SCGP ทำรายได้ครึ่งปีแรกโตต่อเนื่อง โดดเด่นไตรมาสสองที่ 37,982 ล้านบาท มองดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนทยอยฟื้นตัว เพิ่มเป้าหมายรายได้เป็น 150,000 ล้านบาท
SCGP ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจ ทำรายได้จากการขายครึ่งปีแรก 74,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ของไตรมาสที่สอง 37,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของทุกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรวมผลการดำเนินงานในธุรกิจที่เข้าไปลงทุน มองดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมลุยครึ่งปีหลัง เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว พัฒนาช่องทางขยายฐานลูกค้าที่เติบโตสูง ควบคู่กับการประสานประโยชน์ (Synergy) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขยับเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 ล้านบาท บอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.25 บาท เตรียมขึ้น XD วันที่ 8 สิงหาคมนี้
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 74,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรวมผลดำเนินงานของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมถึงปริมาณความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA เท่ากับ 10,365 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 3,514 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีรายได้จากการขาย 37,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,856 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA เท่ากับ 5,478 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 กำหนด XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 สิงหาคม 2565
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในครึ่งปีหลังของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากนโยบายเปิดประเทศที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความคึกคักให้กับการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคและความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงในหมวดสินค้าแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคาดว่าราคาพลังงานครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง SCGP มุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายรวมในปีนี้เท่ากับ 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะพิจารณาการดำเนินธุรกิจและการลงทุนด้วยความรอบคอบและเหมาะสม โดยยังคงงบลงทุนรวมในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การขยายกำลังการผลิต และสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 SCGP ได้ลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีก 75,000 ตันต่อปี และล่าสุดได้ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Packaging Materials Recycling Business) ใน Peute Recycling B.V. (Peute หรือ เพอเธ่) และการลงทุนใน Imprint Energy Inc. (Imprint) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตแบตเตอรี่ด้วยการพิมพ์ (Printed Battery) โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 105 ล้านบาท และมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 3.3 เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะได้ด้วย
SCGP ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG และการก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ด้วยการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน ESG ล่าสุด SCGP ได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง บริษัท คาโอ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Kao ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของสองบริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค
SCGP x THINKK Studio แบ่งปันไอเดีย แปลงร่างสร้างมูลค่างานดีไซน์จากวัสดุเหลือใช้
ผ่านไปแล้วกับสัมมนาออนไลน์ Design Talk “TRANSFORMATION” Waste to Value เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ SCGP จับมือกับ THINKK Studio ร่วมกันส่งต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ SCGP มุ่งเน้นผ่านการลดการใช้ทรัพยากร การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ
หนึ่งในแนวทางที่ SCGP ดำเนินการก็คือ Upcycle หรือการนำวัสดุเหลือใช้มาผ่านกระบวนการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยยืดอายุขัยของวัสดุให้ยาวนานขึ้นและได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทั้งแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเวิร์คช็อปที่ชวนวิสาหกิจชุมชนด้านหัตถกรรม และนักศึกษาด้านการออกแบบและวัสดุศาสตร์ มาร่วมแบ่งปันไอเดียและทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากวัสดุเหลือใช้ของ SCGP โดยมี THINKK Studio สตูดิโอออกแบบของคนไทยมาช่วยเรื่องกระบวนการคิดและพัฒนาให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
คุณเดชา อรรจนานันท์ Creative Director และ Co-Founder ของ THINKK Studio เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานที่หลากหลายของสตูดิโอตั้งแต่งานออกแบบภายใน งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการทดลองเล่นกับวัสดุที่หลากหลายจนเป็นที่มาให้เริ่มสนใจการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้จากสิ่งแวดล้อม เช่นโปรเจกต์ ‘City Materials’ ที่ทางทีมคัดเลือก 6 วัสดุเหลือใช้ในกรุงเทพฯ อย่างถุงพลาสติก กากกาแฟ เศษวัสดุก่อสร้าง ก้านธูป กระดาษสลากกินแบ่งรัฐบาล และเศษไม้จากการตัดกิ่ง ต่อยอดออกมาเป็นงานออกแบบดีไซน์ใหม่ที่แตกต่าง หรืองาน ‘DEWA & DEWI 2021’ ที่ออกไอเดียนำวัสดุเหลือใช้จากผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างชุดโต๊ะนักเรียนที่คำนึงถึงการยืดอายุการใช้งาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งนิทรรศการนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก SCGP ด้วยเช่นกัน
สำหรับกิจกรรมเวิร์คช็อป “TRANSFORMATION” Waste to Value ที่เพิ่งจัดไปนั้น จารวี ทองบุญเรือง Project Coordinator, ภัทรกร มณีศิลาวงศ์ และสาธิตา แสงสวัสดิ์ Junior Furniture and Product Designer ของ THINKK Studio ก็ได้ร่วมแบ่งปันกระบวนการคิด ทดลอง และออกแบบการแปลงร่างเศษวัสดุทั้ง 4 ชนิดที่ SCGP นำมาเป็นโจทย์ ได้แก่ เส้นเทปเปลี่ยนม้วนกระดาษหรือ Paper Band, เส้นพลาสติกรีไซเคิลจากกระบวนการเป่าขวด, หลอดพลาสติก และพลาสติกบด
ทีมนักออกแบบเริ่มต้นจากทำความเข้าใจคุณสมบัติที่แตกต่างกันของวัสดุ เช่น Paper Band กับเส้นพลาสติกรีไซเคิลที่มีลักษณะเป็นเส้น เหมาะกับขึ้นรูปด้วยการสานและขัดตามหัตถกรรมไทย ส่วนหลอดพลาสติกทรงกระบอกก็เหมาะกับการจับได้ถนัดมือ หรือพลาสติกบด เมื่อนำมาหลอมลงในแม่แบบก็จะเกิดเป็นแผ่นลักษณะคล้ายถาดที่มีพื้นผิวแข็งแรง
จากวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติแตกต่างหลากหลาย THINKK Studio ได้ทดลองขึ้นรูปร่วมกันด้วยกระบวนการต่างๆ ออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ได้ในชีวิตประจำวัน 6 ชิ้น ได้แก่ แจกัน โคมไฟ กระเป๋าถือ (Hand Bag) ถาด พัด และกระเป๋า Tote Bag ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองทำกันในเวิร์คช็อปครั้งนี้ แถมยังสร้างการมีส่วนร่วมจากวิสาหกิจชุมชนและนักศึกษา ให้นำถุงพลาสติกเหลือใช้มาผ่านกระบวนการทำความร้อนจนได้ออกมาเป็นแผ่นบางๆ นำไปใช้เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ช่วยตกแต่ง เพิ่มสีสันและเอกลักษณ์ของงานออกแบบแต่ละคนให้มีเอกลักษณ์ หลากหลาย และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
คุณเดชายังเสริมว่า การเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้นั้นสามารถเริ่มได้จากระดับง่ายสุดที่ตัวเราทุกคน เช่น การใช้ทักษะงานฝีมืออย่างง่ายๆ ออกแบบของเหลือใช้หรือขยะในครัวเรือนให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ต่อยอดไปถึงระดับชุมชนที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการทิ้งและจัดเก็บขยะ การส่งต่อมาเพื่อแปรรูป หรือหากใครที่สนใจพัฒนาให้ได้ผลลัพธ์ในระดับอุตสาหกรรม เครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานวิจัยก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้งานออกแบบจากวัสดุเหลือใช้นั้นมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีไม่แพ้งานออกแบบชิ้นใหม่ และกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
การชุบชีวิตให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่ม อาจต้องอาศัยทัศนคติและความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบที่จะมองผลลัพธ์ปลายทางให้ออกว่าจะต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ถูกพัฒนาในรูปแบบไหน ผ่านกระบวนการคิด จับ สัมผัส และทดลองหาความเป็นไปได้ของวัสดุนั้นๆ โดยไม่มีกรอบจำกัด อย่างที่ THINKK Studio ก็ได้ทดลองกับวัสดุเหลือใช้ของ SCGP ในเวิร์คช็อปครั้งนี้ ซึ่งทางทีมมองว่าประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วม ให้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดสร้างสรรค์และทักษะระหว่างนักศึกษาที่มีไอเดียสดใหม่ กับชาวบ้านจากวิสาหกิจชุมชนที่ถนัดงานฝีมือที่ประณีตเป็นทุนเดิม งานนี้ถือว่าทุกฝ่ายได้แรงบันดาลใจกลับไปพลิกแพลงต่อยอดในงานออกแบบของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม
เพราะท้ายที่สุด แนวคิดเรื่อง Upcycling ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่คือตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์และอนาคตของโลกโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและโลกของพวกเราให้มากที่สุดนั่นเอง
SCGP ลงทุนครั้งสำคัญใน “Peute” (เพอเธ่) ธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ในยุโรป เพิ่มวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลกว่าล้านตัน เสริมแกร่งเป้าหมายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน
SCGP เดินกลยุทธ์ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเข้าลงทุนซื้อหุ้นร้อยละ 100 ใน “Peute” (เพอเธ่) ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์และผู้จำหน่ายวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลและพลาสติกรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพิ่มความสามารถจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล 1 ล้านตันต่อปี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ การผลิตสินค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนธุรกิจโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่สูงขึ้นของลูกค้าและผู้บริโภค หนุนการนำเทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการรีไซเคิลในอาเซียน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์ระยะยาวของ SCGP ให้มีความแข็งแกร่งของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ตลอดทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ล่าสุด ได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 100 ใน Peute Recycling B.V. (Peute) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ ทั้งกระดาษและพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยการเข้าซื้อหุ้นข้างต้นดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยแล้ว SCGP ได้ชำระเงินสำหรับการเข้าถือหุ้นร้อยละ 100 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 78.19 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,875 ล้านบาท ธุรกรรมข้างต้นเป็นการดำเนินการผ่าน SCGP Solutions (Singapore) Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCGP ถือหุ้นทั้งหมด โดย SCGP จะเริ่มแสดงผลประกอบการของ Peute ในงบการเงินรวมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการขยายการลงทุนในภูมิภาคยุโรปในรูปแบบ Merger & Partnership (M&P)
Peute เป็นบริษัทรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์และซื้อขายกระดาษและพลาสติกเพื่อรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ดำเนินธุรกิจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี มีรายได้ 249 ล้านยูโร (ประมาณ 9,160 ล้านบาท) และกำไร 3.2 ล้านยูโร (ประมาณ 120 ล้านบาท) รวมถึงมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปีที่ผ่านมา 52 ล้านยูโร (ประมาณ 1,930 ล้านบาท) สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการดำเนินงานที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายด้านเศรษฐกิจในทวีปยุโรป Peute มีความสามารถจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล 1 ล้านตันต่อปี และจัดหาพลาสติกรีไซเคิล 1 แสนตันต่อปี ปัจจุบันโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองดอร์เดรชท์ และมีแผนจะย้ายโรงงานไปยังเมืองอัลบลาสเซอร์ดัม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือรอตเตอร์ดัม เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มความสามารถจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลได้อีกเท่าตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ www.peute.nl)
บริษัทฯ มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพให้ SCGP สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ และจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาว สร้างความแข็งแกร่งด้านการจัดหาวัตถุดิบเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทุกกลุ่ม ทั้งด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำ ปลายน้ำ และการบูรณาการภายใน เพื่อนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง จากความสามารถในการจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ จะทำให้ SCGP สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และโมเดลการบริการจัดการวัสดุเหลือใช้จาก Peute มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนด้วย
อีกทั้ง SCGP มีการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ โดยปัจจุบัน SCGP มีความต้องการใช้วัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลประมาณ 4.4 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกตามแผนงานขยายกำลังการผลิตในอนาคต ดังนั้น การลงทุนครั้งนี้จะเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับ SCGP จากการมีเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลเพิ่มขึ้นและครอบคลุม โดยช่องทางในปัจจุบันประกอบด้วย ศูนย์จัดการวัสดุรีไซเคิลของ SCGP การจัดเก็บโดยตรงจากแหล่งวัตถุดิบหลักและคู่ค้าท้องถิ่น รวมถึงแหล่งวัตถุดิบนำเข้าที่หลากหลาย ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และโอเชียเนีย
SCGP มุ่งมั่นตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยนำเสนอสินค้าบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ตลอดจนให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีฐานการผลิตรวม 56 แห่ง ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย สหราชอาณาจักร และประเทศสเปน
SCGP x THINKK ชวนร่วม Design Talks “Transformation Waste to Value” แปลงร่างวัสดุเหลือใช้เพื่อสร้างมูลค่า
xxxx
“SCGP” เตรียมขายหุ้นกู้ดิจิทัลผ่าน “กรุงไทย” ดอกเบี้ย 2.80% บนแอปฯ “เป๋าตัง” สะดวกและทั่วถึง ดีเดย์ 26 ก.ค. นี้
บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ “SCGP” เตรียมพร้อมเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล อายุ 2 ปี 10 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.80% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ A+(tha) จาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) สะท้อนฐานะการเงินและสถานะธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผ่านวอลเล็ตซื้อขายหุ้นกู้บนแอปฯ “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าถึงหุ้นกู้ดิจิทัลได้อย่างสะดวกและทั่วถึง เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท คาดว่าจะเปิดจองซื้อวันที่ 26 – 27 กรกฎาคมนี้
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP พร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี 10 เดือน อัตราผลตอบแทน 2.80% ต่อปี มูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยหุ้นกู้ดิจิทัลของ SCGP ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A+(tha) จาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 สะท้อนความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ SCGP
SCGP เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาค และได้ลงทุนขยายการเติบโตในภูมิภาคอาเซียนและยุโรปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้เติบโต รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่า การเสนอขายหุ้นกู้ SCGP ในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่ต้องการการลงทุนที่มั่นคง ให้ผลตอบแทนดีในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และพร้อมเติบโตเคียงคู่ผู้บริโภค
SCGP เสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้ร่วมลงทุนกับบริษัทผ่านช่องทางดิจิทัลออนไลน์ด้วยแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะเปิดจองซื้อในวันที่ 26 – 27 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท เพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้ดิจิทัลของ SCGP ได้อย่างสะดวกและทั่วถึง โดยหุ้นกู้จะถูกจัดสรรให้กับผู้ที่จองซื้อและชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปฯ ได้สำเร็จตามลำดับการจอง
นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตอกย้ำพันธกิจการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ให้ตอบโจทย์ลูกค้าและประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนช่องทางดิจิทัลที่เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก และปลอดภัย เพื่อสนับสนุนคนไทยวางแผนการออมและการลงทุนเพื่ออนาคตที่มั่นคง การขายหุ้นกู้ดิจิทัล “SCGP” ผ่านวอลเล็ตซื้อขายหุ้นกู้ บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันของธนาคาร ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้ดิจิทัลของ SCGP รวมถึงสามารถซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ได้รับหุ้นกู้และได้รับเงินทันที พร้อมทั้งแสดงข้อมูลการถือครองหุ้นกู้ ราคาซื้อขาย ครบจบในที่เดียว ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ SCGP มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และมีสถานะทางการเงินที่ดี มีการดำเนินงานที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG เป็นการเน้นย้ำถึงพันธกิจหลักของธนาคารที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำตลาดในการทำ ESG Financial Solution ที่พร้อมตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านการนำนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาตลาดทุนไทย นำเสนอผลิตภัณฑ์บริการที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล SCGP ยังได้ตอบโจทย์เรื่องความสะดวก ลดการเดินทางไปสาขา ทำรายการผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบออนไลน์ได้ทันที ช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการลงทุนได้ทั่วถึง โดยธนาคารเชื่อมั่นว่า จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป เป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ของธุรกิจที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง โดยให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
สำหรับผู้ที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ดิจิทัล SCGP สามารถลงทะเบียนวอลเล็ตซื้อขายหุ้นกู้บนแอปฯ “เป๋าตัง” ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยทำแบบประเมินความเสี่ยงผู้ลงทุน และเติมเงินหรือเลือกผูกบัญชีกับธนาคารกรุงไทยให้พร้อมก่อนการวันเปิดจองซื้อหุ้นกู้เพื่อให้ไม่พลาดโอกาสการลงทุน ทั้งนี้ธนาคารคาดว่าจะเปิดจองซื้อพร้อมกันในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนกว่าจะมีผู้จองซื้อหุ้นกู้เต็มตามจำนวนที่เสนอขาย หรือไม่เกินวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 15.00 น. จำนวนจองซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อราย โดยหุ้นกู้จะถูกจัดสรรให้กับผู้ที่จองซื้อและชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปฯ ได้สำเร็จตามลำดับการจอง หรือ “จองก่อน ได้ก่อน” ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถศึกษาขั้นตอนการลงทะเบียนแอปฯเป๋าตังและวอลเล็ตซื้อขายหุ้นกู้ได้ผ่าน www.krungthai.com/th/krungthai-update/promotion-detail/916 หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นกู้ได้จากร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อการเสนอขายหุ้นกู้ Link :https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSDE01.aspx?TransID=426002&SD= สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Krungthai Contact Center โทร. 02-111-1111 หรือธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
“Fest by SCGP” ร่วมจัดงาน SOOKSIAM สุขรักษ์โลก แนะนำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ ไบโอ
บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ใน SCGP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย Fest by SCGP ร่วมกับเมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม และธนาคารกสิกรไทย จัดงาน SOOKSIAM สุขรักษ์โลก ภายใต้แนวคิดดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย “เฟสท์ ไบโอ” (Fest Bio) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตจากเยื่อยูคาลิปตัสที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ 100% ร่วมดูแลรักษาธรรมชาติและยังส่งเสริมเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความสะอาด ปลอดภัย เข้าไมโครเวฟและเตาอบได้ สามารถบรรจุอาหารที่มีน้ำมันและน้ำได้นานหลายชั่วโมงโดยไม่รั่วซึม และยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายใน 60 วัน เพื่อแนะนำภายในงานและส่งเสริมร้านค้าที่เข้าร่วมงานตลอดจนประชาชนได้ใช้บรรจุภัณฑ์เฟสท์ ไบโอ (Fest Bio) เพื่อร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลโลก งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-14 กรกฎาคม 2565 ณ ลานเมือง เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ชั้น G
คาโอ-SCGP ประกาศความร่วมมือด้านนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยความยั่งยืน
บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตสินค้าเพื่ออุปโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำ และบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุดล้ำ พร้อมแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค เพื่อลดการก่อให้เกิดมลพิษต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์โลกที่สมบูรณ์และยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “คาโอและ SCGP มีความมุ่งมั่นเดียวกัน คือการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของสองบริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค คาโอมีกลยุทธ์ ESG ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า “Kirei Lifestyle” (คิเรอิ ไลฟ์สไตล์) ในการสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อชีวิตที่สวยงามสำหรับผู้คนในทุก ๆ วัน โดยผลิตภัณฑ์คาโอทั้งหมดจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวงจรชีวิต เพื่อโลกที่สะอาดและสมบูรณ์”
โดยคาโอมีเป้าหมายสู่ความยั่งยืนในปี 2583 ลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ด้วยการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเป็นศูนย์ และบรรลุเป้าหมายให้ขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยพลาสติกเป็นศูนย์ กล่าวคือ ปริมาณพลาสติกที่ใช้ต้องเท่ากับปริมาณพลาสติกที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ ถูกนำมารีไซเคิล
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับคาโอที่มีเป้าหมายตรงกันในการสร้างความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภค ความร่วมมือกันในฐานะพันธมิตรครั้งนี้จะนำมาสู่การสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม การนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิลในกระบวนการผลิตได้มากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับความคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคม ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้แก่ทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของ SCGP ที่ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของสินค้าและบริการ เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการใช้บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนมีการควบคุมและติดตามผลของการดำเนินงานอย่างจริงจังตามแนวทางสากลเพื่อให้บรรลุที่ตั้งไว้ โดย SCGP ยังเน้นหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปริมาณของเสียจากอุตสาหกรรม เพิ่มสัดส่วนการนำกระดาษที่ใช้งานแล้วจากผู้บริโภคนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตและเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
ชวนมาฟัง Design talks ในหัวข้อ TRANSFORMATION Waste to Value แปลงร่าง สร้างมูลค่า วันเสาร์ที่ 23 ก.ค. นี้
SCGP ขอเชิญร่วมสัมมนาออนไลน์ “Design Talks 2022” ภายใต้หัวข้อ “Transformation Waste to Value” แปลงร่าง สร้างมูลค่า เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม กับ THINKK Studio สตูดิโอออกแบบไทย ที่สร้างชื่อในระดับโลก
เรียนรู้การสร้างสรรค์งานออกแบบ จากการ Upcycle เส้นเทปกระดาษเหลือใช้ เส้นพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่เหลือจากการผลิต เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน
ปักหมุด มาฟังและร่วมแชร์ไอเดีย
พบกันวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.00-14.15 น.
ผ่านทาง Live Webinar (เฉพาะออนไลน์เท่านั้น)
ลงทะเบียนได้ที่ https://scgp-design-talks.com
เสียง: ภาษาไทย / แปล Real time: ภาษาอังกฤษ และภาษาเวียดนาม
#SCGP #DesignTalks2022 #WasteToValue #CircularEconomy