SCGP Newsroom

ประกาศรายชื่อ 9 ทีม 9 ผลงานที่เข้ารอบในโครงการ SCGP Packaging Design Challenge Vietnam 2021

SCGP ขอแสดงความยินดีกับ 9 ทีม กับ 9 ผลงาน ที่เข้ารอบแรกใน โครงการ SCGP Packaging Design Challenge Vietnam 2021 ผู้ผ่านเข้ารอบเตรียมตัวนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 นี้ ต่อไป

หมวด Sales Promoting Packaging Design

  • ผลงาน Câu chuyện biển cả  จากทีม Unity
  • ผลงาน Chuyến tàu khởi hành จากทีม Đội DA
  • ผลงาน Nâu จากทีม GEM

หมวด Transportation Packaging Design

  • ผลงาน Bao bì vận chuyển cây lan จากทีม L’ESPOIR
  • ผลงาน Bơ Vitamin My Natural Beauty จากทีม CoCo
  • ผลงาน WE ARE APPLES จากทีม THREE APPLES

หมวด Environmentally-Friendly Packaging Design

  • ผลงาน Hộp mì Xanh จากทีม T-sight
  • ผลงาน MÌ SAFOCO จากทีม V5
  • ผลงาน Reusable Cellphone Packaging จากทีม Ulagod

ทีมงานจะติดต่อกลับไปยัง 9 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ เพื่อแจ้งรายละเอียดในการแข่งขันรอบถัดไป สอบถามเพิ่มเติมที่ SCGP.VNchallenge@scg.com

SCGP X THAI-DENMARK หลอดกระดาษงอได้ นวัตกรรมเพื่อกล่องนมรักษ์โลก

เส้นทางหลังจากข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง SCGP กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาหลอดกระดาษเพื่อใช้กับนมยูเอชที ไทย-เดนมาร์ค แลคโตสฟรี ทำให้ไทย-เดนมาร์คเป็นแบรนด์แรกที่ใช้หลอดกระดาษจากผู้ผลิตภายในประเทศ และ a LOT ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากคุณสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)* มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวจุดเริ่มต้นของความร่วมมือดังกล่าวตลอดจนภารกิจหน้าที่ของ อ.ส.ค. ที่ยืนหยัด เคียงข้างเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน

*ตำแหน่งในวันที่ดำเนินการสัมภาษณ์ (วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564)

 

ภารกิจเพื่อเกษตรกรไทย

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านส่งเสริมกิจการโคนม โดยส่งเสริมเกษตรกรในเรื่ององค์ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ การเลี้ยงโคนม และการดูแลส่งเสริมในเรื่องการทำฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง การผสมพันธุ์โค และการปรับปรุงพันธุ์ ตลอดจนเมื่อได้ผลผลิต อ.ส.ค. ยังเป็นผู้รับซื้อและประกันราคาน้ำนมให้แก่เกษตรกร ซึ่งถือเป็นภารกิจอีกด้านหนึ่ง คือ ด้านธุรกิจอุตสาหกรรมนม ที่ อ.ส.ค. ดำเนินกิจการภายใต้แบรนด์ไทย-เดนมาร์ค

 

“ด้านธุรกิจอุตสาหกรรมนม เรารับซื้อน้ำนมโคประมาณวันละ 700 ตัน หรือราว 20% ของการรับซื้อทั้งหมด ถือเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ที่สุดของประเทศมีโรงงานผลิต 5 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เพื่อทำการแปรรูปน้ำนมโครวมถึงเรื่องทำการตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คเพื่อให้เกิดรายได้กลับเข้าสู่ อ.ส.ค. ในช่วงโควิด 19 ผลประกอบการของผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คได้รับกระทบอยู่พอสมควร เพราะเป็นผู้ผลิตที่จะต้องรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรไม่ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ เราก็ต้องรับซื้อเพราะเกษตรกรรีดนมมาแล้ว

“เราสร้างองค์กรเราให้เป็นที่รักทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและอยู่ในใจคนไทย จนได้รางวัล Thailand’s Most Admired Brand แบรนด์ที่น่าเชื่อถือที่สุด หมวดอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนมพร้อมดื่มยูเอชที ติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว ในตลาดนมกลุ่ม General Milk คือ รสจืด ร้สหวาน และรสช็อกโกแลต ไทย-เดนมาร์คเป็นผู้จัดจำหน่ายที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 โดยผลิตภัณฑ์นมของเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มนมยูเอซที หรือเรียกว่านมกล่อง และกลุ่มนมเย็น ที่มีทั้งนมพาสเจอร์ไรซ์ โยเกิร์ต และไอศกรีมต่าง ๆ “

 

เปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตของโลก

จากการริเริ่มแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ อ.ส.ค. เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้เกิดแนวคิดในการศึกษาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับการยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีหลอดพลาสติกรวมอยู่ด้วย เป็นที่มาให้ อ.ส.ค. หารือกับ SCGP ในการพัฒนาหลอดกระดาษเพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค

“อ.ส.ค. ได้พูดคุยกับ SCGP และเริ่มทดลองอย่างจริงจัง โดย SCGP ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมทดลองกับเราถึงที่โรงงาน เพราะลักษณะของหลอดกระดาษที่ต้องการใช้นั้นไม่ใช่หลอดทรงตรงแบบที่เห็นตามร้านทั่วไป ต้องพับงอ เพื่อนำไปติดไว้ข้างกล่องนมได้ สุดท้าย SCGP ก็ช่วยพัฒนาจนสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริง ๆ แต่หลอดกระดาษยังมีต้นทุนสูงกว่าหลอดพลาสติกพอสมควรเราจึงจำเป็นต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่พอจะทำตลาดและส่งเสริมผู้บริโภคได้จึงเลือกนำร่องใช้กับสูตรนมแลคโตสฟรีของเราก่อน

“SCGP ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกที่สามารถผลิตหลอดดังกล่าวได้ เพราะที่ผ่านมาต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หลังจากวางจำหน่ายไปก็มีเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียมีคนชื่นชมมาก เรื่องการใช้หลอดกระดาษถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจที่ผู้บริโภคให้การสนับสนุน เพราะเราให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐเองก็ให้ความสนใจ และมีนโยบายเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งนำยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ไปอยู่ในแผนการดำเนินงานของทุก ๆ องค์กรด้วย”

 

“นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม” ความร่วมมือไม่มีที่สิ้นสุด

หลอดกระดาษถือเป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ความร่วมมือที่ อ.ส.ค. ไว้วางใจเลือก SCGP เป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งที่ผ่านมาและแผนการในอนาคตจะมีการผนึกกำลังเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

“อ.ส.ค. เห็นถึงศักยภาพของ SCGP ที่เป็นองค์กรตัวอย่างในการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการบริหารองค์กร แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้ร่วมมือกัน

“สิ่งที่เราอยากเห็นหลังจากนี้คือ การบริหารต้นทุนของหลอดกระดาษให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เราจะได้ขยายผลใช้หลอดกระดาษกับสินค้าอื่น ๆ ที่เรามีถ้าเราสามารถลดหรือเลิกใช้หลอดพลาสติกได้ทั้งหมดอย่างที่ภาครัฐต้องการจะสามารถลดขยะได้อย่างมหาศาล อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะเห็นความสำเร็จต่อไป

“ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า เรายังเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างนมยูเอชทีรสเผือกและรสมะม่วงมหาชนก ที่เพิ่งวางตลาดทางออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เราเลือกใช้กล่องนมรักเรา รักษ์โลก’ ซึ่งเป็นกล่องนมยูเอชทีที่ผลิตขึ้นจากกระดาษ 69% PE Material 25% และอะลูมิเนียม 6% เนื่องจากนมต้องการการถนอมอาหารด้วยอะลูมิเนียม ซึ่ง PE Material ชีวภาพที่ใช้นี้สร้างขึ้นจากน้ำมันสน สามารถปลูกทดแทนได้ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หมายความว่า กล่องนมที่ว่านี้มีส่วนประกอบถึง 94% ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และเราเป็นเจ้าแรกที่ใช้กล่องชนิดนี้ เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมคือนโยบายหลักของ อ.ส.ค.” คุณสุชาติกล่าวสรุปทิ้งท้าย

 

SET ประกาศรับรอง SCGP ยกระดับ ESG สู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ประจำปี 2564

SET ประกาศรับรอง SCGP ยกระดับ ESG สู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ประจำปี 2564

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ SCGP เป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2564 สะท้อนความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของ SCGP ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social and Governance) มีความพร้อมด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี รวมถึงการปรับตัวและสร้างโอกาสในการแข่งขันผ่านนวัตกรรมทั้งทางธุรกิจและสังคม อีกทั้งให้ความสำคัญในการดูแลผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนชุมชนและสังคม ซึ่งในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกทั้งสิ้น 146 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 124 บริษัทในปีที่ผ่านมา โดยบริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืนนี้ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 12.48 ล้านล้านบาท ณ 30 กันยายน 2564 หรือคิดเป็น 66% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai

 

ชวนมารู้จัก “การสร้างโอกาสการลงทุนด้วยหุ้นยั่งยืน” Thailand Sustainability Investment (THSI)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำ รายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) โดยคัดเลือกจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล มีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานในตลาดทุน เป็นผู้คัดเลือกอย่างโปร่งใส

หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพด้านความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ มีการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น (Emerging risks) อีกทั้งมีแนวทางการดำเนินงาน และบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ที่ชัดเจน สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจพร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global trends) สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่สนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable investment)

SCGP จับมือ กรุงศรี ตอกย้ำนโยบายด้าน ESG ลงนามรับการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan)

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ผู้นำด้านโซลูชัน บรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ลงนามรับการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ระยะยาวเป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท จากกรุงศรี เป็นระยะเวลา 4 ปี ความสำเร็จของสินเชื่อ SLL ในครั้งนี้ตอกย้ำพันธกิจในด้าน ESG และความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของประเทศของทั้งสององค์กร อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านความยั่งยืน ทำให้กรุงศรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Coordinator) และผู้สนับสนุนทางการเงินแต่เพียงผู้เดียว (Sole Lender) ของสินเชื่อ SLL ในครั้งนี้ โดยโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสินเชื่อ SLL จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets หรือ SPTs) โดยธนาคารจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลงในแต่ละปีหากบริษัทสามารถดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนรายปีตามที่ระบุไว้ 

นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “SCGP ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนับเป็นโอกาสอันดีที่กรุงศรีซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและทางการเงินที่สำคัญของเรามีเป้าหมายเดียวกันในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน SCGP จึงมีความยินดีที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระยะยาว (Sustainability-Linked Loan: SLL) ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินด้าน ESG ด้วยวงเงินกู้ทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets หรือ SPTs) ซึ่งหากบริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่กำหนด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะถูกปรับลดลง สำหรับข้อกำหนดและตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนหลังจากได้รับสินเชื่อแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำจากภายนอก และการเพิ่มรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SCG Green Choice) โดย SCGP เป็นผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์รายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อ SLL ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสในเชิงธุรกิจได้ รวมถึงเป็นก้าวสำคัญในการนำธุรกิจไปสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน”

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า      “กรุงศรียังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจสำหรับลูกค้าธุรกิจของธนาคาร อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) โดยมีการพัฒนาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Loan (SLL) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าของธนาคาร ด้วยการประสานพลังระหว่างความเชี่ยวชาญด้าน ESG ของ MUFG เข้ากับจุดแข็งอันโดดเด่นของกรุงศรี  สินเชื่อ SLL ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือในมิติด้านสิ่งแวดล้อมกับ SCGP โดยกรุงศรีเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของ SCGP ทั้งในการด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจด้าน ESG ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องและถือเป็นผู้นำของประเทศไทยและในภูมิภาค   การสนับสนุนสินเชื่อ SLL ในครั้งนี้ เรามองว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับลูกค้า (Value Creation) ในอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย ทั้งยังเป็นอีกก้าวสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SCGP ในประเทศไทยและอาเซียน อันสอดคล้องกับเป้าหมายของกรุงศรีในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยให้ลูกค้าเติบโต ด้วยแรงสนับสนุนของกรุงศรีและเครือข่าย MUFG ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค”

SCGP ลงทุนสร้างฐานผลิตแห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เสริมแกร่งธุรกิจครบวงจร รองรับดีมานด์การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เติบโตในอาเซียน

          SCGP เดินหน้าแผนการลงทุน สร้างคอมเพล็กซ์ฐานผลิตแห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม พร้อมลุยตั้งฐานการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ภายในคอมเพล็กซ์ ด้วยงบลงทุนรวมทั้งหมดประมาณ 11,793 ล้านบาท คาดพร้อมดำเนินการผลิตในต้นปี 2567 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งระหว่างธุรกิจของ SCGP ในประเทศเวียดนาม และรองรับศักยภาพตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตต่อเนื่อง

          นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า “SCGP ใช้กลยุทธ์สร้างการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง เริ่มตั้งแต่ในปี 2552 บริษัทฯ ได้ลงทุนเชิงยุทธศาสตร์แห่งแรกทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ด้วยการสร้างฐานการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ใน Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน SCGP และ Rengo Company Limited ประเทศญี่ปุ่น ที่สัดส่วนร้อยละ 70:30 ตามลำดับ ในจังหวัดบิ่นห์เยือง นครโฮจิมินห์ และในปี 2559 VKPC ได้ขยายกำลังการผลิตในพื้นที่เดียวกัน เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ SCGP ยังได้ขยายธุรกิจด้วยการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ในประเทศเวียดนาม ได้แก่ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ฯลฯ”

          ประเทศเวียดนามมีการบริโภคภายในประเทศที่สูง และเป็นฐานการส่งออกสำคัญของภูมิภาค ส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติหลายรายเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งคาดว่าความต้องการกระดาษบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องประเภทอื่น ๆ ในประเทศเวียดนามจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 – 7 ต่อปีในช่วงปี 2564 – 2567 (ข้อมูลจาก Frost & Sullivan)

          เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศเวียดนาม และสามารถตอบสนองความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น SCGP จึงเดินหน้าขยายธุรกิจผ่าน Vina Kraft Paper Company Limited ด้วยการลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ที่ Vinh Phuc ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามพร้อมกับสร้างฐานการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่มีกำลังผลิตประมาณ 370,000 ตันต่อปี ภายในคอมเพล็กซ์แห่งนี้ โดยมีงบลงทุนทั้งหมดประมาณ 8,133,000 ล้านดอง (ประมาณ 11,793 ล้านบาท) ที่รวมค่าเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายทางการเงิน งานโยธา เงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่ดิน ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และคาดว่าการลงทุนนี้จะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงต้นปี 2567 และทำให้ VKPC มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 870,000 ตันต่อปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันต่อไปในอนาคต

          “SCGP ได้ขยายธุรกิจในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการขายสูงกว่า 15,000 ล้านบาท เมื่ออ้างอิงจากประมาณการงบการเงิน (Pro-forma) ปี 2564 (รวมรายได้หลังการเข้าซื้อกิจการ Merger and Partnership : M&P ที่ได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ด้วยแนวคิดการขยายธุรกิจแบบบูรณาการ โดยปัจจุบันมีฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม การลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์ฐานผลิตใหม่ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดตอนเหนือของประเทศเวียดนามและตอนใต้ของประเทศจีน เสริมการผนึกกำลังเพื่อสร้างความแข็งแกร่งระหว่างธุรกิจของ SCGP ในด้านประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนาโซลูชันด้านบรรุภัณฑ์แบบครบวงจรให้ดียิ่งขึ้น และพร้อมรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้” นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติม

Visy Packaging Thailand ใน SCGP ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS การันตีการพัฒนาที่ยั่งยืนชั้นนำระดับโลก

บริษัทวีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ใน SCGP ได้รับมาตรฐาน ISCC PLUS โดย International Sustainability and Carbon Certification หรือ ISCC เพื่อรับรององค์กรที่มีการจัดการคาร์บอนและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน จากการเป็นบริษัทในกลุ่มผู้แปรรูปบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่มีการดำเนินการภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ตลอดถึงการควบคุมระบบอย่างชัดเจนในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่กระบวนการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การรับและจัดเก็บวัตถุดิบ การควบคุมปริมาณ ตลอดจนการขายและการส่งมอบ จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของวิซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) มีการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลและการผลิตที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนตามหลักการควบคุมสมดุลมวลสาร (Mass Balance) และสามารถยกระดับคุณภาพในการตอบโจทย์ลูกค้าบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต้องการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในห่วงโซ่อุปทาน

SCGP Internship : ส่งต่อความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ผสมผสานทุกเจเนอเรชัน

“ส่งต่อความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ผสมผสานทุกเจเนอเรชัน”

การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา
การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน มุมมองจากทุกคน ทุกวัย
และการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เกิดจากการลงมือทำจริง ซึ่งนำไปสู่พัฒนาต่อยอดที่ดีขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

SCGP สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับและพร้อมส่งต่อไปยังทุกคนรอบข้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในแต่ละปี SCGP เปิดโอกาสน้อง ๆ นักศึกษาฝึกงานได้มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ในการทำงาน เป็นเวทีให้น้อง ๆ ได้นำความรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานจริง เพื่อเป็นพื้นฐานก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานหลังจากจบการศึกษา

ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน น้อง ๆ ทั้ง 11 คนจากต่างคณะ ต่างสถาบัน ได้ไปฝึกงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ใน SCGP วันนี้ เรามีบทสัมภาษณ์ความรู้สึก ความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดการเดินทางของน้อง ๆ มาแบ่งปันกัน

—————————————————————————————————————————————————–

“ผมรู้สึกประทับใจ SCGP ที่มีความใส่ใจ ตั้งแต่การจัดหาที่พักให้และการจัดหาแผนกที่เราฝึกงานให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้ พี่ ๆ มีความเป็นกันเองมากครับ ตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้าไปก็รู้สึกเหมือนเป็นน้องเฟรชชี่ที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลคอยสอนการทำงานให้ รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเรียนรู้การทำงานที่ SCGP ครับ”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. การทำงานเป็นระบบภายในแผนก การแบ่งหน้าที่ในการดูแลเครื่องจักร แบ่งพื้นที่ในการจัดการเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
  2. การใช้โปรแกรมในการตรวจเช็คสภาพระบบ Control Valve เพื่อวางแผนการซ่อม
  3. การทำงานร่วมกับพี่ทีมช่าง ทำให้ได้เห็นการทำงานจริงมากขึ้นและรู้จักการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นมากขึ้น

นายวรรณกร  อินทร์ปิ่น (แต้)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
ฝึกงานที่ BP Paper Electrical Maintenance 2 – บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด

—————————————————————————————————————————————————–

“รู้สึกดีใจและประทับใจการทำงานของพี่ ๆ ในบริษัทมาก พี่ ๆ ดูแลเป็นอย่างดีและช่วยเหลือในทุกเรื่อง รู้สึกเป็นกันเอง อาจจะความกดดันในการทำงานบ้าง แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี อีกสิ่งหนึ่งคือ การมีเพื่อนฝึกงาน ได้รู้จักและสร้างมิตรภาพกับเพื่อนจากต่างมหาวิทยาลัย เป็นความรู้สึกที่ดีและมีความสุขมากค่ะ”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. ความตรงต่อเวลาในการทำงานของพี่พนักงานและทุกคนในบริษัท
  2. การนำเสนองาน ให้มีความจริงจังและมีความน่าเชื่อถือ
  3. การเรียนรู้การทำงานของเครื่องจักร ซึ่งเป็นความรู้ใหม่และได้รับความรู้เป็นอย่างมาก

นางสาวสมฤทัย แตงอ่อน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
ฝึกงานที่ Energy Division – SCG Paper Energy

—————————————————————————————————————————————————–

“ถึงจะไม่ได้มีโอกาสเข้าออฟฟิศเนื่องจาก Work from Home ทำให้ไม่ได้เจอพี่ ๆ ได้ฝึกงานผ่านทางออนไลน์ ก็รู้สึกดีและสนุกไปอีกแบบ ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่คอยสอน คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ นะคะ”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. ประสบการณ์การทำงานในองค์กรใหญ่
  2. มิตรภาพและความเอาใจใส่จากพี่ ๆ ในทีม
  3. ทักษะการใช้ชีวิตในโลกของการทำงานจริง
     

นางสาวปิณฑิรา พานิชเจริญดี (คาราเมล)
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฝึกงานที่ Brand Management Office – SCGP

—————————————————————————————————————————————————–

“พี่เลี้ยงและพี่ ๆ วิศวกร คอยดูแลและช่วยเหลือเรื่องงาน และยังช่วยสอนเกี่ยวกับทฤษฎีอีกด้วย ทุกคนน่ารักและเป็นกันเอง นอกจากเรื่องงาน ดูแลเรื่องที่พัก ตอนที่มีปัญหาก็สามารถติดต่อและขอความช่วยเหลือได้ตลอดเลยค่ะ”
 

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. การเรียนรู้การทำงานจริง และประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งในออฟฟิศและหน้างานจริง
  2. ความรู้เกี่ยวกับสายงานวิศวกรรมไฟฟ้าเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์
  3. การทำงานร่วมกับผู้อื่น และเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร

นางสาวผกามาส ธีรสุวรรณจักร (นุ่น)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ฝึกงานที่ Energy Division – SCG Paper Energy

—————————————————————————————————————————————————–

พี่ ๆ ทุกคนคอยช่วยเหลือทุกอย่างทั้งเรื่องงานและเรื่องอื่น ๆ ดูแลอย่างดี ทั้งเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเลยครับ”
 

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. ความรู้ในสายงานจากการทำงานในบริษัท
  2. บรรยากาศในการการทำงาน
  3. กระบวนการทำงานในโรงงาน
     

นายนพณัฐ มังคลาด (นนท์)
คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฝึกงานที่ Technology and Digital Platform – SCGP

—————————————————————————————————————————————————–

“รู้สึกประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เข้าไปทำงาน บริษัทใส่ใจนักศึกษาฝึกงานมาก และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับบุคลากรทุกคน พี่ ๆ เป็นตัวอย่างในการทำงานที่ดี คอยสอนงานและความรู้เพิ่มเติมตลอดค่ะ”
 

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. การเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานเรียนรู้ในด้านที่สนใจ
  2. ประสบการณ์และบรรยากาศของการทำงานอย่างมีคุณภาพ
  3. การทำงานเป็นทีม การสื่อสารกับผู้อื่น การปรับตัว และการบริหาร  จัดการเวลา
     

นางสาวณิชชารีย์ กิจตระกูลรัตน์ (ป๋วย)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ฝึกงานที่ Energy Division – SCG Paper Energy

—————————————————————————————————————————————————–

“พี่ในแผนกใจดี น่ารัก มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือดูแลอยู่ตลอด ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ๆ ที่ฝึกงานด้วยกัน เพื่อนน่ารักมากๆ อาหารมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ สถานที่เที่ยวสวย และคาเฟ่ที่บ้านโป่งเยอะ ชอบมากเลยค่ะ”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. ขั้นตอนการผลิตกระดาษบรรจุภัณ์ ระบบบำบัดน้ำเสีย
  2. ทักษะการใช้ Streamlit และ การเขียนโค้ด Python
  3. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการพยากรณ์ในด้านต่าง ๆ
     

นางสาวณัฐกานต์ พัวพันธ์สุดดี (คิตตี้)
สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝึกงานที่ APM Data-Driven Transformation – บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด

—————————————————————————————————————————————————–

“พี่เลี้ยงดูแลดีมากๆ คอยอำนวยความสะดวกและแจ้งข่าวอยู่เสมอ เวลาติดปัญหาอะไร ก็ถามพี่ๆ ได้ตลอดเวลา ตอบคำถามเร็วมากครับ เพื่อนที่มาฝึกงานด้วยก็นิสัยดี เป็นกันเอง และคอยช่วยเหลือกันในเรื่องต่าง ๆ “

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. การพัฒนาระบบอัตโนมัติ โดยใช้ซอฟต์แวร์ UiPath
  2. ข้อปฏิบัติต่างๆ ของการทำงานในโรงงาน
  3. การสื่อสารและขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ในแผนก System & process optimization
     

นายลาภิศ ถิระเลิศพานิชย์ (แก๊บ)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ฝึกงานที่ System & Process Optimization – SCGP

—————————————————————————————————————————————————–

“พี่ ๆ ทุกคนที่หนูได้เจอ ใจดีและเป็นกันเองมากค่ะ พาไปดูกระบวนการผลิตของจริง พร้อมให้คำแนะนำที่ดี นอกจากนี้ยังให้แนวคิดในการทำงานจริงด้วยค่ะ ช่วยสนับสนุนและให้คำปรึกษาเสมอ หากว่าหนูเจอหรือติดปัญหาในการทำงาน”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. กระบวนการทำงานในแต่ละหน่วยงานของบริษัท
  2. กระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตบรรจุภัณฑ์
  3. การศึกษาปัญหาและทำการทดลอง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการผลิต

นางสาวกมลลักษณ์ ศิริคะรินทร์ (เมจิ)
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝึกงานที่บริษัทคอนิเมก จำกัดใน SCGP

—————————————————————————————————————————————————–

“ประทับใจ พี่ ๆ ที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำ เป็นการทำงานที่เราได้นำความรู้ตัวเองมาใช้จริง และพี่ ๆ ก็เป็นกันเองมาก ๆ ครับ”
 

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. การรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
  2. การรับฟังคำแนะนำ เพื่อนำมาปรับปรุงงาน
  3. การเรียนรู้การทำงานจริง
     

นายชนกนันทน์ แสนพิมล (คิส)
คณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ฝึกงานที่ Brand Management Office – SCGP

—————————————————————————————————————————————————–

“SCGP ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ เปิดรับฟังไอเดียใหม่ ๆ และความคิดนอกกรอบเพื่อยกระดับงานที่ทำ ถึงแม้จะได้ฝึกงานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ได้เรียนรู้เยอะ ได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับพี่ ๆ และพี่ ๆ ที่ SCGP เคารพทุกความคิดจากทุกคนในองค์กรรวมถึงน้องฝึกงานอย่างหนูด้วยค่ะ”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. ทักษะการสื่อสารและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ
  2. การวางแผนโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ
  3. การลงมือทำจริง ยอมรับ และเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
     

นางสาวสุนิดา ธวิทย์ชัยพร (เน)
คณะวิศวกรรมศาตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝึกงานที่ BP Paper Maintenance บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด

—————————————————————————————————————————————————–

 

และนี่คือโอกาสดีเช่นกันที่ SCGP ได้ร่วมเปิดรับมุมมอง ความคิดเห็นของน้อง ๆ ในเจเนอเรชันนี้
เรียกได้ว่าเป็นการเติมเต็มปรับจูน ผสมผสานความหลากหลายซึ่งกันและกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น

SCGP และมูลนิธิเอสซีจี ผนึก จุฬาฯ ร่วมพัฒนานวัตกรรมหน้ากาก Respirator “CUre AIR SURE” เตรียมส่งมอบแก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า 10,000 ชิ้น

SCGP ผนึก จุฬาฯ ร่วมพัฒนานวัตกรรมหน้ากาก CUre AIR SURE ที่ออกแบบจากความใส่ใจสู่ความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข พร้อมร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี เตรียมส่งมอบให้แก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าจำนวน 10,000 ชิ้น เพื่อใช้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้น ทำให้เทคโนโลยีการกรองอากาศกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตวิถีใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย จึงร่วมกับภาคเอกชนในการออกแบบและพัฒนาหน้ากาก Respirator ‘CUre AIR SURE’ เพื่อเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ในการสวมใส่หน้ากากกรองฝุ่นและเชื้อโรค โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก SCGP และหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน อาทิ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก ร่วมทำงานกับทีมคณาจารย์นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จนสามารถผลิตหน้ากาก Respirator แบบครอบครึ่งหน้าที่มีคุณภาพสูง กรองเชื้อแบคทีเรียและกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ 99% ผ่านเกณฑ์หน้ากากอนามัยชั้นที่ 1 ตามมาตรฐานสากล Medical Face Mask ASTM F2100

คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวต่อว่า SCGP ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและผลิตโครงสร้างหน้ากากอนามัยภายใต้นวัตกรรมการออกแบบเพื่อสังคม โดยนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการดีไซน์และผลิตวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์มาต่อยอด เพื่อให้ได้หน้ากากที่รับกับโครงสร้างใบหน้าของคนไทย สวมใส่สบายและมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคและกรองฝุ่นละอองได้ดี โดยออกแบบให้สามารถเปลี่ยนแผ่นกรองได้

คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี กล่าวด้วยว่า มูลนิธิเอสซีจี ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีความห่วงใยพี่น้องชาวไทยที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประเทศไทยสามารถเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ได้โดยเร็ว โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้มอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด นอกจากนี้ SCGP ยังได้ร่วมสมทบทุนกับมูลนิธิเอสซีจีเพื่อส่งมอบหน้ากากอนามัย CUre AIR SURE จำนวน 10,000 ชุด ให้กับบุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวนกว่า 100 แห่ง ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในด่านหน้า ผ่านเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

SCGP ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และพร้อมร่วมมือกับองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ในการพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน

SCGP ปิดดีลเข้าถือหุ้นร้อยละ 75 ใน Intan Group เสริมศักยภาพขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศอินโดนีเซีย

SCGP ได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 75 ใน Intan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ต่อยอดด้านการผลิต ซัพพลายเชน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รองรับการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่สิงหาคมนี้

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ หลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2556 เพื่อต่อยอดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เพิ่มความเข้มแข็งด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษ จากปัจจุบันที่มีฐานการผลิต 5 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย

ล่าสุด ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 SCGP ได้เข้าถือหุ้น (Merger and Partnership หรือ M&P) ร้อยละ 75 ใน PT Indonesia Dirtajaya Aneka Industri Box, PT Bahana Buana Box และ PT Rapipack Asritama (Intan Group) เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นไปตามที่ได้เคยเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยดำเนินการผ่าน TCG Solutions Pte. Ltd. (TCGS) ที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด (หรือ “TCG”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SCGP และ Rengo Company Limited ประเทศญี่ปุ่น ที่สัดส่วนร้อยละ 70:30 ตามลำดับ โดยแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็นงวดแรกจำนวน 822 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1,997 ล้านบาท) และจะชำระค่าหุ้นงวดที่ 2 โดยพิจารณาจากผลประกอบการส่วนเพิ่มของ Intan Group สำหรับงวดปีบัญชี 2565 และ 2566 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่ชำระในงวดแรกแล้วจะเป็นเงินไม่เกิน 859 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 2,088 ล้านบาท) และจะเริ่มรับรู้ผลประกอบการของ Intan Group ในงบการเงินรวมของ SCGP ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

Intan Group เป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันดำเนินธุรกิจในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ 4 พื้นที่ ได้แก่ Surabaya ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา Semarang ทางตอนกลางของเกาะชวา Bekasi ทางทิศตะวันตกของเกาะชวา และ Minahasa ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุลาเวสี โดยมีลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค

เมื่อสิ้นสุดปีบัญชี 2563 Intan Group มีรายได้ประมาณ 1,329 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 3,231 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณ 65 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 158 ล้านบาท) และมีสินทรัพย์ประมาณ 755 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1,836 ล้านบาท)

“การขยายการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียจะเพิ่มศักยภาพจากความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งด้านการผลิต การตลาด การวิจัย  รวมถึงนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายร่วมกับการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อรองรับการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการเน้นย้ำความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของประเทศอินโดนีเซีย” นายวิชาญ กล่าว

SCGP รักษาการเติบโตแข็งแกร่ง ทำรายได้ครึ่งปีแรก 57,148 ล้านบาท พร้อมสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

SCGP ทำรายได้จากการขายครึ่งปีแรก 57,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 รักษาการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการขยายกำลังการผลิตและ M&P ได้ตามแผนงาน ครึ่งปีหลังเตรียมปิดดีลในอินโดนีเซียและสเปน เดินหน้าแผนการประสานความร่วมมือกับพันธมิตร รวมถึงขยายกำลังการผลิตในอาเซียนแล้วเสร็จ เสริมศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 57,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 4,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน EBITDA (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืม) อยู่ที่ 10,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น มาจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอาเซียน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและ อาหารแช่แข็ง เป็นต้น รวมถึงเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป และประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากต้นทุนด้านพลังงานและภาวะขาดแคลน   ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางเรือในช่วงที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการต้นทุน และปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้

และรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังมาจากการวางกลยุทธ์ในการรักษาความเป็นผู้นำโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนและการขยายธุรกิจได้ตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งการเข้าควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) กับ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ประเทศเวียดนาม และการเข้าลงทุนใน Go-Pak UK Limited เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตที่แล้วเสร็จในช่วงที่ผ่านมา เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศอินโดนีเซีย, การเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ในประเทศไทย เป็นต้น

SCGP สามารถรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจผ่านธุรกิจปัจจุบันและ M&P ทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2564 จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อกระจายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มพอร์ตบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กระบวนการทำงาน และโมเดลธุรกิจ เพื่อนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 10 สิงหาคม 2564

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง จะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินงานของ SCGP ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายรายได้จากการขายรวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ด้วยการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ที่วางไว้ และมีโครงการขยายกำลังการผลิต ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษเพิ่มขึ้นอีก 1,615 ล้านชิ้นต่อปี ที่ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ รวมถึงการขยายกำลัง    การผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์อีก 220,000 ตันต่อปี และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัวในประเทศไทยอีก 53 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

“โดยล่าสุด SCGP ได้ปิดดีลการเข้าถือหุ้นร้อยละ 70 ใน Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม ตามการเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นตามที่ได้เปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นอกจากนี้ ยังมีดีลที่อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งคาดว่าจะปิดดีลสำเร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ได้แก่ การเข้าถือหุ้นร้อยละ 75 ใน PT Indonesia Dirtajaya Aneka Industri Box, PT Bahana Buana Box และ PT Rapipack Asritama (Intan Group) เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ในประเทศอินโดนีเซีย และการเข้าถือหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L. ประเทศสเปน เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการและการเติบโตของวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ SCGP ในระดับโลก ซึ่ง SCGP จะเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งด้วยการประสานความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาวควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG)” นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติม