล้านบาท ในการลงทุนและขยายกำลังการผลิตในธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโต ทำให้ SCGP สามารถสร้างรายได้และผลตอบแทนที่สูงท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย สะท้อนถึงโมเดลธุรกิจและทิศทางการดำเนินธุรกิจของ SCGP ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม และสามารถสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้ SCGP ได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.35 บาท ในวันที่ 24 เมษายน 2566 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 4 เมษายน 2566

นายวิชาญ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสแรกของปี 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากจะได้รับปัจจัยบวกจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การนำเข้าและส่งออก ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ผันผวนต่อเนื่อง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงในหลายภูมิภาค เช่น กลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของภาคธุรกิจการส่งออกของอาเซียน

SCGP ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 160,000 ล้านบาท ด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 
1. การสร้างการเติบโตจากการ M&P และการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และมองโอกาสขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทย่อย (Synergy) ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี การขยายฐานลูกค้าและจัดหาวัตถุดิบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงาน โดยตั้งงบประมาณการลงทุนในปีนี้ที่ 18,000 ล้านบาท 
2. การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยงบประมาณและค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา 800 ล้านบาท
3. การยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain integration) การดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Operational excellence) ด้วยการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและผลิตผล และการใช้ Data Analytics เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (End-to-End) 
4. การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน การวางแผนบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น การบริหารจัดการเงินสด และงบประมาณการลงทุน (CAPEX) อีกทั้งยังมีการกระจายฐานลูกค้าหลากหลายประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรม การมองหาตลาดใหม่ในแถบตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้

5. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus โดยมีเป้าหมายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนที่จะเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ทั้งหมดร้อยละ 100 จากปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตทั้งหมดในปี 2568 พร้อมทั้งการดำเนินงานตามแผนงานเพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

SCGP ชวน โปรโม โปรเม โปรเมียว ร่วม “ปลูก ลด ร้อน” พร้อมส่งแรงบันดาลใจและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี

SCGP ชวน 3 โปรกอล์ฟหญิงระดับโลก “โปรโม-โมรียา จุฑานุกาล” “โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล” และ “โปรเมียว-ปาจรีย์ อนันต์นฤการ” ร่วมปลูกต้นไม้ในโครงการ “SCGP ปลูก ลด ร้อน” จำนวน 1,000 ต้น เพื่อเพิ่มต้นไม้ให้พื้นที่ป่าชุมชนต้นน้ำซึ่งอยู่ใจกลางพื้นที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งน้ำใช้ในการเพาะปลูก โดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน พนักงาน SCGP และชุมชนจิตอาสากว่า 150 คนเข้าร่วม ณ ชุมชนบ้านสระเศรษฐี ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี  

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP มุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและ ESG เพื่อสร้างสมดุลในทุกมิติ ด้วยการนำบริษัทฯ เติบโตไปพร้อมกับการมุ่งเน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล จึงได้ดำเนินโครงการ “SCGP ปลูก ลด ร้อน” เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืนคือ การชวนภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมลงมือปลูกต้นไม้ ในครั้งนี้ SCGP จึงได้ชวน 3 โปรกอล์ฟหญิงระดับโลก ได้แก่ “โปรโม-โมรียา จุฑานุกาล” “โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล” และ “โปรเมียว-ปาจรีย์ อนันต์นฤการ” พร้อมด้วยหน่วยงานราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน พนักงาน SCGP และชุมชนจิตอาสากว่า 150 คน มาร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวน 1,000 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านสระเศรษฐี ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเดิมผืนป่าแห่งนี้มีสภาพแห้งแล้งและถูกทำลาย SCGP จึงเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และร่วมอนุรักษ์แหล่งน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่าชุมชนเริ่มฟื้นฟูและอุดมสมบูรณ์ขึ้น

การปลูกต้นไม้ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือร่วมใจในการเพิ่มจำนวนต้นไม้และพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่าชุมชนบ้านสระเศรษฐี ที่เป็นแหล่งต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ทำให้คนในชุมชนมีน้ำใช้ สามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรกรรม มีอาหารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอันเกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งนี้ น้อง ๆ นักกอล์ฟทั้ง 3 ท่าน ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ในการส่งมอบแรงบันดาลใจในการรักษ์โลก ที่ให้ความสนใจและช่วยกันดูแลโลกใบนี้ด้วยการปลูกต้นไม้ร่วมกัน

ในปี 2565 โครงการ “SCGP ปลูก ลด ร้อน” ได้ปลูกและอนุรักษ์ต้นไม้ เพื่อเพิ่มการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 68,663 ต้น โดยมีปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กรณีฐานประมาณ 654,198 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า ซึ่ง SCGP ยังคงดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลก พร้อมส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้ลูกหลานต่อไป

Vina Kraft Paper Co., Ltd. (VKPC) ใน SCGP คว้ารางวัล Top 100 Sustainable Companies และ รางวัล Gender Equality in the Workplace ประจำปี 2022 ในประเทศเวียดนาม

Vina Kraft Paper Co., Ltd. (VKPC) บริษัทใน SCGP คว้ารางวัล Top 100 Sustainable Companies และ รางวัล Gender Equality in the Workplace ในประเทศเวียดนามประจำปี 2022 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากผลการสำรวจของโครงการ Sustainable Companies in Vietnam บริหารโดย Vietnam Business Council for Sustainable Development (VBCSD) โดยจัดทำการมอบรางวัลในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

VKPC มุ่งมั่นในการการส่งมอบนวัตกรรมสินค้าที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า โดยมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งพนักงานทุกคน คือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ภายใต้วิสัยทัศน์ “leaving no one behind”  ปรับปรุงความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานมีส่วนสำคัญต่อคุณภาพแรงงาน ด้วยเหตุนี้ VKPC จึงได้รับการยกย่องให้เป็นธุรกิจที่มีความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน และดึงดูดผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน อีกทั้งยังมุ่งเน้นการเคารพสิทธิเด็กที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทั้งองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียไปพร้อมกัน
 

SCGP ขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวคุณภาพสูงในประเทศไทย หนุนโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร รับดีมานด์โตต่อเนื่อง

SCGP เดินหน้าขยายธุรกิจโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและความนิยมใช้บรรจุภัณฑ์ที่เน้นความสะดวก ปิดดีลขยายการลงทุนใหม่ เข้าซื้อทรัพย์สินธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) จากบริษัทไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป จำกัด (Cyber) ดันกำลังการผลิตเพิ่ม ช่วยขยายเครือข่ายลูกค้า เพิ่มศักยภาพการจัดการวัตถุดิบ เสริมขีดความสามารถของบริษัทในการนำเสนอโซลูชันด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง 

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ได้ขยายการลงทุนผ่านการเข้าซื้อทรัพย์สินในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) จากบริษัทไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป จำกัด (Cyber) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์และจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ด้วยงบลงทุน 450 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินลงทุนในสินทรัพย์ ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ดิน อาคารสำนักงาน คลังสินค้า และสินค้าคงคลัง รวมถึงงบประมาณลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคตและเงินทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวข้อง การลงทุนครั้งนี้เป็นการซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวเท่านั้น และ Cyber ยังคงดำเนินธุรกิจส่วนอื่น ๆ ต่อไป โดยการขยายธุรกิจนี้ได้ดำเนินธุรกรรมผ่านบริษัทพรีแพค ประเทศไทย จำกัด (Prepack) ใน SCGP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวคุณภาพสูงและมีการนำเสนอโซลูชันด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล ผ่านการรับรอง ISCC Plus โดย International Sustainability and Carbon Certification สำหรับการเป็นองค์กรที่มีการจัดการคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน ปัจจุบัน Prepack มีฐานการผลิต 3 แห่งในประเทศไทย โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

การลงทุนครั้งนี้จะส่งผลให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวของ SCGP มีกำลังการผลิตในประเทศไทยรวมเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 12 โดยครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตส่วนเพิ่มดังกล่าวเป็นกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในปัจจุบันของ Cyber ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาครใกล้กับที่ตั้งโรงงานของ Prepack และจะรวมเข้าเป็นกำลังการผลิตรวมของ Prepack ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ส่วนกำลังการผลิตส่วนเพิ่มที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะมาจากการขยายกำลังการผลิตในบริเวณพื้นที่เดียวกันตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ซึ่งจะทำให้ SCGP สามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสัตว์และกลุ่มอาหารเสริมที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมของ Cyber และยังส่งผลดีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนที่เกิดจาการการรวมปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทในการนำเสนอโซลูชันด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง
 

SCGP รับรางวัล BETAGRO Supplier Excellence Awards เสริมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ใน SCGP โดยคุณเอกราช นิโรจน์ Enterprise Marketing Director – SCGP เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล BETAGRO Supplier Excellence Awards 2022 จากคุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด Growing Together with Sustainability เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ 
 

รางวัลดังกล่าว เป็นรางวัลเพื่อประกาศเกียรติคุณสำหรับคู่ค้าที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมในปี 2564 ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า ราคา การจัดส่ง การบริการและนวัตกรรม ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพในฐานะบริษัทคู่ค้าที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน
 

รางวัลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและยอมรับจากลูกค้า อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของ SCGP ในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้บริโภคไปด้วยกัน

Duy Tan ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS การันตีมาตรฐานความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก

Duy Tan ใน SCGP ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก ISCC PLUS จาก International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) เพื่อรับรององค์กรที่มีการจัดการคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดย Duy Tan ถือเป็นผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปและของใช้ในครัวเรือนรายแรกในประเทศเวียดนามและเป็นธุรกิจในเครือ SCGP รายได้ 3 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนชั้นนำระดับโลกดังกล่าว สะท้อนวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

Duy Tan คือผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปและของใช้ในครัวเรือนที่สามารถใช้เม็ดพลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled Resin) จากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจาก ISCC เป็นวัตถุดิบ ซึ่งใช้ระบบการจัดการและควบคุมการผลิตภายใน ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ ตรวจรับ ผลิต จนถึงขั้นตอนการขายและส่งมอบ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้รับสินค้าที่มีพลาสติกหมุนเวียนที่มีคุณภาพ

การรับรองมาตรฐานนี้ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในสินค้าของ Duy Tan พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพเพื่อสนองตอบความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี