SCGP Newsroom

SCGP รับรางวัลแคมเปญการตลาดแห่งปีจากเวที “Marketing Award of Thailand 2021”

SCGP รับรางวัลแคมเปญการตลาดแห่งปีจากเวที “Marketing Award of Thailand 2021” จัดโดย “สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย” ประเภท “แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านความยั่งยืน” (Sustainable Marketing) ระดับ Silver จากผลงาน Paper X แคมเปญ “เก่า แลก ใหม่” เอาใจผู้บริโภคสายรักษ์โลก ผนึกกำลังพันธมิตรสร้างโซลูชันจัดการกระดาษเหลือใช้ สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมรีไซเคิลได้สะดวกขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 73 ผลงาน จาก 44 องค์กรชั้นนำทั่วประเทศ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบความต้องการของผู้บริโภคควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG

“80 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลสู่สังคม” กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ SCGP นำร่องภาครัฐ ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model

กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย 7 หน่วยงานในสังกัดร่วมกับ SCGP เปิดโครงการ “80 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม 8,000 กิโลกรัม รีไซเคิลสู่สังคม” ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนำกระดาษเหลือใช้ในหน่วยงานกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มอบให้เป็นสาธารณประโยชน์กลับคืนสู่สังคม เช่น กระดาษถ่ายเอกสาร เตียงสนามกระดาษ ชุดโต๊ะเรียน ชุดโต๊ะอาหาร ฯลฯ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดย คุณกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คุณทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) นำร่องภาครัฐในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมสู่หน่วยงานราชการและผู้ประกอบการ ซึ่งจะเริ่มโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงสิงหาคม 2565  ติดตั้งจุดรับกระดาษเหลือใช้ในระดับกองของทุกหน่วยงาน และ SCGP จะดำเนินการจัดการวัสดุเหลือโดยโซลูชัน SCGP Recycle เพื่อคำนวณปริมาณกระดาษ จัดเก็บ และนำกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป

SCGP มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้บริโภคและโลกที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ตามกรอบแนวคิด ESG (Environmental, Social และ Governance) สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการดูแลสิ่งแวดล้อม สู่สังคมที่น่าอยู่ และโลกที่ยั่งยืนร่วมกัน

SCGP สนับสนุน DEWA & DEWI 2021 “เศษเหลือใช้ศักยภาพใหม่ ไม่รู้จบ” ในงาน Bangkok Design Week 2022

DEWA & DEWI ย่อมาจาก DEsign from Waste of Agriculture and Industry หรือชื่อภาษาไทยว่า “กิจกรรมพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล”  เกิดขึ้นด้วยแนวคิด “A Perspective into limitless future : เศษเหลือใช้ศักยภาพใหม่ ไม่รู้จบ” โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อนำการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือใช้ที่ไร้ค่า และอาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเศษขยะจากภาคอุตสาหกรรมด้วย จนเกิดเป็นผลงานออกแบบที่มีความโดดเด่น ใช้งานได้จริง

 

เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ที่มีแนวความคิดในทางเดียวกัน SCGP จึงสนับสนุนแท่นวางโชว์ผลิตภัณฑ์ของโครงการ DEWA & DEWI 2021ในงาน Bangkok Design Week 2022 ที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล (Recycled Paper) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำมารีไซเคิลได้แบบครบวงจร (Close-loop Management) เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

 

สามารถชมผลงานจาก 15 แบรนด์ในโครงการฯ ที่มีความน่าสนใจทั้งในเชิงวัสดุ แนวคิด เรื่องราว และการออกแบบ ที่โครงการ DEWA&DEWI 2021 โดย DitpDesignDitp งาน Bangkok Design Week 2022 วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 – 21.00 น. ที่ TCDC ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4

#dewaanddewi2021 #SCGP #CircularEconomy #CircularDesign #designfromwaste #BKKDW22 #thailand

ไปรษณีย์ไทย จับมือ SCGP เปิดแคมเปญ “ไปรษณีย์ reBOX” #3 เปิดรับกล่องและซองที่ไม่ใช้แล้ว รีไซเคิลเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้ เพื่อน้องโรงเรียน ตชด.

ไปรษณีย์ไทย ร่วมกับ SCGP เชิญชวนคนไทยร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกครั้งกับโครงการ ไปรษณีย์ reBOX #3 ภายใต้แนวคิด“reBOX to School” หลังได้รับกระแสตอบรับดีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – 2564 โดยในปีนี้ ไปรษณีย์ไทยและ SCGP เตรียมรีไซเคิลกล่องและซองกระดาษเหลือใช้เป็นชุดโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อส่งมอบให้นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศในช่วงปลายปี โดยผู้ที่สนใจสามารถรวบรวมกล่องและซองกระดาษเหลือใช้มาให้ได้ที่ไปรษณีย์ใกล้บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งจุดรับรวบรวมอื่นๆ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ตุลาคม 2565

โครงการไปรษณีย์ reBOX เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 สามารถรวมกล่องและซองกระดาษเหลือใช้ที่ได้กว่า 72,000 กิโลกรัม สามารถรีไซเคิลเป็นชุดโต๊ะ เก้าอี้ มอบให้นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ  ได้ถึง 224 ชุด และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงกลางปี 2564 ต่อยอดเป็น “ไปรษณีย์ reBOX” เปลี่ยนกล่องและซองที่ไม่ใช้แล้วเป็นเตียงสนาม รวมทั้ง “กล่อง BOX บุญ” บรรจุหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มอบให้แก่โรงพยาบาลเพื่อใช้ในการรับมือกับภาวะการระบาดของเชื้อโควิด 19 ซึ่งสามารถรวบรวมกล่องและซองกระดาษจากคนไทยได้ถึง 228,000 กิโลกรัม รวม 2 ปี มีปริมาณกล่องและซองกระดาษกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลกว่า 300,000 กิโลกรัม เป็นไปตามหลักการ Circular Economy ที่มุ่งเน้นให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ “โครงการไปรษณีย์ reBOX” ยังได้รับการตอบรับจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมกล่องและซองที่เหลือใช้จำนวนมากในหน่วยงาน รวมถึงการร่วมเป็นจุดให้บริการรับรวบรวมจากประชาชน เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัทซีพีแรม จำกัด บริษัทเซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค สเปลล์ และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เป็นต้น 

ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง – อาณาจักรขนมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และดูแลโลกไปด้วยกัน

 

จากแนวคิด “อร่อย มีประโยชน์ ในราคาที่จับต้องได้” เป็นที่มาทำให้บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมตราเจเล่และเบนโตะ รวมถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพอีกมากมายหลายชนิดที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาตลอด 30 ปี
ในครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณฐากร ชัยสถาพร – รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารธุรกิจ 2 มาร่วมพูดคุยถึงกลยุทธ์และเส้นทางการต่อยอดธุรกิจของครอบครัวให้กลายเป็นอาณาจักรขนมอร่อยที่อยู่ในใจคนไทยทุกเพศทุกวัย

 

ต่อยอดธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ชั้นนำในใจคนไทย

จากร้านยี่ปั๊วขายขนมในตลาดมหานาค ที่มีฐานลูกค้าแรกเริ่มเฉพาะคนกรุงเทพฯ สู่ร้านค้าส่งขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศในอีก 10 ปีให้หลัง พร้อมขยายฐานลูกค้าไปทุกจังหวัด และพัฒนาธุรกิจจนกระทั่งเป็นผู้ผลิตขนมรายใหญ่  เช่น เมล็ดแตง เวเฟอร์ ขนมปังบิสกิต ขยายการเติบโตส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งช่วงเวลานั้นเองที่คุณฐากรได้เริ่มเข้ามาช่วยดูแลกิจการ

“ผมกลับจากเรียนต่อที่ต่างประเทศเมื่อปลายปี 2533 มาช่วยดูแลบริษัท ตอนนั้นคิดจะขายสินค้าเองในเมืองไทย และมองว่าตลาดห้างกำลังมา จึงเปิดบริษัทศรีนานาพรและตั้งแบรนด์สินค้าชื่อ Good Good เป็นแบรนด์ผลไม้อบแห้ง จากนั้นก็ซื้อเครื่องจักรผลิตเยลลี่เพิ่ม เริ่มทำตลาดห้างด้วยแบรนด์เจเล่ในปี 2535 มีกิจกรรมทางการตลาดเสริมด้วย ทำให้เจเล่ได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคดีพอสมควร มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2

“ประกอบกับช่วงนั้นผงบุก หรือคอนยัคกุกำลังมาแรง จึงนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ เจเล่ ไลท์ โดยใช้คอนเซปต์ ‘อร่อย สดชื่น อยู่ท้อง’ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ในตอนนั้นตลาด functional กำลังมาแรง เราจึงพัฒนาสินค้าต่อเนื่องโดยเติมสารอาหาร เช่น คอลลาเจนและวิตามินต่าง ๆ ลงไป จนเป็นที่มาของเจเล่บิวตี้ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นเบอร์ 1 ของตลาดเยลลี่พร้อมดื่มนี้

“ส่วนเบนโตะ เราเริ่มปี 2539 เพราะเห็นช่องว่างในตลาดฟิซสแนคซึ่งอร่อยและมีประโยชน์ เลยลองพัฒนารสชาติและแพคเกจจิ้งมาเรื่อย ๆ พร้อมกันนั้นก็ผลิตสินค้าออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นขนมขาไก่แบรนด์โลตัส ขนมปังสับปะรด ขนมปังครีม และขนมปังอบกรอบ  รวมไปถึงสินค้าประเภทเครื่องดื่มอย่างน้ำมะพร้าว น้ำเฉาก๊วย น้ำสมุนไพร ภายใต้แบรนด์เมจิกฟาร์ม และล่าสุด ปี 2563 ได้วางจำหน่ายเครื่องดื่มผสมวิตามินภายใต้แบรนด์ AQUAVITZ

“ทุกช่วงเวลาเป็นแรงบันตาลใจให้สร้างสรรค์ คิดค้น พัฒนา และต่อยอด และด้วยนโยบายที่ชัดเจน เราจึงพัฒนาตลาดอย่างต่อเนื่องโดยสำรวจสถานการณ์ตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอแล้วนำข้อมูลมาพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าพอใจ ถึงวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1. กลุ่มเยลลี่ 2. กลุ่มซีฟู้ดสแนค 3. กลุ่มบิสกิตและเวเฟอร์ และ 4. กลุ่มเครื่องดื่ม”
 

ปั้นธุรกิจ สร้างการเติบโต โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

เป้าหมายของศรีนานาพรคือ การเป็นผู้นำด้านการผลิตขนมและเครื่องดื่มในภูมิภาค โดยใช้แนวคิดcustomer centric ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก ควบคู่ไปกับกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

“เราผลิตสินค้าโดยมองที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลักเสมอ คอนเซปต์คือ การผลิตสินค้าที่อร่อยและมีประโยชน์ในราคาที่ผู้บริโภคจับต้องได้ ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเราจะเป็นผู้ผลิตแล้ว เรายังเป็นคนในสังคม เป็นหนึ่งในประชากรโลก เราจะใช้ทรัพยากรโดยที่ไม่รบกวนโลกมากจนเกินไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นมิตรกับโลกให้มากที่สุด

“อย่างเช่นเรื่องแพคเกจจิ้ง เราปรึกษาและพัฒนาร่วมกับ SCGP จนได้ Green Carton แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น สามารถลดการใช้กระดาษลงได้ 30 – 40% โดยที่ยังคงความแข็งแรง ปกป้องสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้เหมือนเดิม หรือซองเจเล่ เราก็พยายามพัฒนาให้สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเราลดการใช้พลังงานนโรงงาน และหันมาใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ในส่วนที่สามารถใช้ได้ ลดการปล่อยของเสีย นำวัสดุกลับมาใช้ไหม่ให้มากที่สุด แต่ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานไว้เหมือนเดิม”

พันธมิตรทางธุรกิจ ต้องตอบโจทย์และจริงใจ

จากการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการมองหาพาร์ตเนอร์ที่ตอบโจทย์ได้ ในขณะเดียวกัน การผนึกกำลังกันด้วยความจริงใจก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ความร่วมมือนั้นยั่งยืน

“เราใช้ Green Carton จาก SCGP เป็นหลัก เพราะเราต้องการแพคเกจจิ้งที่ดีและไม่แพงเกินไป เนื่องจากเราขายในราคาที่ไม่สูงมาก SCGP ก็ช่วยตอบโจทย์ได้ครบ ทั้งราคาคุณภาพที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในอนาคตเราวางแผนจะเข้าสู่ตลาดค้าปลีกเพิ่มเพราะเห็นโอกาสในกลุ่ม vending machine แต่การเข้าสู่ตลาดนี้เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการกระจายสินค้าผ่านเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติด้วย ซึ่ง Flexible Packaging ของ SCGP น่าจะเหมาะสมกับช่องทางจัดจำหน่ายที่เราตั้งเป้าไว้ในอนาคตด้วยเช่นกัน

“SCGP กับเราเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนานด้วย 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ SCGP มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากมาย สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของเรา และปัจจัยที่สองคือ ความจริงใจของ SCGP ในการให้ความร่วมมือและพัฒนาร่วมกับลูกค้า เราได้รับความร่วมมือที่ดีมาก ในอนาคตเราต้องมีการพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็อยากให้ SCGP มาช่วยสนับสนุนต่อไป” คุณฐากรกล่าวทิ้งท้าย

เริ่มต้นทุกวันด้วย Passion

 

เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองอะไรใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องน่าสนุก วันนี้เราได้นั่งคุยกับสอง AE ผู้ดูแลสินค้ากลุ่ม consumer product ที่จะต้องเข้าถึงผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมทั้งร่วมแชร์วิธีการที่ทั้งคู่ใช้รับมือกับโจทย์ใหม่ที่มีความท้าทายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

“FEEDBACK IS POWER. LISTENING TO EVERY VOICE.”

 

“จากเดิมปลาดูแลสินค้าแบบ B to B (Business to Business) เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ขายให้กับผู้ผลิต  ดีลผ่านผู้ประกอบการหรือฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งขายหรือสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง ถ้าสินค้าไม่ตอบโจทย์

ก็ปรับหรือหาแนวทางพัฒนาร่วมกับลูกค้าได้ทันที แต่การขายสินค้าแบบ B to C (Business to Consumer) การปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคค่อนข้างยาก การทำการตลาดหรือการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ จึงมีความสำคัญและท้าทาย ต้องปรับตัวและปรับกรอบความคิดในการทำงานใหม่เพื่อสู้กับความท้าทายนี้

“อย่างแรกคือ ต้องเปิดใจ เพื่อก้าวข้าม comfort zone การประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เราต้องมองเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความต้องการของผู้บริโภค และต้องเปิดใจยอมรับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสินค้าให้ออกมาดีที่สุด เมื่อสินค้าออกสู่ตลาด แน่นอนว่า เราจะได้รับ feedback ทุกรูปแบบ เสียงชื่นชมก็เก็บไว้เป็นแรงบันดาลใจ หรือกำลังใจในการทำงาน ส่วนคำแนะนำก็นำมาปรับปรุง พัฒนาสินค้า ของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

“เป้าหมายของปลาคือ อยากพัฒนาสินค้าแบบ outside in ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายใน และนำสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงออกสู่ตลาดให้ได้ ปลามองว่าสินค้าเป็นลูกคนหนึ่ง หากเราต้องการให้เขาเติบโตในอนาคต เราต้องวางรากฐาน เลี้ยงดูและคอยเฝ้าดูว่ามีอะไรที่ควรซัปพอร์ต เพื่อเติมเต็มให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ

“ในแต่ละวัน ปลามีสองอย่างที่คิดและทำอยู่เสมอ อย่างแรกคือ การประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีค่อนข้างเยอะ ปลาจะใช้วิธีการที่เรียกว่า catch ball คือ การส่งต่องานไปให้หน่วยงานอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว

และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด อย่างที่สองคือ การรับมือกับงานที่หลากหลาย ซึ่งจะเจอทั้งวันที่สมหวังและผิดหวัง ปลาจะหา small win สักเรื่องหนึ่งในแต่ละวัน เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานวันต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่จะมากได้”

ปริญญาภรณ์ แสงสุข (ปลา)

Account Executive – Consumer Product, SCGP

 

 

“COLLABORATE WITH SENSE OF OWNERSHIP & SPEED.”
 

“เหมือนกับปลาครับ เดิมดูแลงานขายสินค้าแบบ B to B ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้า สร้างความเชื่อมั่นในการเป็นพาร์ตเนอร์พอเปลี่ยนมาดูแลสินค้าที่เป็น B to  C มีความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก เพราะการใกล้ชิดกับผู้บริโภคต้องทำมากกว่าการเดินเข้าประตูไปหา

“เราต้องหาวิธีสื่อสารผ่านกิจกรรมการส่งเสริมทางการตลาดต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องใหม่ ต้องเรียนรู้หาข้อมูลเพิ่มเติม  เพื่อทำให้สินค้าใหม่ของเราเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งมีความท้าทายค่อนข้างมาก มีสองเรื่องสำคัญที่คิดอยู่เสมอคือ sense of ownership และ flexibility ในการทำงานเพราะสินค้า B to C นั้นต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคก่อน ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา 7 วัน 24 ชั่วโมง ต่างจากเดิมที่เวลาการทำงานค่อนข้างชัดเจน หากต้องการเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภค เราจะต้องวิเคราะห์ว่าเวลาไหนเขาจะซื้อของ อย่างออนไลน์เวลาที่ดีที่สุดคือ เวลากลางคืน นั่นแปลว่าเราต้องพร้อมที่จะเซอร์วิสหรือปิดการขายในช่วงเวลานั้น ถ้าคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง หรือมีความเป็นเจ้าของ เราจะรู้สึกว่าไม่ว่าเวลาไหนเราก็พร้อมให้บริการ

“อีกเรื่องคือ speed เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตลาดมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างไว การที่เราปรับตัวได้เร็วเท่าทันพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงมีความสำคัญมาก ต้องกล้าตัดสินใจบนข้อมูลที่แม่นยำ และนำเสนอกิจกรรมทางการตลาดให้โดนใจและทันใจผู้บริโภคมากที่สุด

“สำหรับเป้าหมายของเดียวคือ การพัฒนาสินค้าให้ออกสู่ตลาดตรงตามกรอบเวลาที่วางไว้และตรงตามความต้องการของผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการได้มาซึ่งเป้าหมาย เราต้องเป็นฟันเฟืองหลักในการประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย หรือ customer science ที่คอยวิเคราะห์หาข้อมูลตลาด หรืองานหลังบ้านอย่างบริการลูกค้าเราต้อง collaborate ให้ทุกคนร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นเป้าหมายเดียวกันให้ได้ เพราะเราไม่สามารถทำได้คนเดียวแน่ ๆ

“หลักการทำงานของเดียวจะมองในเรื่อง passion เป็นหลัก เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกงาน เมื่อเรามีใจกับมันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคแบบไหนก็พร้อมที่จะเปิดใจรับ และค้นหาวิธีการต่าง ๆ มาใช้ ทุกวันจะตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่อยากทำงาน อยากพัฒนาสินค้า และส่งไปถึงมือผู้บริโภคให้ดีที่สุด ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความรู้สึกแบบนี้ เดียวว่าอุปสรรคมันจะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย และเราสามารถก้าวข้ามมันไปได้ด้วยดี”

 

สุรพัชร์ แสวงศักดิ์ (เดียว)

Account Executive – Consumer Product, SCGP

 

สมภพ วิทย์วรสกุล : ความสำเร็จเริ่มต้นจากการลงมือทำ

หลายคนมักใช้ช่วงปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การใช้ชีวิต แนวคิดในการทำงาน เพื่อพัฒนาตัวเอง P-DNA ฉบับนี้ จึงขอใช้โอกาสนี้ชักชวนพี่ตือ – สมภพ วิทย์วรสกุล Chief Regional Officer, SCOP และ General Director – Vina Kraft Paper Company Limited ประเทศเวียดนาม มาบอกเล่าประสบการณ์จากการทำงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงแนวคิดและแง่มุมดี ๆ เพื่อจุดประกายความคิดให้ใครหลายคนในโมเมนต์แห่งการเริ่มต้นปีใหม่นี้

 

วิศวกรผู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อันหลากหลาย

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว พี่ตือเริ่มงานกับ SCGP ด้วยบทบาทวิศวกร ที่บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด โรงงานบ้านโป่ง โดยหมุนเวียนเปลี่ยนงานในด้านการผลิตมาแล้วแทบทุกส่วน

“พี่เข้ามาเป็นวิศวกรอยู่ในงานผลิต ส่งเสริมการผลิต รวมไปถึงงานซ่อมบำรุง ช่วงนั้นบริษัทฯ ขยายตัว มีงานต่าง ๆ ให้ลองทำค่อนข้างเยอะได้โยกย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ทั้งโรงงานบ้านโป่งและวังศาลา เวลาพี่ ๆ มาถามว่าลองไหม พี่ลองทำหมด  เลยได้ทักษะค่อนข้างหลากหลาย และกลายเป็นคลังความรู้ที่เราเก็บสะสมเอาไว้

“หลังจากนั้นก็ได้ทุนไปเรียนต่อด้านเยื่อและกระดาษที่สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่เราได้เห็นโลกมากขึ้น ได้เรียนรู้เทคโนโลยี ได้ใช้ภาษาอังกฤษ พอกลับเมืองไทยก็ถูกส่งไปประจำที่ประเทศฟิลิปปินส์ 3 ปี ก็กลับมาไทย มาอยู่ที่ส่วนงานวิศวกรรม ซึ่งเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่นานที่สุด ถือเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้เห็นภาพธุรกิจของ SCGP ทั้งหมด จนกระทั่งปัจจุบันย้ายไปประจำที่เวียดนาม ซึ่งเป็นงานที่ต้องดูทั้งหมด รวมถึงงานการตลาดและการขายด้วย นับว่าท้าทายที่เดียว”

 

ตอบโจทย์ลูกค้าด้วยการทำงานแบบ Dynamic

บทบาทใหม่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อคนทำงานสายวิศวกรรมต้องเพิ่มทักษะเรื่องการให้บริการลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงและตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้บริโภค แต่สำหรับพี่ตือ ประสบการณ์จากเส้นทางที่ผ่านมาช่วยให้เขามีมุมมองที่น่าสนใจและใช้ประโยชน์ได้ไม่รู้จบ

“ทักษะและความเชี่ยวชาญในโรงงาน เราทำมาครบหมด ส่วนเรื่องความเข้าใจและใส่ใจลูกค้าก็ฝึกจากงานภายในบริษัทที่ผ่านมา เพราะไม่ว่าจะเป็นงานวิศวกรที่ทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรืองานวิศวกรรมที่สร้งสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด พี่มองว่าทุกหน่วยงานที่เราทำงานด้วยคือลูกค้า  เป็นการฝึกให้เรารับมือกับลูกค้าในเรื่องการให้บริการได้เป็นอย่างดี เพราะเขาจะสะท้อนกลับอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งลูกค้าภายในโหดกว่าลูกค้าภายนอกอีก แต่ก็ทำให้เราได้รับ feedback ที่ดีมาก เพราะว่าเขารู้ลึกกว่า

“อีกเรื่องหนึ่งที่พี่ได้เรียนรู้จากลูกค้าภายในคือ ความ dynamic เพราะเขาต้องการความก้าวหน้า ถ้าเรามีนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ดี เพิ่มมูลค่าสินค้าตอบโจทย์เขาได้ เขาก็พร้อมจะรับ เป็นพาร์ตเนอร์ที่โตไปด้วยกัน คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากลูกค้าภายในเอาไปปรับใช้กับลูกค้าภายนอกได้”

“ลองดู” จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

ปัจจุบันลูกค้าต้องการสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ การคิดค้นอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน SCGP สำหรับผู้บริหารอย่างพี่ตือ ในวันนี้อาจไม่ได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน แต่ยังคงนำทีมให้เดินหน้าไปได้ภายใต้แนวคิดรูปแบบการทำงานที่ไม่หยุดนิ่ง และพร้อมที่จะทดลอง เรียนรู้ตลอดเวลา

“เราต้องพยายามคิดสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ต้องคิดให้ตกผลึก ต้องทดลอง พลาดไปบ้างก็ไม่เป็นไร มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นครั้งหนึ่งเราเคยผลิตสินค้าแล้วล้มเหลว แต่เมื่อเวลาผ่านไปตลาดพลิกกลับมา กลายเป็นสินค้าที่มียอดขายอันดับหนึ่ง หรือตอนที่ตัดสินใจทำ solar roof เราก็ติดต่อไปยังสถานที่ราชการต่าง ๆ ให้มาร่วมพัฒนาด้วยกัน เวลาเขามีไอเดียใหม่ ๆ เราก็ลองดู จนมันสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท พี่ชอบคำว่า ‘ลองดู’ นะ คำนี้ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาได้

“พี่ชอบเรื่อง sense of accomplishment ด้วย สมมุติว่าสินค้าไหนทำได้สำเร็จ พี่จะบอกกับน้อง ๆ ว่า มันสำเร็จแล้ว เป็น small win ดีใจด้วยกัน ทำให้คนรู้สึกกล้าที่จะลองทำ ถ้ามันยังขายไม่ได้ก็เก็บไว้ก่อน พี่ว่าการยอมรับกับสิ่งที่ทำขึ้นใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องวัดความสำเร็จจากการขาย ได้เงินแล้วถึงมาชื่นชม แต่ดูว่าเราได้อะไรบ้าง จากสิ่งที่ทำออกมาแล้วมากกว่า พี่ว่าทุกคนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและกล้าที่จะทดลองต่อไป”

ยิ่งไปกว่านั้น ความท้าทายในฐานะผู้บริหารยังมีเรื่องของการจัดการความหลากหลาย ทั้งด้านวัยและวัฒนธรรมที่แตกต่าง พี่ตือเล่าว่า แม้จะไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ก็ต้องเปิดใจเรื่องความต่างและหาวิธีเชื่อมโยงถึงกัน

“พี่ว่าเราใช้เครื่องมือที่มีอยู่รอบตัว บริหารจัดการเรื่องความต่างระหว่างวัยได้ เพราะเราไปทำตัวเป็นเด็กเหมือนเขาไม่ได้ ก็ดูว่าใครจะช่วยประสานหรือเข้าถึงเขาได้ ส่วนในเรื่องวัฒนธรรม อาจเป็นความโชคดี SCGP เราเริ่มจาก regional ก่อน ซึ่งพี่คิดว่า วัฒนธรรมไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เราต้องมองว่าทุกคนคือบริษัทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ไม่น่าใช่เรื่องยากครับ”

 

เรียนรู้ไม่สิ้นสุด และมุ่งสร้างสิ่งดีเพื่อสังคม

ในช่วงท้ายพี่ตือฝากว่า จงสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง หากเปรียบเป็นก้อนหิน หน้าที่ของทุกคนคือ การเจียระไนตัวเองให้มีเหลี่ยมมุมที่สวยงามขึ้น อาจจะเหนื่อยและต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนจะเป็นเพชรที่งดงาม

“เราอยู่ในองค์กรใหญ่ที่มีคนเก่ง ๆ เยอะ เวลาเจอเรื่องที่ไม่เคยเจอ ลองหาคนที่รู้และขอความรู้จากเขา นอกจากจะได้งานแล้ว ยังทำให้เกิดการ collaboration ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และสามารถนำไปใช้ข้างนอกองค์กรได้ด้วย

“ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่ามองแค่การก่ออิฐ แต่ให้มองเป็นการสร้างโบสถ์ เพราะสิ่งที่ SCGP ทำคือการสร้างสิ่งดี เราต้องเดินหน้าทำสิ่งที่ดีกว่าเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี บางโครงการถ้าเราทำสำเร็จ มันจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้มาก หรือว่าสร้างคุณค่าให้กับโลกได้มากขึ้น พี่ว่าวิธีนี้จะทำให้เราเห็นคุณค่า รู้สึกภูมิใจและชื่นชมกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น”

 

 

SCGP เติบโตโดดเด่น ปี 64 ทำรายได้ 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 วางเป้าปี 65 สร้างรายได้ 140,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจใน 5 ปีด้วยงบ 100,000 ล้านบาท

SCGP ชูผลประกอบการปี 2564 เติบโตโดดเด่น ทำรายได้จากการขาย 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปีก่อน จากการขยายพอร์ตสินค้าตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและขยายการลงทุนตามแผนกลยุทธ์ พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 65 กำหนดเป้ารายได้ 140,000 ล้านบาท พร้อมกับวางงบลงทุนใน 5 ปีไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท  

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2564 สามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 21,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน

ผลการดำเนินงานปี 2564 ที่เติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด 19 การหยุดชะงักของห่วงโซอุปทาน การขาดแคลน
ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง มาจากการบริหารโมเดลธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลยุทธ์มุ่งเน้นนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสินค้านวัตกรรมและการขยายพอร์ตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค รวมถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ Organic Expansion และ Merger and Partnership (M&P) และการวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นับจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน SCGP ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ใช้เงินลงทุนรวมตลอดอายุโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท ทั้งการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) และการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ รวม 12 โครงการ ในจำนวนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 9 โครงการ ส่วนอีก 3 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ (1) การขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) ประเทศฟิลิปปินส์ อีก 220,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 (2) ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและประเทศเวียดนามอีก 1,838 ล้านชิ้นต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และ (3) โครงการก่อสร้างฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ภายใต้ Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ด้วยกำลังการผลิต 370,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยมีรายได้จากการขาย 35,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวด 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 5,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์อาหาร (Foodservice Products) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงการรวมผลประกอบการของบริษัทที่ทำ M&P ได้แก่ Go-Pak, Duy Tan, Intan Group และ Deltalab

ส่วนภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่ฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและซัพพลายเชนทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงภาวะปกติ ในขณะที่ราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากประเทศผู้นำเข้ารายหลัก

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีพิจารณาการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2564 ในอัตรา 0.65 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2564 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายใน 0.40 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือ วันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 เมษายน 2565

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการบริโภคในปี 2565 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 ในประเทศต่าง ๆ ส่วนค่าระวางเรือขนส่งจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตและการบริโภค อย่างไรก็ตาม SCGP มีความมุ่งมั่นโดยวางเป้าหมายรายได้จากการขายในปีนี้ที่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากดีลที่ควบรวมกิจการในปีที่ผ่านมาและโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะแล้วเสร็จในปีนี้ อีกทั้งบริษัทฯ ได้วางแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้งบลงทุน 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ SCGP รวมถึงพิจารณาโอกาสขยายการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคอื่น ๆ

นอกจากนี้ SCGP ยังคงดำเนินธุรกิจโดยมีสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นกรอบแนวคิดสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่ง โดยในปี 2564 บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับรางวัล Rising Star Sustainability Awards จาก SET Awards 2021 และได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับ Gold Medal จาก EcoVadis Sustainability Rating และเพื่อยกระดับนโยบายด้าน ESG บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ด้วย

SCGP ส่งต่อแรงบันดาลใจ “โปรโม – โปรเม” คู่พี่น้องนักกอล์ฟระดับโลก เผยเคล็ดลับสู่เป้าหมายความสำเร็จ

SCGP ส่งต่อแรงบันดาลใจจาก “โปรโม – โปรเม” สองนักกอล์ฟหญิงไทยที่ประสบความสำเร็จระดับโลกและเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ ในด้านความมุ่งมั่นพัฒนาตนเองและเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีระหว่างกัน สอดคล้องกับธุรกิจของ SCGP ที่กำลังขยายจากอาเซียนสู่ระดับโลก พร้อมเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมเติบโตไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้จัดงาน “Inspiration LIVE Talk by SCGP” ในรูปแบบ LIVE Talk ร่วมพูดคุยกับโปรกอล์ฟสองพี่น้องที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก “โปรโม –  โมรียา จุฑานุกาล” และ “โปรเม – เอรียา จุฑานุกาล” เพื่อเจาะลึกถึงแรงบันดาลใจ แนวคิดในเส้นทางนักกีฬาและเคล็ดลับสู่เป้าหมายรวมถึงความสำเร็จในระดับโลก สำหรับนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนให้นักกอล์ฟเยาวชน 30 คน ได้ร่วมกิจกรรม Golf Clinic เพื่อเพิ่มพูนทักษะและส่งต่อแรงบันดาลใจแก่เยาวชน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ได้ให้การสนับสนุนโมรียา จุฑานุกาล หรือโปรโม และเอรียา จุฑานุกาล หรือโปรเม ซึ่งเป็นสองนักกอล์ฟหญิงไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก และเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความมุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โปรโมและโปรเมแสดงให้เห็นถึงสิ่งสำคัญในการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีระหว่างกัน ช่วยส่งเสริมและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน จนสามารถประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและประเทศชาติ จากการคว้าแชมป์รายการแข่งขันกอล์ฟระดับโลก สอดคล้องกับ SCGP ที่กำลังขยายธุรกิจจากภูมิภาคอาเซียนสู่ระดับโลก เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย อังกฤษ และสเปน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์แก่ผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ ตามเมกะเทรนด์ของโลก

“SGCP มีแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยมองลูกค้าและคู่ค้าเป็นพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตร ร่วมคิด ร่วมพัฒนาและร่วมสร้างการเติบโต เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ พัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ และโลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน จึงทำให้ SCGP ตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโปรโมและโปรเม ซึ่งเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ โดยเราอยากเป็นกำลังใจให้ทั้งคู่ในการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจในระดับโลกให้กับคนไทยต่อไป และส่งต่อแรงบันดาลใจแก่ทุกคน ได้มุ่งมั่นพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ” นายวิชาญ กล่าว

ด้านโปรเม-เอรียา จุฑานุกาล คู่พี่น้องโปรกอล์ฟหญิงชั้นนำระดับโลก กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่มีโอกาสแข่งขันในรายการต่าง ๆ อยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับทุกคนว่าการจะประสบความสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญคือการโฟกัสและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (Passion) ในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุด และหากเป้าหมายนั้นมีความสำคัญ ก็จะทำทุกอย่างด้วยความสนุกและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในการแข่งขันเมื่อต้องเจอกับแรงกดดันอื่น ๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการจะจัดการกับภาวะกดดันและความคาดหวังจากบุคคล ได้เรียนรู้ว่าต้องโฟกัสที่เป้าหมายของตนเองเป็นหลักและทำภารกิจในแต่ละวันให้ดีที่สุด ไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะเป้าหมายและความสำเร็จของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน และเมื่อเจอกับปัญหาอุปสรรคก็จะนำบทเรียนในอดีตมาปรับใช้ โดยสิ่งสำคัญคืออย่าหยุดเชื่อมั่นในตนเอง ในวันที่คนอื่นอาจจะไม่เชื่อมั่นในตัวคุณ รู้จักการรอคอยเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดหวังไว้ รวมถึงอย่าลืมที่จะสร้างบาลานซ์ระหว่างเป้าหมายและการใช้ชีวิต

โปรโม-โมรียา จุฑานุกาล คู่พี่น้องโปรกอล์ฟหญิงชั้นนำระดับโลก กล่าวว่า การจะรักษาความมุ่งมั่นและความพยายามเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายและบรรลุความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้นั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น เพราะการจะเป็นแชมป์นั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อเกิดความผิดหวังก็ให้มองย้อนกลับไปและคิดว่าในวันนั้นได้ทำสิ่งที่ดีที่สุด หากยังคงมีเป้าหมายที่แน่วแน่และมีวิถีทางของตนเองแล้ววันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้จงอย่านำความคาดหวังของคนอื่นมากดดันตนเอง ให้โฟกัสที่ความคาดหวังและเป้าหมายของตนเองก่อน และเมื่อทำเป้าหมายของตนเองสำเร็จแล้วความสำเร็จจะกลับไปสู่คนอื่นคาดหวังในตัวคุณเอง

นอกจากนี้ ในเส้นทางนักกอล์ฟอาชีพยังได้เรียนรู้การเป็นพาร์ทเนอร์ซึ่งกันและกัน โดยในรายการ Dow Great Lakes Bay Invitational ระดับ LPGA Tour เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแข่งขันประเภททีมคู่ และสามารถคว้าแชมป์ในรายการนี้ได้สำเร็จ ซึ่งมาจากการเป็นพาร์ทเนอร์ชิพที่ต้องความเข้าใจและส่งต่อกำลังใจซึ่งกันและกันในระหว่างการแข่งขัน โดยโมและเมและอุปนิสัยในการการเล่นที่แตกต่างกัน คนหนึ่งกล้าเสี่ยง คนหนึ่งจะระมัดระวังกว่า ซึ่งเป็นจุดดีที่ทำให้คอยเตือนซึ่งกันและกัน ใช้บุคลิกและสิ่งที่ถนัดเพื่อวางแผนการเล่นที่เหมาะสมในแต่ละช่วง จนสามารถประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ในรายการดังกล่าวได้

SCGP และกว่า 50 องค์กร ร่วมผนึกกำลังสภาอุตสาหกรรมฯ ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ประกาศโครงการนำร่องจังหวัดชลบุรี

SCGP ร่วมมือกับ 50 องค์กรในโครงการ “PackBack Project เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ทดลองใช้เครื่องมือ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทุกประเภท โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ส่วนราชการจังหวัดชลบุรี รวมถึงภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนด้านนโยบายและด้านนวัตกรรม ที่ช่วยให้กระบวนการจัดเก็บและการรีไซเคิล ตั้งแต่ระบบการจัดเก็บต้นทาง การตั้งจุดรองรับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว รวมถึงการประสานงานร่วมกับศูนย์คัดแยกวัสดุใช้แล้ว (Sorting Hub) เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้องและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด