SCGP Newsroom

SCGP ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Duy Tan ในเวียดนาม ต่อยอดความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองดีมานด์ในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Duy Tan ในเวียดนาม

ต่อยอดความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองดีมานด์ในภูมิภาคอาเซียน

 

SCGP ขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยเข้าถือหุ้น (Merger and Partnership : M&P)   ร้อยละ 70 ใน Duy Tan ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปในประเทศเวียดนาม เสริมศักยภาพการผลิตที่หลากหลายและครบวงจร รองรับการขยายตลาดภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

 

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ และบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพและความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคในประเทศเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดในเวียดนามและตลาดส่งออก

 

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 SCGP ได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 70 ใน Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม ตามการเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นตามที่ได้เปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ชำระเงินสำหรับการเข้าถือหุ้นร้อยละ 70 โดยแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็นงวดแรกจำนวน 3,630 พันล้านดอง (ประมาณ 5,170 ล้านบาท) และจะชำระค่าหุ้นงวดที่ 2 โดยพิจารณาจากผลประกอบการส่วนเพิ่มของ Duy Tan สำหรับงวดปีบัญชี 2563 และ 2564 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่ชำระในงวดแรกแล้ว จะเป็นเงินไม่เกิน 6,400 พันล้านดอง (ประมาณ 9,120 ล้านบาท) ทั้งนี้ ธุรกรรมข้างต้นจะดำเนินการผ่าน SCGP Rigid Packaging Solutions Pte. Ltd. (“SCGPRS”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCGP ถือหุ้นทั้งหมดและ SCGP จะเริ่มรับรู้ผลประกอบการของ Duy Tan ในงบการเงินรวมเดือนสิงหาคม 2564

 

            ปัจจุบัน Duy Tan เป็นผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Rigid Packaging) ชั้นนำในประเทศเวียดนาม ด้วยฐานการผลิต 5 แห่ง โดยมีทั้งลูกค้ากลุ่ม B2B ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ชั้นนำในประเทศเวียดนาม และลูกค้ากลุ่ม B2C ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ในบ้านภายใต้แบรนด์        Duy Tan เช่น อุปกรณ์และภาชนะบรรจุอาหาร ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ผ่านช่องทางร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในประเทศเวียดนาม ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 3/2563 – ไตรมาสที่ 2/2564) มีรายได้ประมาณ 5,025 พันล้านดอง (ประมาณ 7,170 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณ 650 พันล้านดอง (ประมาณ 930 ล้านบาท) และมีสินทรัพย์ประมาณ 5,000 พันล้านดอง (ประมาณ 7,130 ล้านบาท)

 

            “การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ SCGP สามารถนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มฐานลูกค้าตามกลยุทธ์ที่วางไว้ อีกทั้งยังจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนจุดแข็งในการดำเนินงาน เทคโนโลยี และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมทั้งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ SCGP ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศเวียดนาม” นายวิชาญ กล่าว

 

ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกวัย ทุกคนในครอบครัว

การรับฟังเสียงจากลูกค้า (Voice of Customers) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ SGP ยึดมั่นเป็นวิถีในการทำงาน เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรอย่างแท้จริง

 

ความต้องการในการใช้บรรจุภัณฑ์มีความหลากหลาย แตกต่างไปตามช่วงอายุ อาชีพ ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ลองนึกดูง่าย ๆ ในครอบครัวเราประกอบไปด้วยพ่อ แม่ พี่ น้อง ซึ่งก็มีวิถีการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป

 

ฉบับนี้เรามีโอกาสสัมภาษณ์ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีอาชีพและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ คุณหรัณ (รัณ) – คุณจารุวรรณ (โอ๋) กนกวลีวงศ์ สามี-ภรรยาเจ้าของธุรกิจออนไลน์ (นำเข้าและจำหน่ายเครื่องครัว Dream Chef และคุณแม่อัมพร อาสนวิทยา เจ้าของธุรกิจร้าน Come Home Cafe (คำโฮม คาเฟ่) มาดูกันว่าแต่ละคน เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบใด และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อเพื่อตอบโจทย์การใช้งานมีอะไรบ้าง

 

บรรจุภัณฑ์ ช่วยเสริมแบรนด์ให้แข็งแกร่ง

 

คุณโอ๋เริ่มเล่าถึงธุรกิจให้เราฟังคร่าว ๆ ว่า Dream Chef คือ เครื่องครัวนำเข้าจากประเทศเกาหลี วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าควบคู่ไปกับช่องทางออนไลน์

 

“ในปัจจุบัน ยอดขายทางออนไลน์ของเราเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากการ Work from Home ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำอาหารรับประทานเองเพื่อความปลอดภัย ลูกค้าจึงนิยมสั่งสินค้าของเราไปใช้

 

“สินค้าถูกส่งไปตามช่องทางขนส่ง กล่องพัสดุที่ใช้จะต้องปกป้องเครื่องครัวทุกชิ้นไปถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัย อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สินค้าด้านในไม่เกิดความเสียหาย เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าและเกิดความประทับใจ มั่นใจในแบรนด์เรา มีการรีวิวบอกต่อ ทำให้แบรนด์ของเรามีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

“โอ๋เลือกใช้กล่องพัสดุจากคู่ค้าของ SCGP ในการจัดส่ง มีการออกแบบมาอย่างดี มีน้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน แพ็คง่าย รับน้ำหนักสินค้าได้ดีผิวกระดาษสะอาด สามารถพิมพ์ชื่อแบรนด์ โลโก้ หรือรายละเอียดต่าง ๆ ของร้านลงไปแล้วสวยงาม ดูดี ช่วยให้ลูกค้าของเราประทับใจเมื่อรับสินค้า

“ที่ผ่านมาเราก็ได้รับ Feedback ที่ดีจากลูกค้ามากมายในทุก ๆ แพลตฟอร์มว่า สินค้าถูกส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์อย่างที่เราตั้งใจ ทำให้โอมั่นใจว่าบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญต่อความพึงพอใจของลูกค้า โอ๋จึงตัดสินใจใช้บรรจุภัณฑ์ของที่นี่ต่อไปค่ะ

“ในอนาคต อยากให้กล่องเบาขึ้นอีกโดยที่ความแข็งแรงยังเท่าเดิม เพราะจุดนี้จะช่วยให้ธุรกิจแบบเราประหยัดค่าขนส่งได้มากขึ้นอีกค่ะ”

 

บรรจุภัณฑ์ ช่วยให้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น

นอกจากคุณรัณจะดูแลเรื่องการตลาดของแบรนด์แล้ว ในชีวิตประจำวันคุณรัณยังมีบทบาทของการเป็นพ่อบ้านแห่งชาติด้วย หน้าที่หลักของเขาคือ การเลือกซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน ซึ่งการตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละชิ้นนั้นคุณรัณไม่ได้มองที่คุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังสนใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น ๆ อีกด้วย

“ทุก ๆ ครั้งที่ซื้อของในห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากผมจะเลือกคุณภาพจากแบรนด์ของสินค้านั้น ๆ แล้ว ผมก็เลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูด สวยงามสะดุดตา รวมไปถึงความสะดวก อย่างพวกเครื่องดื่มกระป๋องหรือขวด ถ้าเราสามารถหิ้วได้โดยไม่ต้องใส่ถุงเพื่อลดทรัพยากร ขนขึ้นรถหรือเข้าบ้านได้เลย หรือของกินของใช้ที่นำมาจัดเรียงได้สะดวก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น

“ที่สำคัญผมเป็นคนชอบอะไรที่ใช้แล้วรู้สึกดี เช่น ขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล คือเห็นปุ๊บแล้วอยากใช้เลย ใช้แล้วรู้สึกเป็นคนดี อยากเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโลก ผมอยากเห็นอะไรแบบนี้ในบ้านเราเยอะ ๆ ครับ”

 

บรรจุภัณฑ์ ให้มากกว่าการปกป้อง

สำหรับ Come Home Cafe เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในครอบครัวที่เปิดบริการมา 8 ปี มีทั้งในส่วนของร้านอาหาร งานจัดเลี้ยง (Catering) รวมถึงเดลิเวอรี (Delivery) มีครัวกลางที่ควบคุมกระบวนการทำอาหารอย่างมีมาตรฐาน และปลอดภัย ซึ่ง Come Home Cafe มีการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย และให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดและปลอดภัยมาก

“อาหารร้านเราไม่ได้อร่อยอย่างเดียวนะคะ ต้องสด สะอาด ถูกหลักอนามัย กล่องใส่อาหารต้องสะอาดและปลอดภัย ที่ร้านเราเลือกใช้กล่องเฟสท์ สำหรับใส่อาหารเพื่อส่งเดลิเวอรีให้ลูกค้า เพราะเรามั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจด้วย เวลาส่งเดลิเวอรี ฝากล่องต้องปิดสนิท เรียงซ้อนกันได้ดี เราเห็นการปรับปรุงรูปแบบกล่องมาหลายเวอร์ชัน เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการ Feedback ซึ้งดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอบโจทย์ในการใช้งานหลายแบบ

“และอีกปัญหาหนึ่งของการทำอาหารคือ การเก็บของสด ช่วงโควิดจะตุนอะไรก็กลัวเสีย แม่อยากจะได้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บของสดเอาไว้ได้นานขึ้น ลูก ๆ ลองเอาถุง Optibreath™  มาให้ใช้ มันช่วยได้เหมือนกันนะ แต่ต้องมีการจัดการและจัดเก็บที่ดีควบคู่ไปด้วย”

และนี่คือเสียงของลูกค้า ที่เป็นทั้งผู้ใช้งานเพื่อธุรกิจและผู้บริโภคปลายทางซึ่งไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในรูปแบบไหน ความต้องการจะเป็นแบบใด SCGP พร้อมที่จะรับฟังและพัฒนาต่อ ให้ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของทุกคน

 

ความยั่งยืน 3 มิติ ที่จับต้องได้

เมื่อพูดถึงความยั่งยืน บ้างคิดว่าคือการดูแลสิ่งแวดล้อม บ้างนึกถึงสังคมที่เจริญก้าวหน้าการศึกษา หรือคุณภาพชีวิต ทำให้ประเด็นเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นภาพที่แตกต่าง แต่แท้จริงแล้วคือการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

 

ESG เกราะป้องกันธุรกิจจากกระแสความเปลี่ยนแปลง

 

แนวคิดเรื่อง ESG เปรียบเสมือนเกราะป้องกันให้บริษัทสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในโลกธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทาย จุดแข็งของโล่กำบังนี้คือความชัดเจนและแนวคิดที่เป็นรูปธรรม ด้วยการกำหนดประเด็นสำคัญ 3 มิติสู่ความยั่งยืนได้แก่

มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) จะต้องมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และปกป้องสภาพแวดล้อมไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ

มิติด้านสังคม (Social) ต้องมีการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การดูแลและใส่ใจต่อคู่ค้าและลูกค้า รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนใกล้เคียง

สุดท้ายคือมิติด้านธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนภายในองค์กรให้มีความโปร่งใส บริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และไม่หยุดต่อยอดนวัตกรรม

หากบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามกรอบของ ESG บริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรได้ในระยะยาวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

ESG กับการลงทุนอย่างยั่งยืน

 

แนวคิดเรื่อง ESG ยังเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกลยุทธ์การลงทุนที่เรียกกันว่า “การลงทุนอย่างยั่งยืน” โดยนักลงทุนจะพิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับข้อมูลทางการเงิน เรียกว่ายั่งยืนแล้วยังต้องยืนหนึ่งเรื่องสร้างผลกำไรเช่นกัน S&P Dow Jones ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือดัชนีประเมินความยั่งยืนระดับโลก กล่าวว่า การลงทุนเพื่อความยั่งยืนต้องให้ความสำคัญ ทั้งการสร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุนควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงในระยะยาวด้วย เช่น หากบริษัทปล่อยของเสียสู่อากาศ ไม่ดูแลชุมชนรอบบริษัท หรือมีการติดสินบนคอร์รัปชันจนถูกฟ้องร้อง ย่อมเกิดผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ความอยู่รอด และความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

 

สำหรับ SCGP การปฏิบัติตามกรอบของ ESG ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน โดย SCGP ได้มีการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน พร้อมกำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการ 3 ด้าน คือด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการลดใช้ทรัพยากรและพลังงาน รักษาสมดุลของระบบนิเวศในระยะยาว ด้านสังคม เน้นดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน และมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในทุกแห่งที่เข้าไปดำเนินธุรกิจด้านเศรษฐกิจ เน้นสร้างคุณค่า ไม่ใช่แค่ผลกำไร แต่ต้องสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจบนแนวทางบรรษัทภิบาลเพื่อความยั่งยืน ทั้งหมดนี้คือแนวทางการดำเนินงานของ SCGP ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

ท่ามกลางความผันผวนจากสถานการณ์และความท้าทายต่าง ๆ ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อไป ESG เป็นแกนหลัก ในการดำเนินงานที่จะเป็นหนทางสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ด้วยแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จึงพร้อมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม พิสูจน์ได้จากผลประกอบการของบริษัทและความสามารถในการหยิบยื่นสิ่งดี ๆ สู่สังคม

 

– องค์ประกอบของ ESG –

มิติสิ่งแวดล้อม

1. การบริหารจัดการพลังงาน

2. การบริหารจัดการน้ำ

3. การบริหารจัดการของเสียและมลพิษ

4. การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

 

มิติสังคม

5. การปฏิบัติต่อแรงงาน / พนักงาน

6. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า

7. การพัฒนาสังคมชุมชน

 

มิติบรรษัทภิบาล

8. การกำกับดูแลกิจการที่ดี

9. การบริหารความเสี่ยง

10. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

11. นวัตกรรมองค์กร

SCGP มอบ “กระดาษไอเดียและกระดาษสุพรีม” สนับสนุนหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19

คุณวิชาญ เจริญกิจสุพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการเยื่อและกระดาษ SCGP นำทีมผู้บริหารและตัวแทนจำหน่ายกระดาษถ่ายเอกสาร บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ใน SCGP ร่วมมอบกระดาษถ่ายเอกสารแบรนด์ไอเดีย และแบรนด์สุพรีม จำนวนรวมกว่า 9,000 รีม ให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วประเทศไทย มากกว่า 25 แห่ง เพื่อนำไปใช้เก็บข้อมูลของผู้เข้ารับบริการ และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่าง ๆ ภายในหน่วยบริการ โดยได้ทำการส่งมอบแล้วให้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หน่วยบริการฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพ โรงพยาบาลบ้านโป่ง ศูนย์ฉีดวัคซีนขอนแก่น โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลนครพิงค์

SCGP ยังคงเดินหน้าในการสนับสนุน ช่วยเหลือ และส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทุกคนให้ร่วมกันก้าวผ่านความท้าทายในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน

Mini SK8 Shelf ชั้นวางบอร์ดกระดาษ พกพาง่าย ดีไซน์สุดคูล

Mini SK8 Shelf ชั้นวางบอร์ดดีไซน์สุดคูล สร้างสรรค์จากนวัตกรรมที่ทำให้กระดาษแข็งแรงเทียบเท่าวัสดุไม้ แต่นํ้าหนักเบากว่า สร้างลูกเล่นสุดครีเอทีฟได้หลากหลาย ออกแบบภายใต้แบรนด์ KUFF แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ทำจากกระดาษจาก SCGP ออกแบบมาเพื่อสายเซิร์ฟสเก็ตโดยเฉพาะ สามารถวางบอร์ดได้อย่างทนทานแข็งแรง รับน้ำหนักได้มากถึง 110 กิโลกรัม ดีไซน์โดดเด่นสวยงาม ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่สวยงามแตกต่าง เหมาะกับการจัดเก็บบอร์ดที่บ้าน ทำให้มุมวางบอร์ดของคุณไม่น่าเบื่อ หรือจะพกพาไปเซิร์ฟกับเพื่อนสายสตรีทของคุณได้ทุกที่ เพราะทำจากกระดาษเคลือบกันน้ำ ทำให้น้ำหนักเบา พกพาสะดวก สามารถถอดประกอบได้ง่าย

  • สามารถวางบอร์ดได้ทุกประเภท ทั้งสเก็ตบอร์ด (Skateboard) เสิร์ฟสเก็ต (Surfskate) และลองบอร์ด (Longboard)
  • แข็งแรงทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 110 กิโลกรัม
  • ผลิตจากกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • น้ำหนักเบา (น้ำหนักโดยรวม 1.2 กิโลกรัม)
  • ประกอบและติดตั้งได้ง่าย สามารถถอดชิ้นส่วนเก็บใส่กล่องได้เมื่อไม่มีการใช้งาน จึงช่วยประหยัดพื้นที่
  • ผ่านการเคลือบด้วยสติกเกอร์ด้านกันน้ำ เพิ่มความทนทานในการใช้งาน เช่น ในกรณีน้ำหก สามารถเช็ดออกได้โดยไม่ทำให้ผิวเก้าอี้เสียหาย
  • พิมพ์ด้วยระบบ Digital Print มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ตามมาตรฐานสากล (REACH, RoHS3, Green Guard Gold, EN71 Toy Directive)
  • อายุการใช้งานประมาณ 1 ปี ในสภาวะปกติ ที่ไม่สัมผัสความชื้นหรือเปียกน้ำ
  • สินค้า Made to order ใช้เวลาผลิตและจัดส่ง 5-14 วัน

สนใจสั่งซื้อ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Doozy Pack (Facebook: Doozy Pack, Line: @doozypack)

แสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ : มุมมองความคิด เพื่อก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

บนเส้นทางแห่งประสบการณ์กว่า 30 ปี

ตั้งแต่เรียนจบเมื่อปี 2530 พี่แสงเริ่มต้นชีวิตการทำงานกับบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด (โรงงานบ้านโป่ง) ในตำแหน่งวิศวกรทางด้านงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อมาได้รับมอบหมายดูแลงานด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม รวมเวลาที่อยู่โรงงานบ้านโป่งทั้งหมด 15 ปี ก่อนจะย้ายไปดูแลงานด้านการผลิตที่โรงงานวังศาลาเมื่อปี 2546 หลังจากนั้นกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงงานบ้านโป่งและวังศาลาตามลำดับ จนกระทั่งปี 2556 ได้ไปปฏิบัติงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรก

 

“พี่ย้ายไปประจำที่ Vina Kraft Paper Co., Ltd. ประเทศเวียดนาม ตอนนั้นเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก อยู่ที่นั่นได้ 3 ปี จึงตัดสินใจขยายกำลังการผลิต เพิ่มเครื่องผลิตกระดาษเครื่องที่ 2 โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานของยุโรปกับจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งโครงการสำเร็จลุล่วงเร็วกว่ากำหนดไว้ถึง 5 เดือน จากนั้นในปี 2561 กลับมาดูแลงานในประเทศไทย เป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการกระดาษบรรจุภัณฑ์ SCGP จนถึงตอนนี้ครับ”

 

 

4 แนวทางพื้นฐานการทำงานเป็นทีม

 

30 กว่าปีที่ผ่านมา งานเริ่มแรกของพี่แสงคือ การดูแลหน้างานต่าง ๆ เน้นเรื่องการบริหารจัดการประสิทธิภาพการผลิตเฉพาะพื้นที่ เมื่อเปลี่ยนมาสวมบทบาทเป็นผู้บริหาร วิธีการทำงานจึงเปลี่ยนเป็นการดูภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

 

“งานหลักของพี่คือ การบริหารงานและการประสานงานระหว่างบริษัทที่ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ให้ดำเนินงานกันแบบ Synergy เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท โดยแนวทางที่พี่ใช้มาตลอดคือ

 

1. Teamwork – การทำงานร่วมกันเป็นทีม ต้องมีการพูดคุยและนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง และนำทั้งหมดมาประมวลผลจนได้ข้อสรุปซึ่งดีและรวดเร็วกว่าการคิดและทำคนเดียว

2. Common Goal – การยึดเป้าหมายร่วมกัน และมองภาพงานแบบองค์รวม (Holistic Viewpoint จะช่วยให้ทำงานร่วมกันในลักษณะที่เป็น Collaboration และ Synergy เพื่อประโยชน์สูงสุดและเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ได้ง่ายขึ้น

3. Cheer Up – ส่งสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาเพื่อให้งานดำเนินจนถึงเป้าหมาย และจัด Small Win เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและชมเชยทีมงานเมื่อสำเร็จตามเป้าหมาย

4. Challenge – การสร้างความท้าทายให้ทีมได้คิดและทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

 

การดูแลทีมในช่วงโควิดนี้ โอกาสมาเจอกันจะน้อยลง บริษัทช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้ทีมสามารถทำงานแบบออนไลน์ เพื่อให้งานทุกอย่างสามารถเดินต่อไปได้โดยเกิดอุปสรรคน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืน

 

SCGP ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ESG เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยนำเอาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนพื้นฐานมาเป็นตัวกำหนดทิศทาง และปรับสมดุลให้เกิดขึ้น ซึ่งพี่แสงได้ถ่ายทอดแนวคิดและการนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้าใจมากขึ้น

 

“เราต้องสร้างความสมดุลภายใต้แนวคิด ESG ใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องทำให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อากาศ หรือของเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ต้องบริหารการใช้งานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

“มิติด้านสังคม เราต้องดูแลทั้งลูกค้า คู่ค้า รวมไปถึงพนักงานและชุมชนใกล้เคียง เราต้องใส่ใจ พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เห็นถึงแนวทางที่จะทำงานร่วมกัน ต้องรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ชุมชนต้องการพัฒนาเรื่องอะไร แล้วเอาสิ่งที่เราถนัดไปเสริมให้เกิดการพัฒนาตามความต้องการของชุมชน เช่น ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ชุมชนมีสินค้าอยู่แล้ว เราเข้าไปช่วยหาช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลายให้ สร้างรายได้แก่ชุมชน

 

“นอกจากนี้ เราดูแลโรงงานให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชนได้ดียิ่งขึ้น เหมือนกับเราอยู่บ้าน ก็ต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้จะทำให้องค์กรสามารถเติบโตและพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

 

“มิติสุดท้ายคือ การทำงานแบบบรรษัทภิบาล ที่ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและต่อยอดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้านการพัฒนาสินค้าหรือปรับปรุงกระบวนการการผลิต เราก็ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าของเราตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น บรรจุภัณฑ์เพื่อบรรจุสินค้าเกษตร ให้คงคุณภาพและความสุดของสินค้า”

 

หาความรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

“สำหรับพี่ หลักคิดในการพัฒนาตัวเองที่ใช้มาโดยตลอดคือ เราต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต ผู้มีประสบการณ์ หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อหามุมมองในด้านอื่นมาเสริม ช่วยปรับและเติมเต็มวิธีการทำงานของเราให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทุกวันหลังเลิกงานพี่จะทบทวนสิ่งที่เราทำไปในวันนี้ มีอะไรที่เราคิดว่าทำได้ดีและอะไรที่ยังพัฒนาได้อีกและเอามาปรับปรุงการทำงานในวันต่อ ๆ ไป จะทำให้เราพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดครับ”

 

การทำงานในปัจจุบัน Data Analytic และ Automation เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

 

“ส่วนการทำงานให้มี Speed ที่รวดเร็วขึ้นควบคู่ไปกับคุณภาพที่ดี เราต้องใช้ Data มาวิเคราะห์โดยใช้หลักของ Automation เข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Machine Learning หรือ AI สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถต่อยอดการผลิตและบริการต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการนำนวัตกรรมเข้ามาเสริมจะช่วยให้เกิดสิ่งใหม่กว่าที่เคยทำ

 

“ท้ายสุดนี้ พี่ๆ ขอฝากพวกเราทุกคนให้ร่วมมือกัน ลงมือทำเป็นทีมอย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง เพื่อให้งานทุกอย่างประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไปด้วยกันนะครับ”

“โปรเม” กับแรงบันดาลใจ…สร้างได้ ส่งต่อได้

เพราะแรงบันดาลใจคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงมือทำ ประกอบกับความมุ่งมั่นผลักดันให้ผลงานสำเร็จซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา

 

วันนี้เราขอหยิบยกตัวอย่างความสำเร็จของโปรเม – เอรียา จุฑาณุกาล โปรกอล์ฟหญิงไทยที่ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 21 ปี และล่าสุดคว้าแชมป์ Honda LPGA Thailand 2021 นับเป็นคนไทยคนแรกที่คว้าชัยชนะในรายการนี้ ซึ่งสนามนี้โปรเมเกือบคว้าแชมป์ LPGA ครั้งแรกในชีวิตในปี 2013 แต่พลาดในวันสุดท้าย ด้วยความมุ่งมั่นทำให้เธอกลับมาคว้าแชมป์สนามเดิมในปีนั้นได้ นี่คือบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นต่อแรงบันดาลใจของโปรเม

 

Mindset ที่สร้างความสำเร็จ

นอกจากการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากครอบครัวและการมุ่งมั่นฝึกซ้อม ก็คือ Mindset ที่ดี เป้าหมายในการเล่นกอล์ฟของโปรเมเริ่มต้นจากการเล่นให้มีความสุข อยากดูแลครอบครัวให้ดีด้วยการเป็นนักกีฬาอาชีพ เธอมุ่งมั่นและจริงจังจนก้าวสู่การเป็นโปรกอล์ฟหญิงอันดับ 1 ของโลกในปี 2017 แต่เมื่อถึงเป้าหมายกลับพบว่าไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิดแรงกดดันมากมายทำให้ผลงานของเธอไม่ดีเหมือนเดิม จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอได้นิยามคำว่า “เป้าหมาย” ของตัวเองใหม่ ระหว่างที่กลับไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่เธอให้การสนับสนุน เธอตั้งเป้าที่จะก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสร้างบ้านให้กับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งสิ่งนี้เองโปรเมคิดว่าจะเป็นจริงได้หากเธอกลับมาเป็นมือ 1 ของโลกอีกครั้ง

 

กระทั่งกลางปี 2018 เธอทำสำเร็จเป็นครั้งที่สอง ซึ่งในครั้งนี้เธอมีความรู้สึกที่แตกต่างไปจากครั้งแรก โปรเมเล่าว่าการเป็นมือ 1 ของโลกในครั้งนี้คือ ความภูมิใจที่ได้ช่วยเด็ก ๆ อีกจำนวนมาก และคุณค่าของเป้าหมายครั้งนี้สำคัญมากพอสำหรับตัวเธอ

 

“เมรู้สึกว่าความหวังเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุก ๆ ครั้งที่เมลงไปเล่นแล้วหวังถึงผลลัพธ์ มันไม่เคยทำให้เมตีกอล์ฟได้ดีขึ้นหรือมีความสุขเลย แต่วันไหนที่เมโฟกัสกับตัวเองแล้วหวังว่าวันนี้จะทำอะไรให้ภูมิใจในตัวเอง และอยู่กับมันจริง ๆ ผลที่ตามมามักจะเกินกว่าที่เราหวังเสมอ

 

พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจ

 

กว่าจะเป็นโปรเมในวันนี้ เธอต้องพบเจอความท้าทาย อุปสรรค และความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง แต่สิ่งที่ช่วยให้เธอก้าวข้ามช่วงเวลานั้นมาได้คือ ทัศนคติในการใช้ชีวิตที่ดี เข้าใจธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลง วันนี้มีความสุข พรุ่งนี้อาจจะทุกข์ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติ มองปัญหาให้เป็นแบบทดสอบ ทำให้ชีวิตเข้มแข็งขึ้นและจัดการกับความคาดหวังของตัวเองให้ได้

 

เธอบอกกับตัวเองว่าความสำเร็จต้องเริ่มจากศูนย์ หากวันนี้จะต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่าจะมีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง เธอจะมองให้เป็นเหตุและผลของชีวิตและสนุกไปกับทุก ๆ อย่างในวันที่รู้สึกท้อแท้ อยากยอมแพ้ ก็จะคิดถึงคุณค่าของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และเชื่อมั่นในตัวเองไม่เปรียบตัวเองกับคนอื่น เพราะจังหวะชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน

 

ความสำเร็จในระดับโลกของโปรมยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักกอล์ฟ เยาวชนหญิงรุ่นถัดมาอีกหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ โปรจีน – อาฒยา ฐิติกุล ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อกีฬาอย่าง “กอล์ฟ ชาแนล” เอาไว้เมื่อปี 2017 ว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอไม่ย่อท้อต่อการฝึกอย่างหนักคือ การได้รู้จักกับรุ่นพี่อย่างโปรเม และได้รู้ว่าความสำเร็จที่ได้มานั้นไม่ง่ายเลย โปรรุ่นพี่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย ครอบครัวต้องยอมขายทุกอย่าง เพื่อนำมาเป็นทุนสนับสนุนในการเล่นกอล์ฟ แม้จะมีช่วงเวลาที่ผิดหวังจนท้อบ้าง แต่เขาก็ไม่เคยถอย และสู้มาตลอดเพื่อครอบครัวจนประสบความสำเร็จอย่างวันนี้ โปรจีนจึงกลับมาบอกตัวเองว่า ในเมื่อครอบครัวเธอก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ไม่ต่างกัน ตัวเธอก็ต้องประสบความสำเร็จได้ และเป็นแรงผลักดันให้ขยันฝึกซ้อมอย่างตั้งใจและมีวินัยในตัวเอง เพื่อตอบแทนสิ่งที่พ่อแม่เหนื่อยและเสียสละทุกอย่างเพื่อเธอ ทุก ๆ ช็อตที่ตีในสนามเธอจะนึกถึงพ่อแม่เสมอ ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างการส่งต่อ

แรงบันดาลใจของโปรเม ที่ทำให้ความสำเร็จครั้งใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ

 

“ไม่มีใครเชื่อมั่นในตัวเรา แต่ก็มี SCG ที่เชื่อมั่นในตัวเรา ทำให้เรามีกำลังใจที่จะออกไปต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรค เพราะนอกจากเราจะเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว ยังมีคนที่เชื่อมั่นในตัวเรามากกว่าอีก ก็เป็นครอบครัว SCG มาตลอด และวันนี้ก็มี SCGP ที่มาเชื่อมั่นในตัวเราอีก ต้องขอบคุณมาก ๆ ค่ะ”

 

 

– เส้นทางความสำเร็จ –

  • ปี 2000     เมอายุ 5 ปี เริ่มหัดเล่นกอล์ฟ โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ฝึกสอน
  • ปี 2003     อายุ 8 ปี คว้าอันดับ 2 รายการJunior World ที่สหรัฐอเมริกา
  • ปี 2012     เข้าสู่การเล่นกอล์ฟอาชีพเป็นครั้งแรก
  • ปี 2013     มีสปอนเซอร์สนับสนุนมากขึ้น และเริ่มสะสมเงินรางวัลจากการแข่งขันกอล์ฟจนเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างที่ตั้งใจไว้ หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เมบาดเจ็บขณะฝึกซ้อมจนหัวไหล่หลุด ทำให้ต้องใช้เวลาปรับวงสวิงเพื่อกลับมาลงสนามแข่งได้อีกครั้ง
  • ปี 2015     ไม่ผ่านการตัดตัวถึง 10 รายการติดกัน จนท้อถึงขั้นคิดเลิกเล่นกอล์ฟ
  • ปี 2016     ด้วยความมุ่งมั่น จนในที่สุดได้รับรางวัลผู้เล่น ยอดเยี่ยมแห่งปี (Rolex Player of the Year) และรางวัลผู้ทำงินรางวัลสูงสุดของ LPGA
  • ปี 2017     ก้าวสู่การเป็นนักกอล์ฟหญิงมือ 1 ของโลกเป็นครั้งแรก
  • ปี 2018     สร้างประวัติศาสตร์กวาดทุกรางวัลใหญ่ของกอล์ฟ LPGA Tour รางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปี (Rolex Player of the Year) รางวัลผู้ทำมินรางวัลสูงสุดของ LPGA และถ้วย Vare Trophy ในฐานะคนทำคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดของฤดูกาล
  • ปี 2019     เรื่องราวชีวิตของโปรเมและ โปรโม (พี่สาว) ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ

 

ขอบคุณข้อมูล: www.thairath.co.th, www.msn.com, www.youtube.com

 

บริการด้วยใจ ให้มากกว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

วันนี้เรามีโอกาสได้มาพบกับทีมผู้รับผิดชอบในการจัดจำหน่าย Fest ทั้งทางออฟไลน์ผ่านหน้าร้าน Fest Shop และช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาร่วมแชร์แนวคิดและวิธีการทำงานที่พวกเขาใช้มัดใจ

ลูกค้าและสามารถเพิ่มยอดขายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย Fest ให้มากขึ้นแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

 

“พี่ดูแลงานขายหน้าร้าน Fest Shop ค่ะ ถือเป็นจุด Touch Point ของแบรนด์กับลูกค้าเลย เราต้องแนะนำสินค้าให้ตรงกับการใช้งานและสร้างความประทับใจแรกให้กับลูกค้าที่เข้ามาหา เพราะแค่ลูกค้าแวะมาที่ร้านก็เป็นโอกาสสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้ลูกค้าได้แล้ว และเรายังมีโอกาสนำเสนอข้อมูลสินค้าให้ลูกค้าพิจารณา รับรู้ความต้องการของลูกค้าได้

 

“นอกจากงานขายเรายังสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเหมือนญาติมิตรด้วย ซึ่งการพูดคุยกับเขาทำให้รู้สถานการณ์ตลาดและความต้องการเชิงลึกของลูกค้าได้ งานบริการและ Service Mind ของทุกคนจึงสำคัญมาก ต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเต็มที่ บางครั้งลูกค้ามาคนเดียวไม่สามารถขนของขึ้นรถได้ เร้ราก็จะช่วยขนของให้ลูกค้า เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ลูกค้าจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการให้บริการ ลูกค้าบางรายซื้อของจนสนิทสนมกัน และทั้งหมดนี้เราทำด้วยรอยยิ้ม ด้วยใจบริการเมื่อลูกค้ารับรู้ถึงความจริงใจก็จะกลับมาเป็นลูกค้าเราอย่างต่อเนื่อง

 

“แนวคิดหรือ Mindset ที่ผลักดันให้เราตอบโจทย์ลูกค้าได้คือการบริการเกินความคาดหวังของลูกค้าด้วยความจริงใจ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ให้ความเป็นกันเองอย่างสุภาพในทุกสถานการณ์ดูแลลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียม รับฟังลูกค้าให้มากกว่าพูด และตอบให้ชัดเจน ลูกค้าบ่นแปลว่าลูกค้ายังรักเรา ถึงมาบอกว่าอยากให้เราปรับปรุงอะไร จะได้ดีขึ้น ถ้าลูกค้าไม่รักหรือไม่อยากใช้สินค้าเราแล้ว เขาจะหายไปเลย”

 

จิรมณฑ์ ปีติอิทธิวัฒน์ (เป้)

Omni Channel Staff

 

 

 

 

 

 

 

“งานของบุ๊คจะอยู่ในออนไลน์เป็นหลักโดยมีช่องทางทั้ง Facebook, LINE Official และเว็บไซต์ ซึ่งจะได้คุยกับลูกค้าผ่านทางตัวอักษร มากกว่า จึงต้องใช้ความรอบคอบค่อนข้างมากเพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาด ต้องเลือกใช้คำให้เหมาะสมและพยายามทำให้เขารู้สึกให้ได้ว่าเรายินดีบริการ ตอบคำถามอย่างเป็นกันเองแต่สุภาพใส่ความสนุกสนานเข้าไปในงาน ซึ่งพี่ ๆ ก็เปิดโอกาสให้เราได้คั้นหาและทดลองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา

 

“ในส่วนของเว็บไซต์ เราต้อง Balance ระหว่างหน้าตาเว็บไซต์ที่สวยงามและดึงดูดให้เข้าเยี่ยมชม กับความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ เพราะถ้าสวยมากโหลดช้าลูกค้าจะไม่รอ ถ้าขั้นตอนยุ่งยากหลายหน้า หลายคลิก ลูกค้าจะเลิกดู และต้องสังเกตคำถามที่ลูกค้าถามบ่อย เพื่อนำมาปรับปรุงในจุดนั้น และครั้งหน้าลูกค้าจะสั่งซื้อโดยไม่มีคำถาม

 

“ความท้าทายของงานนี้คือ เราต้องแข่งกับเวลาและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หากช้ำเราอาจเสียโอกาสในการขาย เราต้องเข้าใจลูกค้าและสถานการณ์ตลาด คิดโปรโมชันที่ทันสถานการณ์ เน้น Real Time Marketing ตอบสนองทันทีเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย โปรโมชัน ต้องหลากหลาย แต่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย สื่อต่าง ๆ ต้องดึงดูดลูกค้า ให้แวะเข้ามาที่ร้านหรือคลิกเข้าเว็บไซต์ของเราให้ได้ เพราะนั้นคือโอกาส

 

“นอกจากนี้ยังต้องมองหาความเป็นไปได้ในการพัฒนา เราจึงมีโจทย์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา มีการทดลองทำอะไรเพิ่มเติมอยู่เสมอ และพี่ ๆ ก็เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากการลงมือทำอยู่ตลอด

 

“การทำออนไลน์ช่วยให้เราได้ฟังเสียงลูกค้าได้จำนวนมาก ดังนั้นทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องใส่ใจให้มากเป็นพิเศษและไม่ปล่อยผ่านเพราะถือเป็นข้อมูลที่ดีในการนำไปปรับปรุงสินค้าและบริการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น”

 

 

สุธารา รักษา (บุ๊ค)

Omni Channel Executive

SCGP จับมือ PTG ส่งเสริมให้ผู้บริโภครักษาสิ่งแวดล้อม เปิดจุดรับเศษกระดาษและขวดพลาสติกเหลือใช้ ที่สถานีบริการน้ำมัน PT

SCGP จับมือ PTG ส่งเสริมให้ผู้บริโภครักษาสิ่งแวดล้อม

เปิดจุดรับเศษกระดาษและขวดพลาสติกเหลือใช้ ที่สถานีบริการน้ำมัน PT

 

SCGP โดย คุณกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน และ PTG โดย คุณสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอลิมปัส ออยล์ จำกัด ร่วมเป็นพันธมิตรส่งเสริมให้ผู้บริโภครักษาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ด้วยการคัดแยกเศษกระดาษและขวดพลาสติก PET เหลือใช้ นำมาส่งที่ SCGP reXycle Drop Point ในสถานีบริการน้ำมัน PT ใกล้บ้าน เพื่อส่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรีไซเคิลได้ด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์จากกระดาษรีไซเคิลที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง เสื้อผ้าใยสังเคราะห์จากขวด PET รีไซเคิล เป็นต้น

สามารถร่วมโครงการได้ที่สถานีบริการน้ำมัน PT ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีสาขานำร่อง 5 สาขา ได้แก่

  1. สาขา ถ.กาญจนาภิเษก กม.18
  2. สาขา หนองแขม ถ.เพชรเกษม 81
  3. สาขา ถ.จันทน์ 1
  4. สาขา คลองหลวง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
  5. สาขา ประตูน้ำพระอินทร์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

 

“ร่วมจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ช่วยให้ทรัพยากรได้หมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”

SCGP รุกตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L. ประเทศสเปน

SCGP เดินหน้ากลยุทธ์การให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร ด้วยการขยายธุรกิจครั้งสำคัญเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) รับเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยลงนามสัญญาเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L. ประเทศสเปน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในยุโรป เพิ่มพอร์ตสินค้ามูลค่าสูง เสริมศักยภาพการให้บริการและ    การเติบโตของ SCGP ในระดับโลก

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ปัจจุบันหนึ่งในเทรนด์ของโลกสำหรับผู้บริโภคคือความสนใจดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการในการตรวจและวินิจฉัยโรคสูงขึ้นทั่วโลก เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและการแพทย์ จนกลายเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8.1 แสนล้านบาท) ในยุโรป และประมาณ 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7-9 ต่อปี*

ตามแผนกลยุทธ์ของ SCGP ที่มุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร ด้วยการขยายไปยังธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และการมุ่งขยายในธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ สุขภาพและการแพทย์ SCGP จึงรุกเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยการนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาต่อยอด ด้วยการลงนามสัญญาเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L. (หรือ Deltalab) ประเทศสเปน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยธุรกรรมจะเสร็จสิ้นประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

Deltalab, S.L. ตั้งอยู่ที่ประเทศสเปน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงในยุโรป โดยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 15,000 รายการ (SKUs) และมีกำลังการผลิต 250 ล้านชิ้นต่อปี ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ประกอบด้วย  ถ้วยเก็บตัวอย่างของเหลวจากร่างกาย หลอดสุญญากาศสำหรับถ่ายเทตัวอย่าง (Liquid containers and tubes for vacuum system) หลอดเก็บตัวอย่างเลือด (Traceable blood collection tube set for Haematology) หลอดขนาดเล็กสำหรับงานวิเคราะห์พันธุกรรม (Microtubes and flexible plates for real time PCR) หลอดปิเป็ตขนาดต่าง ๆ สำหรับถ่ายเท ตวง ของเหลว (Various types of pipettes for liquid handling) ตู้แช่แข็งเก็บวัคซีนและตัวอย่างทางพันธุกรรม (Cold (Cryogenic) storage system for vaccine and Molecular Biology) ชุดตรวจสวอบ (Swab test set) ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มที่เน้นความปลอดภัยและสุขอนามัย (Hygine & Safety industrial packaging) เป็นต้น โดยมีการส่งออกสินค้าไปยัง 125 ประเทศทั่วโลก ในปี 2563 Deltalab, S.L. มีรายได้ 72.7 ล้านยูโร (ประมาณ 2,800 ล้านบาท) และมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 54.3 ล้านยูโร (ประมาณ 2,100 ล้านบาท)

“การเข้าลงทุนในตลาดด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์นี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญของ SCGP ในการนำศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ตลอดจนการผลิตกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง มาต่อยอดสู่ธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare and Medical Business) ทั้งความรู้ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่คล้ายกัน การวิจัยและพัฒนาในระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ ฯลฯ ที่สามารถส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว”

“SCGP ดำเนินการตามกลยุทธ์ในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ของ SCGP และเพิ่มมูลค่าจากฐานลูกค้าร่วม รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการสู่ระดับโลก อันเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับแผนการขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและการแพทย์ในทวีปเอเชีย ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มของ SCGP ต่อไปในระยะยาว” นายวิชาญ กล่าวเพิ่ม

* ข้อมูลจาก LEK Consulting (ปี 201924F)