SCGP Newsroom

BITEC x SCGP ดัน Circular Way เข้าสู่ธุรกิจไมซ์ เน้นแนวทางบริหารเพื่อความยั่งยืน

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ร่วมกับบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) เปิดโครงการ “We Draw the New World Together” ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำวัสดุเหลือใช้จากการจัดงานมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดงานอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์แห่งภูมิภาคอาเซียน

โครงการ “We Draw the New World Together”  เน้นการใช้กระดาษและพลาสติกให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการพัฒนาและออกแบบที่สะดวกต่อการใช้งาน แข็งแรง และยังสามารถนำมารีไซเคิลได้แบบครบวงจร (Close-loop Management) เช่น อุปกรณ์ตกแต่งบูธ อุปกรณ์สำหรับใช้ในการประชุม รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในส่วนจัดเลี้ยงด้านอาหารและเครื่องดื่ม

ปนิษฐา บุรี  กรรมการผู้จัดการศูนย์นิทรรศการและการประชุม BITEC กล่าวว่า “ฺBITEC ยึดมั่นในการทำธุรกิจภายใต้แนวทาง BITEC Sustainability เพื่อผลักดันให้ศูนย์ฯ เป็นสถานที่จัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับ SCGP ในครั้งนี้ไม่เพียงช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการของเรา แต่ยังเป็นการต่อยอดการทำงานด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิดและการปฏิบัติภายในองค์กรของไบเทค ผู้จัดงาน ผู้จัดแสดง ตลอดจนผู้ชมงาน ได้ร่วมมือกันใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าอย่างสูงสุดไม่ว่าจะเป็นการ Reuse หรือ Recycle ก็ตาม”

ดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า “แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกลยุทธ์ที่ SCGP ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง SCGP จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับไบเทค เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรและจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผ่านนวัตกรรมการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกวัสดุเหลือใช้และนำมาให้ที่ SCGP Recycle Drop Point เพื่อส่งกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างประสบการณ์งานแสดงนิทรรศการในรูปแบบของ Event Sustainable Management โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อการดูแลโลกอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

แผนงานที่ BITEC และ SCGP จัดทำร่วมกันในปี 2565 ภายใต้โครงการ “We Draw the New World Together” ได้แก่

  1. Recyclable Exhibition: เปิดประสบการณ์นิทรรศการการแสดงนวัตกรรมการออกแบบเพื่อการตกแต่งและจัดแสดงสินค้าจากกระดาษ Paper Art ที่จัดแสดงตามจุดต่าง ๆ ภายในไบเทค ให้ผู้ที่เข้ามาภายในศูนย์ได้รับชม
  2. BITEC Exhibition Supplier: นำเสนอโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้จัดงาน และผู้จัดแสดงสินค้า เช่น การออกแบบ การผลิต การติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากกระดาษเพื่อใช้ในบูธแสดงนิทรรศการ โดยผู้ที่ใช้บริการนี้จะได้รับรายงานแสดงผลการลดคาร์บอน รวมถึงบริการการติดตั้งพร้อมทั้งเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลของ SCGP และ Upcycling กลับมาเป็นของที่ระลึกหรือจัดแสดงในงานครั้งต่อไป
  3. Packaging Sustainability: ใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก โดยคาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้หลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single use) ได้ถึง 125,000 ชิ้นต่อเดือน และจะมีการใช้กล่องกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับ Snack Box มากถึง 65,000 ชิ้นภายในปี 2565
  4. Recycle Campaign: รณรงค์ให้พนักงานในบริษัท ผู้จัดงาน ผู้จัดแสดงสินค้า และผู้เข้าชมงาน ได้มีส่วนร่วมในโครงการส่งมอบกล่องกระดาษลูกฟูก กระดาษถ่ายเอกสาร รวมทั้งขวดน้ำพลาสติก PET และฝาขวดพลาสติกเหลือใช้ ที่ SCGP Recycle Drop Point เพื่อนำกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บรรจุภัณฑ์และการจัดการวัสดุเหลือใช้ที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง  นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจัดงาน BITEC x SCGP Carbon Footprint Performance ซึ่งจะแสดงผลปริมาณรวมของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์  และการผลิต Upcycling Product ที่ได้จากการทำ Recycle Campaign มาแจกให้กับลูกค้ากลุ่มต่างชาติของไบเทคอีกด้วย

ความร่วมมือระหว่างไบเทค และ SCGP ในโครงการ “We Draw the New World Together” ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะสมบูรณ์ได้  ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาสังคม  นอกจากนวัตกรรมและการออกแบบสินค้าให้แข็งแรงคงทนเพื่อใช้งานได้ยาวนานแล้ว  สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ ที่จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อเป้าหมายทางการบริหารธุรกิจไมซ์สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

SCGP ปิดดีลเข้าถือหุ้น Deltalab ประเทศสเปน รุกเข้าตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับโลก เริ่มรับรู้รายได้ ธ.ค. 64

SCGP ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในระดับโลกอย่างเต็มตัว รองรับกลยุทธ์ขยายการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร ปิดดีลใหญ่เข้าถือหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L ประเทศสเปน ที่ครอบคลุมตลาดส่งออก 125 ประเทศทั่วโลก โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP วางกลยุทธ์มุ่งขยายการให้บริการโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ โดยภาพรวมตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในยุโรปปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8.1 แสนล้านบาท) และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) โดยคาดว่าจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 7-9 ต่อปี (ข้อมูลจาก LEK Consulting ปี 2562 – 2567)

ล่าสุด SCGP บรรลุผลสำเร็จเข้าถือหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L (Deltalab) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศสเปน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) โดยเข้าลงทุนผ่านบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แพคเกจจิ้ง จำกัด ที่ SCGP ถือหุ้นทั้งหมด ใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 84.9 ล้านยูโร (3,270 ล้านบาท) จะเริ่มรับรู้รายได้ในงบการเงินรวมของบริษัทตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

Deltalab มีผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้นกว่า 15,000 หน่วยสินค้า มีกำลังการผลิตรวม 250 ล้านชิ้นต่อปี และส่งออกสินค้าครอบคลุมตลาดส่งออก 125 ประเทศทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น อาทิ ถ้วยเก็บตัวอย่างของเหลวจากร่างกาย, หลอดสุญญากาศสำหรับถ่ายเทตัวอย่าง (Liquid containers and tubes for vacuum system), หลอดเก็บตัวอย่างเลือด (Traceable blood collection tube set for haematology), หลอดขนาดเล็กสำหรับงานวิเคราะห์พันธุกรรม (Microtubes and flexible plates for real time PCR), หลอดปิเปตต์ขนาดต่าง ๆ สำหรับถ่ายเท ตวง ของเหลว (Various types of pipettes for liquid handling), ชุดตรวจสวอบ (Swab test set)

ทั้งนี้ นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564 Deltalab มีรายได้รวม 84.3 ล้านยูโร (ประมาณ 3,245 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณ 19.3 ล้านยูโร (ประมาณ 740 ล้านบาท) และมีสินทรัพย์อยู่ที่ 44.7 ล้านยูโร (ประมาณ 1,720 ล้านบาท)

“การลงทุนใน Deltalab ครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการขยายฐานลูกค้าในแถบยุโรป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และภูมิภาคอื่น ๆ ขยายพอร์ตสินค้าของ SCGP ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการสู่ระดับโลก รวมถึงผนึกความสามารถทางธุรกิจโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมมือกันพัฒนาโซลูชันและขยายตลาดใหม่ ๆ ” นายวิชาญ กล่าว

ในปี 2564 SCGP ได้ดำเนินนโยบายการขยายธุรกิจด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ตามแผนขยายธุรกิจแบบ Organic Growth และการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership) โดยสามารถปิดดีลขยายธุรกิจ 4 ดีล ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมกว่า 16,000 ล้านบาท (ตามข้อมูล ณ วันที่ปิดดีล) ได้แก่ Go-Pak Group ผู้นำการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ Duy Tan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปรายใหญ่ในประเทศเวียดนาม Intan Group บรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในประเทศอินโดนีเซีย และล่าสุด Deltalab Group ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของ SCGP เพื่อรองรับเมกะเทรนด์ของโลกด้านสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพ

การประกาศผลรอบตัดสิน โครงการ SCGP Packaging Speak Out 2021

ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลโครงการ SCGP Packaging Speak Out 2021 สำหรับผลการประกาศรางวัลของโครงการฯ มีดังนี้

หมวด Packaging Design

  • รางวัล The Best of Challenge หมวด Packaging Design จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 80,000 บาท และได้รับโอกาสในการเข้าฝึกงานกับ SCGP ได้แก่ ผลงาน Oh My Man โดย นางสาวชนิตา รัตนภักดี และนางสาวภักติ จตุพร ทีม Ilovehousehusband
  • รางวัล Runner-up หมวด Packaging Design จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 60,000 บาท ได้แก่ ผลงาน ทุกคนดูดีในแบบของตัวเอง โดยนางสาวชลธี เจวารี ทีม Pineapple
  • รางวัล Popular Vote หมวด Packaging Design จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท ได้แก่ ผลงาน สอนลูกให้เป็นฮีโร่จากแพคเกจครีมกันแดด โดย นางสาวกมลวรรณ ชัยสกุลสุรินทร์ และ นายกฤศภณ ศุภดิษฐ์ ทีม Marlin

หมวด Packaging Solutions

  • รางวัล The Best of Challenge หมวด Packaging Solutions จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 80,000 บาท และได้รับโอกาสในการเข้าฝึกงานกับ SCGP ได้แก่ ผลงาน BUGSGUARD ฟิล์มป้องกันมดและแมลง โดย นายภัทรชัย ลายนาคขด และ นางสาวภาวินี พิงไทย ทีม The Victor
  • รางวัล Runner-up หมวด Packaging Solutions จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 60,000 บาท ได้แก่ ผลงาน PASS STICK! โดยนางสาวจีราพร วิริยะ และนายพีรศิลป์ หุตะแพทย์ ทีม Amoeba
  • รางวัล Popular Vote หมวด Packaging Solutions จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท ได้แก่ ผลงาน BUGSGUARD ฟิล์มป้องกันมดและแมลง โดย นายภัทรชัย ลายนาคขด และ นางสาวภาวินี พิงไทย ทีม The Victor

สามารถรับชมการนำเสนอในรอบตัดสิน ได้ที่ https://fb.watch/9Bd4qYeWAF/

ติดตามรายละเอียดโครงการ ได้ที่ speakout.scgpackaging.com

Thailand Post x SCGP x GPO ผนึกกำลังในโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้ โรงพยาบาล 8 แห่ง ทั่วประเทศ

นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมปล่อยขบวนรถขนส่งหน้ากากอนามัยในกิจกรรม “จากใจไปรษณีย์ไทย x คนไทย ส่งต่อหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาล” พร้อมด้วยผู้บริหารจากองค์การเภสัชกรรม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และโรงพยาบาลปลายทาง 8 แห่ง เข้าร่วมผ่านระบบ online

 

โดยหน้ากากอนามัยและกล่องบรรจุดังกล่าวมาจากโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” ที่ไปรษณีย์ไทยรวบรวมกล่องและซองพัสดุเหลือใช้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม 2564 จำนวนรวมกว่า 22,000 กิโลกรัม ส่งต่อให้ SCGP นำไปรีไซเคิล และองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมสมทบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ รวมกว่า 300,000 ชิ้น บรรจุใน “กล่อง BOX บุญ” เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาล 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลนครนายก โรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลบ้านตาก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลปัตตานีนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19

 

โครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” นี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ SCGP ได้ร่วมประสานพลังความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจและประชาชน เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และร่วมช่วยเหลือสังคมไปพร้อม ๆ กัน

SCGP กับการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

โลกกำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ขยะล้นโลก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข SCGP จึงได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรและพลังงานในระบบอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ภายใต้บรรษัทภิบาล เราจึงมุ่งมั่นสร้างความเข้าใจ ร่วมจุดประกาย และส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในกระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ โดยเฉพาะการจัดการวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนซึ่งเป็นดูแลแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง และป้องกันการเสียโอกาสในการนำไปรีไซเคิล

 

 

แนวทางดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

  • การใช้ทรัพยากร (Resource use)

การใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่มาจาก Renewable Resources ในการผลิตสินค้า และการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต

  •  การออกแบบ (Design)

เพื่อให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถการแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่คุณภาพยังคงเดิม

  • การผลิต (Produce)

โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ของเสียจากกระบวนการผลิต การใช้น้ำและพลังงานลดลง

  • การขนส่ง (Distribute)

ส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบการเช่าสินค้า และ Sharing Platform เพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดการ Optimization ในขั้นตอนการขายและขนส่ง

  • การใช้งานผลิตภัณฑ์ (Product Use)

จากการออกแบบที่ทนทานมากขึ้น และง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน พร้อมด้วยการบริการซ่อมบำรุง ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพยาวนานมากที่สุดตลอดช่วงอายุการใช้งาน

  • การกำจัด (Recycle)

ผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุจะผ่านกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งของเสียไปยังหลุมฝังหลบ เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุให้อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคให้นานที่สุด โดยประยุกต์ใช้กระบวนการนำกลับต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การนำกลับพลังงานจากขยะ

 

ลูกค้าคือศูนย์กลาง : เส้นทางสู่ความสำเร็จของ Dezpax

จาก Mindset ที่ชอบพัฒนาตัวเองและสนุกกับความท้าทายในการแก้ปัญหา DezpaX ได้รวมตัวขึ้นจากผู้ที่มีความถนัดหลากหลายในธุรกิจ Food Packaging ทำให้พวกเขาเห็นปัญหาของลูกค้า (Pain Point) รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาส การเติบโตในธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ จึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังสร้างสรรค์ไอเดียผ่านโครงการสตาร์ตอัปภายในองค์กรของ SCG จนในที่สุดสามารถเติบโตจนก้าวออกมาจัดตั้งเป็นบริษัท Packworks Co., Ltd. (Dezpax) ภายในระยะเวลา 3 ปี

 

เดินหน้าสู่ความท้าทายหลัง Spin-off

โจทย์แรกของ Dezpax คือ ทำอย่างไรให้เติบโตเร็วที่สุด ตามอัตราปกติของบริษัทสตาร์ตอัปจะเติบโตอยู่ที่ 20 – 30% ต่อเดือน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างท้าทาย ที่ต้องหาทางเพิ่มฐานลูกค้าเพื่อสร้างยอดขาย และต้องบริหารทีม บริหารคน และเซตอัประบบให้สมบูรณ์

เมื่อเพิ่มยอดขายได้ ยังต้องมีการบริหารซัพพลายเชนอย่างเหมาะสม พร้อมกับสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัทในวันที่ก้าวออกมายืนด้วยตัวเองอย่างเต็มตัว

การรับมือกับความท้าทายครั้งใหญ่นี้ DezpaX เพิ่มความละเอียดรอบคอบในทุกเรื่อง ตั้งแต่การใช้เงินอย่างคุ้มค่าและสามารถวัดผลได้ ทุกคนในบริษัทต้องมีเป้าหมายร่วมกัน โดยนำจุดแข็งจากการทำงานในองค์กรมาใช้ และลดขั้นตอนบางส่วนลง เพื่อความคล่องตัวในแบบสตาร์ตอัป เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ใช้ระบบทีมมาร่วมระดมความคิด จัดลำดับความสำคัญ แล้วจึงลงมือทำจนสำเร็จ ซึ่งพวกเขามองความท้าทายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการเติบโตของ DezpaX

 

One Stop Service ที่เข้าใจลูกค้าที่สุด

DezpaX คือแอปพลิเคชันและเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อาหารแบบครบวงจร ที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์คุณภาพไว้ทุกรูปแบบ พร้อมบริการออกแบบและพิมพ์โลโก้ในราคาที่จับต้องได้ คำนวณราคาได้ทันที และที่สำคัญสั่งซื้อได้ตลอดN24 ชั่วโมง มีบริการจัดส่งทั่วประเทศที่ระบุระยะเวลาชัดเจน ติดตามได้ อีกทั้งยังรับประกันเมื่อสินค้าชำรุดเสียหาย ซึ่งนับเป็นผู้บริการแบบครบวงจรรายแรกที่นำเอาอุตสาหกรรมแพคเกจจิ้งและอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มารวมไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ลูกค้าของ DezpaX จึงได้รับความสะดวกสบาย นับเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและตอบโจทย์ลูกค้า

กลุ่มลูกค้าของ DezpaX ครอบคลุม 3 กลุ่มหลัก ทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มบริษัท หรือแบรนด์ต่าง ๆ ที่ทำอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอาหารริมทาง (Street Food) ซึ่ง DezpaX ได้วางตำแหน่งของบริษัทเอาไว้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่การเริ่มต้นที่การศึกษาจุดอ่อนของสินค้าและบริการ รวมถึงความต้องการของลูกค้า จากนั้นพัฒนาแพลตฟอร์มให้รวดเร็วและฉลาดมากขึ้นมาตอบโจทย์ เพิ่มบริการผ่อนชำระสินค้า ให้ลูกค้าสามารถซื้อจำนวนมากโดยไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ ซึ่งถือเป็นบริการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ตลอดจนสังเกตความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด โดยหัวใจสำคัญคือ การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งจำนวนมากในตลาดเดียวกัน

 

Milestone ถัดไปของ Dezpax

ทุกวันนี้ ลูกค้ากลุ่มบริษัทมีการปรับตัวและเข้าสู่ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น DezpaX จึงคิด Corporate Solutions ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการจัดซื้อตามรูปแบบขององค์กร ทั้งในเรื่องระบบเอกสาร ระบบเครดิต และอื่น ๆ ส่วนในกลุ่มอาหารริมทางได้เตรียมการทำการตลาดแบบออฟไลน์มากขึ้นเพื่อให้บริการลูกค้าทุกกลุ่มได้

ในตอนนี้ นักลงทุนรายแรกของ Packworks Co, Ltd.(DezpaX) คือ SCGP แต่การเติบโตเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ไปจำเป็นต้องมองหานักลงทุนรายอื่น ๆ เข้ามาเสริมกำลัง เช่น กลุ่มบริการส่งอาหารแบบถึงที่ เพื่อมาช่วยขยายตลาดให้กว้างขึ้น รวมถึงกลุ่มธนาคารที่เข้ามาช่วยในเรื่องระบบการจ่ายเงิน เพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าเอสเอ็มอี เป็นต้น ตลอดจนกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเสริมการเติบโตในระดับอาเซียนต่อไปในอนาคต

 

——————————————————————————

 

“สำหรับพี่น้อง SCGP ที่มีไอเดีย อยากสร้างธุรกิจใหม่ ใน SCG หรือ SCGP มีหลายช่องทางให้เข้าไปลองทำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Innovation หรือ Internal Startup ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ทุกคนสามารถเข้ามาลองได้ และมีคนคอยช่วยในหลายเรื่องเลย เรามีต้นทุนคือพลังและเวลา สิ่งที่ได้มาคือ การได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้พิสูจน์ไอเดียของเรา และที่สำคัญเราได้ลองกับลูกค้าจริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงไอเดียในกระดาษที่คิดไว้แล้วก็ไม่ได้ทำ แต่เป็นโอกาสให้ลงมือทำจริง เวิร์กหรือไม่เวิร์กไม่เป็นไร มาลองดูครับ”

 

ปฐมพงศ์ ดีปัญญา

Chief Executive Officer, Packworks Co., Ltd. (DezpaX)

 

“คนที่โชคดีคือคนที่พร้อมเสมอ เพราะเมื่อโอกาสมาถึงก็พร้อมที่จะลงมือทำได้เลย ดังนั้นถ้าเราอยากจะทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนาสิ่งเก่า ลองดูว่าต้องมีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง และก็เริ่มทำ หากมีเวทีที่ให้เราได้ทดลอง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข้อเสนอแนะจากคนอื่น ก็ควรมาลอง ไม่มีอะไรเสียหาย ไม่มีความเสี่ยงอย่ากลัวการทำสิ่งใหม่ ๆ อย่ากังวลกับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างคือการพัฒนาที่ดีขึ้น”

 

ภัสรา ภิญโญพิชญ์

Chief Operating Officer, Packworks Co., Ltd. (DezpaX)

 

“ผมคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกอย่างต้องลงมือทำจริงครับ ผมเชื่อในเรื่อง Action = Reaction สิ่งที่เราทุ่มเทลงไปจะมีผลสะท้อนกลับมาเสมอ ช่วยให้เกิดทักษะใหม่ ๆ ในการทำงานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสติและความคิดในการทำธุรกิจได้เฉียบคมมากขึ้น สุดท้ายคือ กำไรชีวิตที่อาจจะมองไม่เห็นหรือวัดค่าได้ยาก แต่มันคือ Return ที่มีคุณค่าแน่นอน อยากให้ทุกคนได้ลองลงมือทำในทุกไอเดียที่คิดครับ… สู้ ๆ ครับ”

 

เศรษฐพัฒน์ ศิลปสมัย

Chief Marketing Officer, Packworks Co., Ltd. (DezpaX)

 

 

 

 

 

WAY OF LIFE – WAY OF WORK : ดนัยเดช เกตุสุวรรณ

P-DNA ฉบับนี้เราได้มีโอกาสชวนพี่โอม – ดนัยเดช เกตุสุวรรณ Chief Financial Officer (CFO) คนล่าสุด มาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดการทำงานและการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมถึงแชร์ประสบการณ์การทำงานตลอดหลายปี ทั้งในและต่างประเทศที่เชื่อว่าน่าจะจุดประกายไอเดียให้ใครหลายคนได้อย่างแน่นอน

 

เส้นทางการทำงานมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ

พี่โอมเริ่มบทสนทนาด้วยการเล่าถึงเส้นทางการทำงานใน SCG ที่สำนักงานวางแผนกลางเป็นเวลา 3 ปี ดูแลงานด้านโครงการ การควบรวมกิจการ และวิเคราะห์โครงการของทุก ๆ BU ใน SCG ก่อนจะย้ายมาที่ SCGP ในตำแหน่ง Vice President-Finance ของบริษัท United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) ประเทศฟิลิปนส์ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นี่นานถึง 3 ปี

“พี่ไปดูเรื่อง Finance and Procurement ที่ฟิลิปปินส์ แล้วก็ย้ายกลับมาไทย ในตำแหน่ง Business Manager ของแบรนด์กระดาษ Idea ช่วงนั้น กำลังเปิดตัว Idea Work พอดี ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ก็กลับไปที่สำนักงานวางแผนกลาง SCG อีก 2 ปีจึงกลับมาที่ SCGP ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนธุรกิจ (ในปัจจุบันคือ Business Planning Office) อีก 5 ปี ดูแลงานด้านวิเคราะห์โครงการ การควบรวมกิจการ การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ พอปี 2561 ได้มีโอกาสกลับไปที่ฟิลิปปีนส์อีกครั้งในตำแหน่ง President and CEO จนถึงกลางปี 2564 ก็กลับมาเป็น CFO ของ SCGP”

 

นำ Way of Life มาเป็น Way of Work

แน่นอนว่าการทำงานในต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม นอกจากเรื่องภาษาที่เป็นความแตกต่างพื้นฐานแล้ว การเรียนรู้และปรับตัวคือหัวใจสำคัญ พี่โอมแชร์ให้ฟังว่า ชีวิตในต่างแดนตลอดหลายปีนั้นดำเนินไปอย่างกลมกลืน ด้วยการไม่นำกรอบความคิดแบบไทยไปใช้กับที่อื่น

“เมื่อเราไปทำหน้าที่เป็นผู้ไกด์ทีม Tone at the top สำคัญมาก เขาจะมองเราในฐานะผู้กำหนดพฤติกรรม นโยบาย หรือทิศทางองค์กร เขาจะมาหาเราเป็นหลัก ทำให้เราสามารถกำหนดทิศทางต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และใช้โอกาสนี้สร้างทีม สร้าง Collaboration ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

“เรื่องวัฒนธรรมหรือ Culture เราต้องดูว่าวัฒนธรรมของเขาเป็นแบบไหนและมีจุดไหนที่เชื่อมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น คนฟิลิปปินส์จะมีความจริงใจและตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน เราต้องพยายามสร้างให้เป็นวัฒนธรรม คือการปรับเอา Way of Life มาเป็น Way of Work เพื่อช่วยสร้างความกลมกลืน วัฒนธรรมที่สำคัญอีกอย่างคือ การให้ความสำคัญกับครอบครัว เป็น Family Fist เช่น การรับรองลูกค้า ลูกค้าจะมากันทั้งครอบครัวเพราะฉะนั้น เมื่อเราทำธุรกิจที่นั่น เราควรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของเขา เช่น การจัด Family’s Day ให้พนักงานพาครอบครัวมาที่โรงงานเพื่อร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เขาจะบอกกับลูกด้วยความภาคภูมิใจว่า นี่คือที่ทำงานของพ่อ นี่คือที่ทำงานของแม่นะ สร้างให้เกิดความผูกพันต่อองค์กรและความภาคภูมิใจกับบริษัทด้วย

“การทำงานกับคนต่างชาติ การเรียนรู้วัฒนธรรมและสร้างความกลมกลืนเอา Way of Life มาเป็น Way of Work และพยายามสร้างทีมผ่านการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้งานราบรื่นขึ้น และที่สำคัญอย่ายึดติดกับกรอบความคิดและการทำงานแบบเดิม ๆ เพราะมันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ในเรื่องความรู้ทางเทคนิคหรือระบบงานเราอาจนำจากไทยไปปรับใช้ได้ เพราะมันเป็นสากล แต่ในด้านการบริหารคน บริหารองค์กรเราต้องมองว่าวิธีการใดที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ให้คนในแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรมได้ดีที่สุด”

 

หลักคิด 3 ข้อ ต่อยอดการทำงาน

ตลอดการทำงานที่ฟิลิปนส์ พี่โอมมักลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ว่างานไหนเมื่อเกิดปัญหา จะวิเคราะห์และช่วยตัดสินใจ ซึ่งทำให้สั่งสมประสบการณ์จนแข็งแกร่งขึ้น

“การทำงานในต่างประเทศมีหลายเรื่องที่เราต้องวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งตนเองมาก ต่างจากเมืองไทยที่เรามีคนคอยให้คำปรึกษาตลอดเวลา พี่มองว่าเรื่องนี้ทำให้พี่พัฒนาตัวเองค่อนข้างมาก ในส่วนองค์กรก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะการส่งคนไปประจำที่ต่างประเทศทำให้พนักงานได้มองเห็นสิ่งที่ไม่เห็นจากที่นี่ และนำเอาแนวทางบางอย่างมาปรับใช้ได้

“แต่ไม่ว่าที่ไหน พี่จะมีหลักในการทำงานอยู่ 3 ข้อที่ใช้มาตลอด

1. One Step Above เวลาทำงานพี่จะพยายามคิดและมองภาพให้ใหญ่กว่าหรือสูงกว่าตัวเราไปหนึ่งขั้นเสมอ สมมุติว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบพี่จะลองคิดว่า ถ้าเราเป็นผู้บังคับบัญชา เรามีแนวคิดกับเรื่องนี้อย่างไร และจะตัดสินใจทำอย่างไร พี่คิดว่าข้อนี้จะช่วยสร้างคุณค่าเพิ่มให้ตัวเราไม่จำกัดตัวเองแค่ในหน้างานที่ทำเพียงอย่างเดียว หากมองภาพรวมได้มากขึ้น ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นด้วย

2. Treat with Respect ให้เกียรติทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นน้องเป็นเด็กเข้าใหม่ เป็นพี่ หรือเป็นใครก็ตาม เราต้องให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ ดังนั้นไม่ว่าชมหรือติ ต้องทำโดยไม่บั่นทอนจิตใจกัน ประสบการณ์ส่วนตัวของพี่โชคดีที่ได้ทำงานกับผู้บังคับบัญชาดี ๆ มาตลอด ทำให้เรารู้สึกอยากทำงานเพื่อองค์กรมากยิ่งขึ้น

3. จุดไหนที่ควรผลัก จุดไหนที่ควรผ่อน โดยเฉพาะตอนเป็นผู้บริหาร พี่จะดูว่าจุดใดที่ควรผลัก คือเข้าไปเสริมทีม เป็นกำลัง เป็นไกด์ให้ที่มบรรลุเป้าหมาย จุดใดควรผ่อน คือปล่อยให้ทีมทำ เพื่อให้เขาได้แกร่งขึ้น มั่นใจขึ้น เรื่องนี้สำคัญมาก ยิ่งถ้าเราเป็นผู้บริหารระดับสูง หากเราไปผลักในจุดที่ควรผ่อน หรือผ่อนในจุดที่ควรผลัก ปัญหาจะตามมาแน่นอน หากทีมทำได้ดีอยู่แล้ว เราไม่ควรไปกดดัน หรือจุดที่ควรเข้าไปเสริม แต่เรากลับไม่ทำอะไรเลยทีมก็จะลำบาก นี่คือสิ่งสำคัญในการบริหารงานครับ”

 

รู้จักตัวเองและเดินหน้าเต็มกำลัง

แนวทางในการพัฒนาตัวเองที่พี่โอมยึดถือมาโดยตลอด นั่นคือ การมองให้เห็นความถนัดของตัวเอง และเรียนรู้ศักยภาพของคนรอบข้าง

“การมองข้างในตัวเรา เพื่อให้รู้ว่าเราเก่งอะไร ทำอะไรได้ดี เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาได้ง่ายที่สุด เพราะการฝืนทำเรื่องที่ไม่ถนัดอาจทำให้เราไปไหนได้ไม่ไกล ส่วนการมองออกไปข้างนอกคือ เรียนรู้จากคนอื่นว่าเขาทำอะไรทำไมเราถึงชอบหรือชื่นชมสิ่งที่คนนี้ทำ หรือทำไมเราถึงไม่ชอบ หรือดูคนในวงการธุรกิจต่าง ๆ ว่าเขาทำอย่างไรถึงเติบโตไปได้ไกลขนาดนี้ และลองเอาสองส่วนนี้มาประกอบกัน จะช่วยให้เห็นว่าเราควรพัฒนาต่อยอดตนเองไปในทิศทางไหน หรือขยายศักยภาพจากสิ่งที่เราเป็นได้อย่างไร

“ในมุมขององค์กร พี่คิดว่าตอนนี้ SCGP อยู่ในจุดที่ดี แข็งแกร่งในทุกด้านมีโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะขยายและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในแถบอาเซียนเราได้พิสูจน์ตัวเองและรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ก็เป็นโอกาสที่จะต่อยอดได้อีก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ดังนั้นในฐานะที่พวกเราเป็นคนขับเคลื่อนองค์กร ควรหาประสบการณ์หรือการเรียนรู้ใหม่ ๆ เสมอ ทั้งจากการทำงานกับคนภายนอก ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ มองหาเวทีที่จะสามารถศึกษาการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ๆ หรือการแลกเปลี่ยนความรู้กับบริษัทข้ามชาติ หรือหากมีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศ ลองแวะไปดูบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Toyota Museumหรือ Google Office เพื่อดูว่า Global Company เขาทำงานกันอย่างไร นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

“SCGP พร้อมที่จะสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ทุกคนมีแรงบันดาลใจ สนุกและมีความสุขในการทำงาน พี่คิดว่าถ้าเรามีแรงบันดาลใจและสนุกกับงาน มันจะช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาดีและเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเรา

และองค์กร แม้จะเจอความเครียดบ้าง เราก็ต้องหามุมที่ทำให้เราสนุกได้ในทุก ๆ วันนะครับ” พี่โอมกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

เปิดรับทุกโอกาส สร้างคุณค่าให้ตัวเอง

 

Unbounded Way ฉบับนี้ มารู้จักกับ Minh Ngoc Phan Thi สาวเวียดนามผู้ดูแลงานด้าน HR Business Partner ที่สำนักงานใหญ่ บางซื่อ เป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม มาดูกันว่าเธอมีแนวคิด วิธีการในการทำงานต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมอย่างไร ให้มีความสุขและสนุกกับการทำงานในทุก ๆ วัน

 

“งาน HR Business Partner คือ ดูแลพนักงานของบริษัทใน SCGP ที่อยู่ในเวียดนาม เป็นงานที่ต้องอยู่ตรงกลางคอยบาลานซ์ทุกอย่าง ระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร และทิศทางของบริษัท มองหาโซลูชันที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบริษัท ถือเป็นงานที่ค่อนข้างยาก ท้าทาย และเซนซิทีฟ เพราะมันไม่มีผิดไม่มีถูก เพียงแต่ต้องบาลานซ์ให้ดี การประสานงานติดต่อกับคนอื่น เราต้องเลือกใช้วิธีการสื่อสารให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคน

“และเรื่องที่สำคัญคือเวลาทำงาน เราจะต้องหมั่นสำรวจสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ สร้างการเรียนรู้และทดลองร่วมกัน อย่าไปมองที่ความยากหรือง่าย แตให้คิดว่าเราจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร

“ช่วงแรกที่มาอยู่เมืองไทยรู้สึกถึงความแตกต่างค่อนข้างมาก มีหลายเรื่องที่เราไม่เข้าใจเลย์ สามเดือนแรกไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้หรือเปล่า เพราะรู้สึกไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะเข้าใจคนอื่นได้ แต่เชื่อว่าการทำงานที่นี่ จะมีประโยชน์ต่อตัวเราแน่นอน

“ตอนนั้นได้รับคำแนะนำจากหัวหน้าว่า เราต้องใช้เวลาเพื่อสังเกตให้รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร แล้วเราจะเข้าใจมากขึ้น จะรู้ว่าทำไมเขาแสดงออกหรือมีพฤติกรรมแบบนี้ ในทางกลับกันก็ต้องแสดงความจริงใจ ให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นอย่างไร เพราะคนอื่นก็ไม่เคยทำงานกับคนต่างชาติแบบเราเหมือนกันพอเวลาผ่านไปถึงได้รู้ว่า ไม่ใช่แค่การทำงานที่เหมาะกับเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรยากาศการทำงานด้วย

 

“Mindset ในการทำงานที่ดีคือ ไม่ปฏิเสธกับโอกาสที่ได้รับ เพราะคิดว่าโอกาสจะสร้างคุณค่าให้เรา อีกเรื่องหนึ่งคือ การโฟกัสกับคนและงานอยู่เสมอ การมาทำงานที่นี่ทำให้โตขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องคน เมื่อเราสามารถดูแล ช่วยเหลือ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานได้ มันช่วยสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง กับพนักงานที่ดูแลและสร้างคุณค่าให้กับองค์กรอีกด้วย

“เรื่องความต่างทางวัฒนธรรมไม่ใช่ปัญหาเลย ต่างสถานที่ พฤติกรรมก็ต่างกันแค่นั้น เราแค่ยังไม่คุ้นเคยหรือยังไม่เข้าใจ ไม่เคยคิดว่ามันเป็นอุปสรรค

“งานที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนนั้น ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและทำอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ตอนที่เริ่ม Work from Home หลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ตัวเราอยู่ที่เมืองไทย แต่ต้องดูแลพนักงานที่เวียดนาม ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะบริหารอย่างไรให้พนักงานมีกำลังใจและสามารถปฏิบัติงานได้ เลยลองเริ่มประชุมกันมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างจากเมืองไทยที่ประชุมพูดคุยกันบ่อย ๆ ช่วงแรกทุกคนยังไม่เห็นความสำคัญของการประชุมทุกวันเลยไม่ค่อยเข้าหรือเข้าสายบ้าง เราจึงต้องพยายามปรับรูปแบบและทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อให้พนักงานเห็นว่า การประชุมกันนั้นมีประโยชน์ เพราะทุกคนได้พูด ได้แชร์ หรืออัปเดตเรื่องต่าง ๆ กันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดพฤติกรรม ทุกคนก็เริ่มเห็นว่ามันมีประโยชน์กับการทำงานจริง ๆ

“งาน HR ที่เป็นมืออาชีพ ต้องเป็นผู้ที่ชี้นำหรือริเริ่ม ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าเราจะเริ่มต้นลงมือทำ และเวลาลงมือทำอะไร จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องโดยไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ทุกคนอาจยังไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ แต่ทำต่อไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งมันจะสำเร็จและสร้างคุณค่าได้อย่างแน่นอน”

 

 

SCGP เปิดตัว ‘ALMIND by SCGP’ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือผสม AQUACELLA นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี บำรุงผิวมือให้นุ่มชุ่มชื้น เหมาะสำหรับเด็กและผิวแพ้ง่าย

SCGP เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ALMIND by SCGP’ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ AQUACELLA นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจาก SCGP ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น บำรุงผิวมือให้นุ่มชุ่มชื้นอย่างล้ำลึก เหมาะสำหรับเด็กและผิวแพ้ง่าย ผ่านการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจาก DermScan Asia ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน (Dermatologically test) วางจำหน่ายผ่านช่องทาง Facebook “ALMIND by SCGP” ร้าน SCGP Healthcare ใน Shopee และ Lazada และ OfficeMate Online พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษถึง 30 พฤศจิกายนนี้

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดตัว ‘ALMIND by SCGP’ ผลิตภัณฑ์เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ มีส่วนผสมของสารสำคัญจากธรรมชาติ AQUACELLA ที่พัฒนาด้วยนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้ได้สารสกัดจากเซลลูโลสของต้นยูคาลิปตัส ซึ่งเกิดจากการนำความเชี่ยวชาญด้านเซลลูโลสของ SCGP มาต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีคุณสมบัติโอบอุ้มและกักเก็บความชุ่มชื้นและสารสำคัญต่าง ๆ ไว้ในชั้นผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและบำรุงผิว รวมถึงมีส่วนผสมสารสกัดจากธรรมชาติอื่น ๆ เช่น Aloe vera exract จากว่านหางจระเข้ Glycerin เป็นต้น ให้ความชุ่มชื้น แห้งไว ไม่เหนียวเหนอะหนะ แต่งกลิ่นด้วยน้ำหอม ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Allergen free fragrance) จากประเทศอังกฤษ รวมถึงมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิด Food Grade ไม่ต่ำกว่า 70% ลดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียที่มาสัมผัสกับร่างกาย ปลอดภัยสำหรับเด็กและผิวแพ้ง่าย โดยผ่านการทดสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง (Dermatologically tested) จาก DermScan Asia เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอ่อนโยนและปลอดภัยต่อผิวเด็กที่บอบบาง

ALMIND by SCGP เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ Flairosol ขนาด 160 มล. ที่ออกแบบให้หัวสเปรย์สามารถพ่นละอองละเอียดกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วมือ ให้สัมผัสที่นุ่มนวล ใช้งานง่าย ฉีดพ่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องอัดแก๊ส คอขวดมีการออกแบบเฉพาะเพื่อป้องกันการรั่วซึมและรีฟิลได้ ผลิตจากพลาสติก PETE สามารถรีไซเคิลได้ ลิขสิทธิ์แท้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีบริษัทคอนิเมก จำกัด ใน SCGP เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ALMIND by SCGP มีให้เลือก 7 ขนาด ทั้งแบบสเปรย์  45 มล. และ 160 มล. แบบเจล 30 มล. และ 200 มล. และชนิดเติมสำหรับสเปรย์ 500 มล. 1,000 มล. และ 3,500 มล.

ปัจจุบันสินค้ามีวางจำหน่ายแล้วผ่านช่องทางออนไลน์และคอลล์เซ็นเตอร์ 4 ช่องทางหลัก ได้แก่ (1) Facebook ALMIND by SCGP (2) Shopee สั่งซื้อได้ที่ร้าน SCGP Healthcare (3) Lazada สั่งซื้อได้ที่ร้าน SCGP Healthcare และ (4) OfficeMate Online บนแพลตฟอร์มเว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันและช่องทางคอลเซ็นเตอร์ ทั้งนี้ สำหรับแพลตฟอร์ม Shopee ได้จัดโปรโมชั่นกรอกโค้ดส่วนลด SCGPAL12 รับส่วนลดเพิ่ม 12% (ไม่จำกัดจำนวน) ตั้งแต่วันนี้ – 30 พฤศจิกายน 2564

SCGP ตอกย้ำความแข็งแกร่ง มีรายได้ 9 เดือน 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 วางกลยุทธ์พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มความสามารถการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

SCGP ประกาศผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำรายได้จากการขาย 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 และมีกำไรสำหรับงวด 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มองบรรจุภัณฑ์ไตรมาสสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัว

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 สามารถรักษาอัตราเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 15,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

รายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น เกิดจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันยังเติบโตได้ดีและต่อเนื่อง เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารและผลไม้กระป๋อง อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย และผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลบ้าน อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป และภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลดีต่อความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ ยังคงมีการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนานวัตกรรมให้มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนตามแผนกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีปิดดีลการเข้าควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) รวม 3 ดีล ได้แก่ กิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป ที่มีฐานการผลิตในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย และมีดีลที่อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งคาดว่าจะปิดได้สำเร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ได้แก่ การเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงในประเทศสเปน อีกทั้งยังได้ดำเนินการสร้างการเติบโต (Organic Expansion) ด้วยงบการลงทุน 11,793 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเติบโตด้วยการสร้างฐานการผลิตใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม และศึกษาโอกาสทางการตลาดทางตอนใต้ของประเทศจีน

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า แนวโน้มตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับประสิทธิภาพในการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั่วโลกต่อไป

สำหรับการดำเนินงานของ SCGP สามารถสร้างการเติบโตในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2564 บริษัทฯ จะสามารถทำรายได้จากการขายมากกว่า 100,000 ล้านบาท และใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อรักษาความเป็นผู้นำโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยยังคงมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและเมกะเทรนด์ของเศรษฐกิจไทยและอาเซียน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน อาทิ เทคโนโลยีเครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและผลิตผล (Productivity) ให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยังคงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ (Recyclability) และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ในกระบวนการผลิต เพื่อให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจไปอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)” นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติม