SCGP Newsroom

โอกาสลงทุนยุค New Normal

ถ้าถามว่ามีธุรกิจอะไรบ้างที่ยังเติบโตในช่วงวิกฤต COVID-19?

หลายคนคงนึกถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) หรือธุรกิจบริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) ซึ่งเห็นชัดว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่เป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ตโฟน จนกระทั่งการเกิดวิกฤตใหญ่ COVID-19 ทำให้คนทุก Generation จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการหันมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ สินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัย (Healthcare) ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่หลายคนนึกถึง เพราะจะเห็นว่าผู้คนได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความสะอาดเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และหน้ากากอนามัยที่มีความต้องการใช้พุ่งสูงจนกลายเป็นสินค้าหายากในช่วงเวลาหนึ่ง

ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานและมีศักยภาพเติบโตไปกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ นั่นคือ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งกำลังจะมีผู้ผลิตและให้บริการบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

‘บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’ (“SCGP” หรือ “บริษัทฯ”) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

SCGP เป็นธุรกิจ 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (“SCC”) ซึ่งเมื่อดูผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรก 2563 พบว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สามารถสร้างการเติบโตท่ามกลางวิกฤต COVID-19 จากการเป็นธุรกิจที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค สำหรับธุรกิจของ SCGP แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ประกอบด้วย สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) โดยปัจจุบันมีบรรจุภัณฑ์ครอบคลุมและหลากหลาย และมีฐานการผลิต 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ SCGP ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทำให้บรรจุภัณฑ์ของบริษัทฯ สามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ SCGP มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ โดยปัจจุบันสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

การทำธุรกิจคงไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะสังคมและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ วัน SCGP จึงวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรจุภัณฑ์และโซลูชันของ SCGP มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภคด้วย อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ Optibreath สำหรับบรรจุผักและผลไม้สดซึ่งช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาได้นานขึ้น จึงตอบโจทย์ทั้งด้านผู้ประกอบการที่สามารถเก็บรักษาสินค้าให้นาน ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากอาหารที่เน่าเสียอีกด้วย

ในส่วนภาพรวมครึ่งปีแรกที่เกิดภาวะโรคระบาดใหญ่หรือ Pandemic จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกนั้น SCGP ยังคงมีตัวเลขการเติบโตโดดเด่น จากแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นแพคเกจจิ้งสำหรับ B2B2C ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบรวมถึงพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์แก่ลูกค้าแบบเฉพาะรายและร่วมทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแรงและได้รับคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40

ปัจจุบัน SCGP มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิตรวม 4 โรงงาน ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 8,200 ล้านบาท โดยจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563-2564 และอยู่ระหว่างการเข้าซื้อกิจการโรงผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกรายใหญ่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพให้ SCGP สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น

เร็ว ๆ นี้ SCGP เตรียมนำบริษัทฯ เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127,550,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของจํานวนหุ้นสามัญที่ออกและชําระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 169,130,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจ ด้วยการขยายกำลังการผลิต (Organic) การควบรวมกิจการแบบ Merger & Partnership (Inorganic) ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หนังสือชี้ชวนในเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. หรือเว็บไซต์ www.scgpackaging.com

แหล่งข้อมูล
(1) รายงานการวิจัยทางการตลาดแบบอิสระของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน
(2) ร่างแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ SCGP ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th

SCGP ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

มีหุ้นที่กำลังจะ IPO ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ และนักลงทุนน่าจะอยากทำความรู้จักมากขึ้น ผมขออาสาพาไปรีวิวดูในภาพรวมทั้งหมดที่คุณควรจะรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะตอน IPO หรือหลังจากที่หุ้นเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็ตาม บริษัทนี้ก็คือ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตัวย่อในตลาดที่เราจะเห็นกันก็คือ “SCGP” นะครับ มีอะไรบ้างที่คุณต้องรู้ เราไปดูกัน

SCGP ทำธุรกิจอะไร?

SCGP เป็นผู้ผลิตและให้บริการบรรจุภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเอสซีจี (SCC) โดยดำเนินธุรกิจใน 5 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย 2 สายธุรกิจหลัก คือ

  1. สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) ซึ่งมี
    1. บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-Based Packaging)
    2. กระดาษบรรจุภัณฑ์ (Packaging Paper)
    3. บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging)

  2. สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) คือ จำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร (Food Service Products) และผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ (Pulp and Paper Products)

    โดยสัดส่วนรายได้ของทั้ง 2 สายธุรกิจก็ตามนี้ครับ

    หมายเหตุ:
    คำนวณเป็นร้อยละของรายได้รวมจากการขายของบริษัทฯ
    ข้อมูลตามส่วนงานแต่ละส่วนของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรนำมาจากข้อมูลทางการเงินสำหรับผู้บริหารที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ
    สุทธิจากการตัดรายการระหว่างสายธุรกิจ

สายธุรกิจหลักอย่างบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรมีรายได้ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่สายธุรกิจเยื่อและกระดาษมียอดขายที่ลดลงเนื่องจากความต้องการกระดาษพิมพ์เขียนลดลง

ทำไม SCGP จึงเป็นธุรกิจดาวรุ่ง (Rising Star) ของ SCC และกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

หลายคนอาจจะทราบอยู่แล้วว่า SCC ประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเคมิคอลส์, ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และสุดท้ายคือ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP นั่นเอง ซึ่งรายได้ของ SCGP เมื่อเทียบกับภาพรวมในเอสซีจีนั้นมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 23

จากอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไร ขอสรุปปัจจัยหลัก 4 ข้อคือ

  1. จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ในช่วงที่ผ่านมาทำให้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
  2. 69% ของรายได้ SCGP ในครึ่งปีแรกของปี 2563 มาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ธุรกิจของ SCGP จึงไม่ใช่แค่การจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหรือ B2B แต่ถือเป็นธุรกิจแบบ B2B2C ที่พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภคด้วย
  3. SCGP เร่งการเติบโตให้แก่ธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์การควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership – M&P)
  4. วันนี้ SCGP คือบริษัทชั้นนำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว การเข้า IPO ก็ถือเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งเพื่อขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในข้อสามนี้น่าสนใจนะครับ เพราะจาก Track Record การเติบโตในอดีตของ SCGP จะพบว่า SCGP ขยายธุรกิจและเพิ่มการเติบโตผ่านกลยุทธ์ Merger and Partnership (M&P) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา SCGP มีการลงทุน M&P มากถึง 18 โครงการ และในปี 2562 ปีเดียว SCGP ใช้เงินลงทุนในการ M&P 2 โครงการราว 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้นำด้านกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบคงรูปชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสการเติบโตทางธุรกิจได้ดีมากขึ้นไปอีก

และจากกลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ SCGP มีฐานการผลิตกว่า 40 โรงงาน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ซึ่งข้อมูลจาก Frost & Sullivan ระบุว่า SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
แสดงว่า SCGP ต้องการโตในต่างประเทศมากขึ้นใช่ไหม?

ถ้าดูจากสัดส่วนรายได้แบ่งตามประเทศลูกค้า จะพบว่า ยอดขายเกินกว่า 50% ยังอยู่ในประเทศไทย (จากรูปด้านล่าง)

โดยกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาวของ SCGP ก็คือ นำรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปขยายในต่างประเทศ โดยใช้กระบวนการบูรณาการทั้งในแนวตั้งคือเพิ่มความแข็งแกร่งระหว่างปลายน้ำกับต้นน้ำ และแนวนอนคือการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่าง SCGP กับลูกค้าและมีส่วนร่วมกับลูกค้าในด้านต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

SCGP ถือหุ้นโดย SCC เป็นส่วนใหญ่?

ใช่ครับ รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนและหลังการ IPO ครั้งนี้ ก็ตามนี้เลย

ซึ่งเมื่อดูจากตารางก็แปลว่า ก่อนหน้าการ IPO ครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ SCC เกือบทั้งหมด โดย SCGP จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127.55 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 169.13 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ ทำให้สัดส่วนนักลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 29.32 ภายใต้สมมติฐานว่ามีการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนเกินทั้งจำนวน

จุดแข็งของ SCGP คืออะไร?

จุดแข็งข้อแรกก็คือ การที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง ในเกือบทุกอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากบริษัทต่าง ๆ ที่นับได้ว่าเป็น Big Player ในแต่ละอุตสาหกรรม โดย SCGP ทำหน้าที่เป็นคู่คิดที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาโซลูชันให้กับลูกค้า อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว Optibreath ที่ช่วยยืดอายุสินค้าประเภทผักและผลไม้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่ออายุผลิตภัณฑ์หรือ Shelf life ยาวนานขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้แก่เจ้าของสินค้าด้วย

พอไปดูยอดขายของบริษัทลูกค้าของ SCGP แต่ละราย ไม่ว่าจะอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจขนส่ง ก็พบว่ามีศักยภาพในการเติบโตและไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 มาก

และหากมองภาพใหญ่ระดับโลกจะพบว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนยังมีพัฒนาการตามหลังประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้มีอัตราการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ต่อประชากรสูงกว่าอาเซียนถึง 2-3 เท่า ดังนั้น ในภูมิภาคอาเซียนที่ตอนนี้มีประชากรเกือบ 650 ล้านคน จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโตได้อีกมากสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความแข็งแกร่งของ SCGP คือ การมีโรงงานฐานการผลิตกว่า 40 แห่งที่กระจายตัวอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย จึงมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้ลูกค้า สามารถตอบโจทย์ทั้งลูกค้าในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงบรรษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับภูมิภาคที่มีโรงงานผลิตอยู่ในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ระดมทุน IPO ครั้งนี้ เอาไปทำอะไร?

SCGP แสดงวัตถุประสงค์ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ไว้ว่า เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจด้วยการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ (Organic) และ/ หรือการควบรวมกิจการ (Inorganic) ซึ่งโครงการขยายกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ มูลค่าการลงทุนรวม 8.2 พันล้านบาทและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ก็มีตามนี้ครับ

SCGP โชว์ศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น ระยะเวลาการจองซื้อ 28 กันยายน – 7 ตุลาคมนี้ (ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้จองซื้อ)

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (“SCGP”) ชูศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่าง คาด 4 เมกะเทรนด์หนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนขยายตัวมากขึ้น เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) อีกไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ (กรณีที่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) พร้อมกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดให้จองซื้อในวันที่ 28 กันยายน – 7 ตุลาคมนี้ (ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้จองซื้อ)

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ 9 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด (3) บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (4) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (5) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (6) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (7) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (8) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ (9) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ได้วางกลยุทธ์นำบริษัทฯ รุกขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยชูศักยภาพเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ทั้งแบบอ่อนตัวและแบบคงรูป บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน โดยมีการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งในด้านรูปแบบ คุณสมบัติและวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยมีฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และสินค้าอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน SCGP เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค พร้อมต่อยอดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ปกป้องสินค้า ช่วยสร้างแบรนด์และเพิ่มความโดดเด่นแก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ SCGP ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

“เรามองว่าอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคนและมี 4 เมกะเทรนด์ที่จะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ อัตราการบริโภคบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น” นายวิชาญกล่าว

นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า จากการปรับโมเดลธุรกิจของ SCGP จากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งแบบ B2B B2B2C และ B2C ตลอดจนการเร่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแบบครบวงจรเพิ่มขึ้น การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการเติบโต โดยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้จากการขายรวม 45,903 ล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้มีการระบาดของโรค COVID-19 ปัจจัยเกื้อหนุนมาจากบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย

โดยในปี 2563 บริษัทฯ ได้ทำการเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนามที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ นอกจากนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตอีก 4 โครงการ ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ใช้งบลงทุนรวมกว่า 8,200 ล้านบาท ซึ่งทยอยแล้วเสร็จในปี 2563–2564 ช่วยเพิ่มความสามารถการผลิตบรรจุภัณฑ์และขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และล่าสุดบริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) เพื่อระดมทุนนำมาใช้ขยายธุรกิจ ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ขณะนี้แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบ Filing ของ SCGP มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน SCGP มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ออกและชำระแล้ว 3,126 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,126 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ (ไม่รวมหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน อาจใช้สิทธิซื้อหุ้น IPO จากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นอกจากนี้อาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) จำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายครั้งนี้ (กรณีที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทฯ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (ถ้ามี)

ล่าสุด SCGP ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น จากนั้นจะสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดย กำหนดระยะเวลาจองซื้อของผู้จองซื้อแต่ละประเภท ดังนี้

ผู้ถือหุ้นสามัญของ SCGP ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร, ผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น, ผู้มีอุปการคุณของ SCGP สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2563 (เฉพาะวันทำการ)

ผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1, 2 และ 5 ตุลาคม 2563

บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563

โดยจะต้องจองซื้อที่ราคา 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น (“ราคาจองซื้อ”) อย่างไรก็ตามหากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะมีการคืนเงินค่าส่วนต่างแก่ผู้จองซื้อทุกรายหลังสิ้นสุดการเสนอขาย

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า SCGP เป็นหุ้น IPO ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้นหรือประมาณ 60% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนสถาบัน และสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของ SCGP ที่เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย

ขณะที่ความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะนำหุ้น SCGP เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินแก่ SCGP

ข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) ดำเนินธุรกิจให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในธุรกิจของเอสซีจีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าที่กว้างขวางและหลากหลาย ที่เติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น (Consumer Growth) ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ SCGP ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) และมีคุณภาพสูง ทั้งผลิตภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Packaging Solutions Provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในทุกระดับได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร

หมายเหตุ
การแจกจ่ายเอกสารฉบับนี้ไปยังประเทศหรือเขตอำนาจรัฐอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย อาจเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อจำกัดทางกฎหมายนั้น ๆ เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกจัดทำเพื่อการเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการแจกจ่าย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในหรือไปยังสหรัฐอเมริกา

เอกสารฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือการชักชวนให้เข้าซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ และไม่มีการเสนอขายหรือซื้อหลักทรัพย์ในประเทศหรือเขตอำนาจรัฐใดที่การเสนอขาย การชักชวนการเสนอซื้อ หรือการขายหลักทรัพย์นั้นขัดต่อกฎหมาย หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1933 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (“กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา”) หรือกฎหมายของรัฐใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือว่าทั้งหมดของการเสนอขายหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ในสหรัฐอเมริกา หรือดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา

ข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่เป็นการคาดการณ์ของตลาดหรือแนวโน้มอุตสาหกรรมนอกเหนือจากที่เป็นข้อเท็จจริงในอดีต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองในปัจจุบัน สมมติฐาน การประมาณการ อันมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน จึงมิได้เป็นการรับประกันว่าเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่คาดการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในสมมติฐานหรือปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากการคาดการณ์ดังกล่าว

ตำแหน่งยืนจากภาพ เรียงจากซ้ายไปขวา

  1. คุณวรารัตน์ ชุติมิต
    กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
  2. คุณพิเชษฐ สิทธิอำนวย
    กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
  3. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
    ประธานกรรมการ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  4. คุณวิชาญ จิตร์ภักดี
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  5. คุณกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  6. คุณวศิน ไสยวรรณ
    รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  7. คุณวีณา เลิศนิมิตร
    ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง แนะนำสินค้าใหม่ ฉากกั้น U-SPACE หลากหลายรูปแบบ รองรับวิถีชีวิต NEW NORMAL

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง แนะนำสินค้าใหม่ ฉากกั้น U-space by Doozy Pack ของดีที่ธุรกิจและผู้ประกอบการประเภทต่าง ๆ ต้องมีเพื่อรองรับวิถีชีวิต New Normal ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดย U-Space by Doozy Pack เป็นฉากกั้นที่ทำจากกระดาษลูกฟูก ออกแบบให้มีหลายขนาด และหลายรูปแบบ เช่น ตั้งทรงตัวยู ตัวแอล และตัวไอ เพื่อให้ลูกค้านำไปใช้ได้ในทุกพื้นที่อย่างไม่จำกัด ติดตั้งง่าย สะดวก พับเก็บได้ ไม่เปลืองพื้นที่ อีกทั้งมีลวดลายให้เลือกหลายสไตล์ตามความชอบ นอกจากนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ สามารถเลือกสรรได้แล้ววันนี้ ผู้ที่สนใจแอดไลน์สอบถามได้ที่ @doozypack หรือที่ www.facebook.com/DoozyPack/

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง สนับสนุนถุงกระดาษในโครงการ “รวมพลังใจ สู้ภัยโควิด” ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช สำหรับนำไปใส่ยาให้แก่ผู้ป่วย

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง นำโดย คุณเอกราช นิโรจน์ Marketing Director บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด มอบถุงกระดาษในโครงการ “รวมพลังใจ สู้ภัยโควิด” จำนวน 900 ถุง ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช โดยมี รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นตัวแทนรับมอบ สำหรับนำไปใช้ใส่ยาให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ และใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรคโดยตรง รวมทั้งเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการรับยากลับบ้านอีกด้วย

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและช่วยเหลือสังคมให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดยเอสซีจี ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ติดตั้งที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี เป็นแห่งที่ 14

กาญจนบุรี – 29 พฤษภาคม 2563: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน“ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” เป็นแห่งที่ 14 ให้แก่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ให้บริการผู้ป่วยในเขตจังหวัดกาญจนบุรี 13 อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งเป็นศูนย์รับ-ส่งต่อผู้ป่วยในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และเนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยว รวมทั้งมีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้ในแต่ละวันมีผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามารักษาเป็นจำนวนมาก โดยห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ห่างออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมกับมีระบบฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งสามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน เพื่อให้พร้อมบริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ทันที ยังความปลื้มปีติแก่ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น โดยมี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์สมเจตน์ เหล่าลือเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา นายประกอบ พิกุลกานตเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ร่วมพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว

นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา และพสกนิกรจังหวัดกาญจนบุรีอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้รับพระราชทานเป็นแห่งที่ 14 บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา และประชาชนทุกคน รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้า อีกทั้งเป็นกำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยให้มีขวัญ มีกำลังใจ และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป”

ด้านนายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล้วนรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีต่อการแพทย์และการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ห้องพระราชทานนี้ นับเป็นประโยชน์มหาศาลแก่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ในการเพิ่มความพร้อมและสามารถรับมือกับโรคระบาดซึ่งใช้เวลาก่อสร้างอย่างรวดเร็วและใช้งานได้ทันที อีกทั้งยังสามารถปรับเป็นห้องตรวจผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้โรงพยาบาลให้บริการสาธารณสุขที่ดีแก่ประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม”

นายแพทย์สมเจตน์ เหล่าลือเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า “โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 8,540 เตียง ให้บริการผู้ป่วย ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี 13 อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง และเป็นศูนย์รับ-ส่งต่อผู้ป่วยในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ในแต่ละวันมีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการเป็นจำนวนมากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเพราะเนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 2,223 รายต่อวัน จำนวนผู้ป่วยในเฉลี่ย 587 รายต่อวันจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการให้บริการแบบเดิมมีลักษณะแออัด ในบริเวณพื้นที่จำกัดของโรงพยาบาล และมีข้อจำกัดด้านปริมาณของเจ้าหน้าที่และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อจังหวัดกาญจนบุรี บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี ซึ่งได้รับพระราชทานเป็นแห่งที่ 14 คณะผู้บริหาร และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด เต็มกำลังความสามารถ และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้า อีกทั้งเป็นกำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยให้มีขวัญ มีกำลังใจ และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป”

ขณะที่นายประกอบ พิกุลกานตเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในเอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า “เอสซีจี รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มีส่วนร่วมในการผลิตนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) เพื่อช่วยปกป้องแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการตอบแทนความเสียสละและอุทิศตนของท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยกันดูแลรักษาผู้ป่วย และยังช่วยปกป้องประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ โดยห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าวพัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ซึ่งได้ออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น สำหรับห้องตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ได้ติดตั้งในบริเวณหน้าอาคารผู้ป่วยนอก 2 เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและการตรวจหาเชื้อดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าพื้นที่ติดตั้งจะมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ แต่ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของทางโรงพยาบาล ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญของทีมติดตั้ง จึงทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จลงภายในเวลาเพียง 3 วัน พร้อมที่จะให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ในทันที”

นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) นี้ พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ภายในห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ออกแบบให้มีระบบ Smart Indoor Air Quality (IAQ Smart) ที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย และระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล (Air Tightness) ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ในตัวอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องความดันบวก ที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องความดันลบ และมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่อง จึงป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ ซึ่งการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อเก็บตัวอย่าง จึงลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจพร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) หลังจากการใช้งานในห้องทุกครั้ง ทั้งนี้ โครงสร้างกว่าร้อยละ 80 ประกอบขึ้นรูปภายในโรงงานที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิต และยังสามารถติดตั้งได้รวดเร็ว ทั้งนี้ ทั้งนี้ โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับพระราชทานนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดย “เอสซีจี” ได้แก่ 1. รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ 2. รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 3. รพ.กลาง 4. สถาบันโรคทรวงอก 5. สถาบันบำราศ-นราดูร 6. รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 7. รพ.ตำรวจ 8. รพ. ราชบุรี 9. รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 10. รพ.นครปฐม 11. รพ.อุตรดิตถ์ 12. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 13. รพ.นครพิงค์ 14. รพ.พหลพลพยุหเสนา 15. รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 16. รพ.อุดรธานี 17.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 18. รพ.สุราษฎร์ธานี 19. รพ.หาดใหญ่ และ 20. รพ.สงขลานครินทร์

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง มอบ “ถุงซักผ้าละลายน้ำได้” เพื่อลดการสัมผัสเสื้อผ้าติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์

นายกรัณย์ เตชะเสน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง และ นายภราดร จุลชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัทพรีแพค ประเทศไทย จำกัด ในเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มอบบรรจุภัณฑ์ถุงซักผ้าละลายน้ำได้ จำนวน 4,000 ถุง ให้แก่ อ.นพ.ลือชา บุญทวีกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม และผู้บริหารของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้โรงพยาบาลนำถุงซักผ้าละลายน้ำได้ไปใช้บรรจุเสื้อผ้าใช้แล้วที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน และนำไปใส่เครื่องซักผ้าได้ทันที โดยถุงซักผ้าจะละลายน้ำได้เองในระหว่างการซักโดยไม่เหลือสารตกค้าง ผู้ทำหน้าที่ซักผ้าจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรคที่ติดอยู่บนเสื้อผ้า

ถุงซักผ้าละลายน้ำได้ เป็นสินค้าใหม่ของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทีมงานได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์มาพัฒนาคุณสมบัติของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ให้สามารถละลายน้ำได้ จึงนำมาออกแบบเป็นถุงซักผ้า เพียงนำถุงซักผ้าละลายน้ำที่บรรจุผ้าเปื้อนใส่เข้าเครื่องซักผ้าโดยไม่ต้องเปิดปากถุงหรือแยกผ้าออก ในขั้นตอนการซักล้าง ถุงจะค่อย ๆ ละลายน้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสมจนหมดภายใน 3-15 นาที ผ้าเปื้อนด้านในจะเริ่มสัมผัสกับน้ำและน้ำยาซักล้างตามกระบวนการซักล้างปกติ โดยไม่เหลือสารตกค้างซึ่งผ่านการทดสอบแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้เริ่มจำหน่ายแล้วให้กับโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ นอกจากนี้ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์ละลายน้ำนี้ให้สามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ บริษัทพรีแพค ประเทศไทย จำกัด ในเอสซีจี แพคเกจจิ้ง อีเมล sales@prepack.com