HOLIS by SCGP IM-MU Cap ได้รับรางวัลสุดยอดแบรนด์แห่งปี จาก “ชีวจิต Awards 2022” การันตีสินค้านวัตกรรมคุณภาพที่ตอบโจทย์ผู้รักสุขภาพ
HOLIS by SCGP IM-MU Cap ได้รับรางวัลสุดยอดแบรนด์แห่งปี จาก “ชีวจิต Awards 2022” สาขา Innovation Reader’s Vote แห่งปี 2022 จัดโดย นิตยสารชีวจิต ซึ่งมอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ชั้นนำทั้งของไทยและต่างประเทศ ที่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย นายเอกราช นิโรจน์ Enterprise Marketing Director, SCGP เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล จาก ดร. สรัญ ฐิตะวสันต์ Deputy Managing Director บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรม U Sathorn Bangkok Hotel
รางวัลนี้ ได้รับคัดเลือกจากคะแนนโหวตของผู้อ่านและผู้ติดตามนิตยสารชีวจิต นับเป็นความภาคภูมิใจและสะท้อนให้เห็นการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสินค้าอย่างต่อเนื่องและความร่วมแรงร่วมในของทีมงานและพนักงานเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคจนเป็นที่ยอมรับ สามารถติดตามข่าวสารและโปรโมชันจาก HOLIS by SCGP ได้ที่เว็บไซต์ www.holisbyscgp.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ HOLIS by SCGP และ LINE @SCGPHealthcare
“HOLIS by SCGP IM-MU Cap ผสาน 3 คุณค่าจากธรรมชาติ ให้ทุกวันที่มี ดีกว่าที่เคย”
ALMIND by SCGP ได้รับรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ดาวรุ่ง จาก Amarin Baby& Kids Awards 2022 ย้ำความมั่นใจและปลอดภัยต่อลูกน้อย
ALMIND by SCGP ได้รับรางวัล Amarin Baby & Kids Awards 2022 ประเภท Rising Star สาขาผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสำหรับครอบครัว (Best Disinfectant Cleaner for Family) จากผลิตภัณฑ์สเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือ โดย นางสาวนิรมล เพรียวประเสริฐ Retail Channels Management Department Manager เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ Siloo’et House บางใหญ่
รางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ดาวรุ่ง หรือ Rising Star เป็นรางวัลที่ผ่านการคัดสรรจากทีมบรรณาธิการ มอบให้กับแบรนด์สินค้าดาวเด่น น่าชอป น่าใช้ มีคุณภาพดีเหมาะกับลูกน้อย จากงาน Amarin Baby and Kids Fair 2022 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคุณแม่ยุคใหม่ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและสะท้อนให้เห็นการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคจนเป็นที่ยอมรับ สามารถติดตามข่าวสารและโปรโมชันดี ๆ จาก ALMIND by SCGP ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ALMIND by SCGP และ Line @SCGPHealthcare
“ALMIND by SCGP, ส่งต่อความสะอาดอ่อนโยน ด้วยความใส่ใจ”
SCGP เตรียมขายหุ้นกู้ อายุ 4 ปี ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ต่อผู้ลงทุนทั่วไป ระหว่างวันที่ 22 – 24 และ 28 – 30 พฤศจิกายนนี้
SCGP เตรียมออกหุ้นกู้ อายุ 4 ปีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ A+(tha) จากฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) สะท้อนฐานะการเงินและสถานะธุรกิจที่แข็งแกร่ง เปิดจองซื้อสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ปัจจุบันของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (ทุกชุด) และ/หรือ ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (ทุกชุด) และ/หรือ ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (ทุกชุด) ในวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายนนี้ และผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายนนี้ ที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี มูลค่าเสนอขายไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อที่ระดับ A+(tha) จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 สะท้อนความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ SCGP
SCGP ออกหุ้นกู้ครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินดังกล่าวเพื่อชำระคืนเงินกู้ เพื่อการลงทุนของบริษัท และ/หรือ เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทมุ่งขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการและเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตแก่ผู้บริโภค
การเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน จะให้สิทธิจองซื้อกับผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ปัจจุบันของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (ทุกชุด) และ/หรือ ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (ทุกชุด) และ/หรือ ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (ทุกชุด) ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน โดยทั้ง 2 ช่วงสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 1,000,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
ผู้ลงทุนที่สนใจ สามารถจองซื้อหุ้นกู้ SCGP ได้ที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทั้งช่องทางออนไลน์และที่สาขาของธนาคาร โดยดาวน์โหลดใบจองซื้อได้ที่ https://investor.scgpackaging.com/th/debenture ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
สุนทร ยงค์วิบูลศิริ : ทุกการเปลี่ยนแปลงคือโอกาสในการเรียนรู้
ความยั่งยืนคือ เป้าหมายและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ SCGP ให้ความสำคัญมาโดยตลอด พี่บี้ – สุนทร ยงค์วิบูลศิริ ESG and Sustainability Director, SCGP ได้เข้ามารับหน้าที่บริหารงานในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ตัวเขาต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับความท้าทายของการทำงานเพื่อบรรลุภารกิจสำคัญขององค์กร วิธีการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าประสบการณ์ต่างๆ จะสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อน ๆ SCGP ได้อย่างแน่นอน
ปรับตัว เรียนรู้ใหม่ มองให้เป็นเรื่องสนุก
“พี่จบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี เริ่มต้นงานในตำแหน่งวิศวกรฝ่ายผลิตที่บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) โรงงานบ้านโป่ง ในปี 2533 พอทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็ย้ายไปเป็นวิศวกรโครงการใหม่ที่โรงงานวังศาลา ต่อมาได้รับมอบหมายให้ดูแลส่วนผลิตในโรงเยื่อของบริษัทสยามเซลลูโลส จำกัด ในตำแหน่งผู้จัดการส่วนผลิต หลังจากนั้นย้ายไปทำด้านวิศวกรรม โครงการของบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ตามด้วยส่วนผลิตที่บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับเยื่อกระดาษที่จังหวัด ขอนแก่นจนถึงปี 2550 ก่อนจะย้ายกลับมาเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิต ดูแลโรงเยื่อ 2 แห่ง ทั้งที่โรงงานบ้านโป่งและวังศาลา กระทั่งปี 2563 ได้รับโอกาสมาดูแลเรื่อง ESG และ Sustainability ของ SCGP
“การเปลี่ยนจากสายงานผลิตในโรงงาน มาทำในฝั่ง corporate ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของพี่เลย เพราะต้องดูเรื่องการกำกับดูแล การวางนโยบายและกลยุทธ์ โดยรับแนวทางจากพี่ ๆ ฝ่ายจัดการและคณะกรรมการ ESG เพื่อมากำหนดกรอบการทำงานให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันขับเคลื่อนแล้วติดตามรวบรวม Performance ในภาพรวมเพื่อรายงานตามกรอบมาตรฐานและเปิดเผยต่อสาธารณะ ถือว่าเป็นการทำงานในภาพรวมขององค์กรมากขึ้น มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มากขึ้น ทั้งเรื่องกฎหมาย ภาครัฐ การจัดการ การมีส่วนร่วมและการบริหารผู้มีส่วนได้เสีย
“เรื่อง ESG และ Sustainability มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรภายนอกต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน แต่ประสบการณ์จากโรงงานและวิศวกรรมถือว่าเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงแนวคิดต่าง ๆพี่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงการทำงานถือเป็นการปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ให้เราออกนอก Comfort Zone อาจจะลำบากในช่วงแรกบ้าง แต่เมื่อปรับตัวได้ก็รู้สึกสนุกกับงานที่ได้ทำ”
ESG ดีต่อโลก ดีต่อคน
ESG ถือเป็นประเด็นสำคัญในระดับสากล ซึ่ง SCGP ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งในส่วนการใช้ทรัพยากรวัตถุดิบหลักอย่างไม้ยูคาลิปตัสที่มีการปลูกขึ้นมาทดแทนอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้วัสดุรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถึง 97% ในการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
“เนื่องจากในกระบวนการผลิตยังมีการใช้ทรัพยากรที่เราต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจึงหาทางลดการใช้ทรัพยากรลง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง หรือพลังงาน การใช้น้ำ และการลดของเสีย การนำนโยบายเรื่องความยั่งยืนหรือ ESG ไปสู่การปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน ต้องมีการวางเป้าหมายและตัววัดที่ชัดเจน เช่น หากจะลดก๊ซเรือนกระจก ต้องดูว่าตัววัดคืออะไร เราปล่อยก๊าซเท่าไร จะลดลงเท่าไรและเมื่อไร จากนั้นดูผลว่าเป็นอย่างไรเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
“การกำหนดสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การกำหนดแบบบนลงล่างอย่างเดียว เราต้องเชื่อมโยงกับผู้ปฏิบัติจริงว่ามีความเป็นไปได้ขนาดไหน ความท้าทายในเรื่องนี้คือการสื่อสารว่าสิ่งที่ทุก ๆ โรงงานทำนั้นส่งผลต่อองค์กร สังคม และโลกของเรา ซึ่งที่ผ่านมาพี่ ๆ ระดับจัดการ ช่วยกันสื่อสารในทุกเวทีที่มีโอกาส ทำให้ทุกคนเห็นทิศทางที่องค์กรให้ความสำคัญ เราได้รับการประเมินเรื่อง ESG Rating ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะ S&P Global Corporate Sustainability Assessment ระดับ Silver ตั้งแต่ปีแรกที่เข้าร่วม เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และชัดเจนว่านี่คือผลงานของพวกเราทุกคน
“นอกจากนี้ สิ่งที่พวกเราทำยังส่งผลถึงผลประกอบการ เพราะเรื่อง ESG ทำให้เกิดความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ตอบโจทย์เรื่องการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น เช่น ธุรกิจ Recycling เมื่อมีการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยต่อยอดทางธุรกิจของ SCGP ให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการให้ความสำคัญกับ ESG ก่อให้เกิดผลดีต่อคนธุรกิจ สังคม และโลกไปพร้อมกัน”
เปิดใจ เรียนรู้ สร้างโอกาส
“พี่เชื่อว่า การทำงานที่ดีไม่ใช่การทำงานเยอะ ๆ แต่เป็นการทำงานให้มีประสิทธิผล ผสมผสานการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว อีกเรื่องคือในช่วงที่เปลี่ยนมาดูแลงานระดับจัดการ พี่เรียนรู้ว่าการบริหารทีมไม่ใช่เรื่องง่าย จากที่เราเรียนมา ในสายวิศวะฯ มีโซลูชันในการทำงานชัดเจนหากเกิดปัญหาเรารู้วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง ก็จะใช้วิธีนั้นได้ตลอด แต่การบริหารทีมหรือบริหารคนไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแบบนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามสถานการณ์
“ในแง่ของการบริหาร พี่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อย่างแรกคือการบริหารตัวเอง เปิดใจ รับฟังคนอื่นอยู่เสมอ และมักจะมองหาแรงบันดาลใจให้ตัวเองเมื่อเจออุปสรรค พี่จะคิดว่า ถ้าเราพยายาม อดทนทำงานจนสำเร็จ จะได้ความภาคภูมิใจเป็นรางวัล ขณะเดียวกัน เมื่องานเสร็จ เราจะได้มีโอกาสไปทำเรื่องส่วนตัวที่สนใจ สามารถผสมผสานการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว
“ส่วนเรื่องบริหารทีม พี่จะเน้นการทำงานเป็นทีม ทำให้ทุกคนในทีมมองเป้าหมายใหญ่ขององค์กรร่วมกันมากกว่าภาพของตัวเอง ทุกคนต้องเข้าใจว่าเราเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์กร และไม่ควรขีดกรอบตัวเอง บางครั้งเราอาจต้องทำงานมากกว่าที่ได้รับมอบหมาย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
“สำหรับน้อง ๆ พี่อยากให้เน้นเรื่องการเรียนรู้เป็นสำคัญ ยิ่งเราทำงานมากยิ่งต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น รวมถึงหาเวลาว่างในการอ่านหนังสือ ข่าวสาร หรือบทความ เพื่อเพิ่มข้อมูลความรู้ หาโอกาสต่าง ๆ ต่อไปได้
“สุดท้าย อย่ากังวลเวลาเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดที่สำคัญไม่ว่าจะทำอะไร ให้มองเรื่องแนวคิดและหลักการที่ถูกต้อง ถ้าสองอย่างนี้ถูกต้อง ตรรกะต่าง ๆ จะตามมาเอง และเราจะรู้ว่าควรจะทำอะไรต่อไป” พี่บี้ฝากข้อคิดดี ๆ ทิ้งท้าย
SCGP X THINKK STUDIO “TRANSFORMATION” WASTE TO VALUE เพิ่มมูลค่างานดีไซน์จากวัสดุเหลือใช้
SCGP ดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการทำงานที่จะสามารถลดการใช้ทรัพยากร การเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และการนำรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ตามแนวทางที่เรียกกันว่า Upcycle โดยนำวัสดุเหลือใช้มาผ่านกระบวนการออกแบบและสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับการส่งเสริมโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
จากแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง SCGP กับ THINKK Studio พันธมิตรที่มีปรัชญาการทำงานที่สอดคล้องกันในเรื่อง ESG และ Circular Economy ร่วมกันจัดกิจกรรม TRANSFORMATION” Waste to Value Workshop เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการนำแนวคิด Upcycling มาใช้ เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งชักชวนวิสาหกิจชุมชนด้านหัตถกรรมจากชุมชนรอบโรงงานในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี และขอนแก่น รวมถึงกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาด้านการออกแบบและวัสดุศาสตร์ มาร่วมเวิร์กช็อปแบ่งปันไอเดียและทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากวัสดุเหลือใช้ของ SCGP
“‘TRANSFOR MATION” Waste to Value Workshop
กิจกรรมเวิร์กช็อป “TRANSFORMATION” Waste to Value เต็มไปด้วยความสนุกสนานและบรรยากาศของการจุดประกาย ไอเดีย โดยการนำวัสดุเหลือใช้จาก SCGP 4 ชนิด ทั้งเส้นเทป เปลี่ยนม้วนกระดาษหรือ Paper Band เส้นพลาสติกรีไซเคิลจากกระบวนการเป่าขวดพลาสติก หลอดพลาสติก และพลาสติกรีไซเคิลบด มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม มีมูลค่าเพิ่มด้วยการต่อยอดไอเดียสุดเจ๋งจากมืออาชีพอย่าง THINKK Studio
โดยทีมนักออกแบบจาก THINKK Studio มาร่วมสร้างการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการคิด ทดลอง และออกแบบ เพื่อแปลงร่างเศษวัสดุ ทั้ง 4 ชนิด เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุที่แตกต่างกัน เช่น Paper Band กับเส้นพลาสติกรีไซเคิล เหมาะกับการขึ้นรูปด้วยการสานและขัดตามแบบหัตถกรรมไทย ส่วนหลอดพลาสติกทรงกระบอกเหมาะกับการจับได้ถนัดมือ หรือพลาสติกบด เมื่อนำมาหลอมลงในแม่แบบ ก็จะเกิดเป็นแผ่นลักษณะคล้ายถาดที่มีพื้นผิวแข็งแรง
จากวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติแตกต่างหลากหลาย THINKK Studioได้ทดลองขึ้นรูปด้วยกระบวนการต่าง ๆ ออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน 6 ชิ้น ได้แก่ แจกัน โคมไฟ กระเป๋าถือ(Handbag) ถาด พัด และกระเป๋า Tote Bag โดยให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปลองลงมือทำไปด้วยกัน พร้อมทั้งเพิ่มความสนุก โดยให้วิสาหกิจชุมชนและนักศึกษานำถุงพลาสติกเหลือใช้มาผ่านความร้อนจนได้แผ่นพลาสติกบาง ๆ เพื่อใช้เป็นวัสดุตกแต่ง เพิ่มสีสันและเอกลักษณ์ให้งานออกแบบของแต่ละคนมีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น
THINKK Studio – Think Circular
คุุณเดชา อรรจนานันท์ Creative Director และ Co-Founder ของ THINKK Studio หัวหน้าทีมในการออกแบบ Workshop ในครั้งนี้ ได้ฝากข้อคิดและมุมมองเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้ว่า
“การชุบชีวิตให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่ม ต้องอาศัยทัศนคติและความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ เพื่อมองผลลัพธ์ปลายทางให้ออกว่า จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในรูปแบบไหน ผ่านกระบวนการคิด สัมผัส และทดลองหาความเป็นไปได้ของวัสดุนั้น ๆ โดยไม่มีกรอบจำกัด อย่างที่ THINKK Studio ทดลองกับวัสดุเหลือใช้ของ SCGP ในเวิร์กช็อปครั้งนี้ ซึ่งทีมมองว่าประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมเป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดสร้างสรรค์และทักษะ ระหว่างนักศึกษาที่มีไอเดียสดใหม่กับวิสาหกิจชุมชนที่ถนัดงานฝีมือเป็นอย่างดี จนทำให้ทุกฝ่ายได้แรงบันดาลใจกลับไปต่อยอดงานออกแบบของตัวเองได้อย่างเต็มเปี่ยม
“การเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้สามารถเริ่มได้จากตัวเราทุกคนเช่น การใช้ทักษะงานฝีมืออย่างง่าย ๆ ออกแบบของเหลือใช้หรือขยะในครัวเรือนให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น และสามารถต่อยอดไปถึงระดับชุมชนที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการทิ้งและจัดเก็บขยะ การส่งต่อเพื่อแปรรูป หรือในระดับอุตสาหกรรมสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือไปยังภาคเอกชน รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ได้อีกด้วย
“โดยสิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือ ทำอย่างไรให้งานออกแบบจากวัสดุเหลือใช้มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี ไม่แพ้งานออกแบบชิ้นใหม่ และกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ในท้ายที่สุดแนวคิดเรื่อง Upcycling ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและอนาคตของโลกให้มากที่สุดนั่นเอง”