SCGP Newsroom

ดิจิทัลพาร์ตเนอร์ (คนรู้ใจ) ของคนทำงานยุคใหม่

ข่าว

ดิจิทัลพาร์ตเนอร์ (คนรู้ใจ) ของคนทำงานยุคใหม่

Loading Data...

ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามามีบทบาทในหลายองค์กร ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงข้อมูล การนำเสนอบทความด้วยภาษาสละสลวย มีวรรณศิลป์ใกล้เคียงกับมนุษย์ การช่วยวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ได้ตรงจุด และการให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามามีบทบาทในหลายองค์กร ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงข้อมูล การนำเสนอบทความด้วยภาษาสละสลวย มีวรรณศิลป์ใกล้เคียงกับมนุษย์ การช่วยวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ได้ตรงจุด และการให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

มนุษย์จึงเริ่มจับตามองพัฒนาการของ AI ทั้งยังกังวลว่า เทคโนโลยีอันชาญฉลาดเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในที่สุด แต่เมื่อเราหันมาทำความรู้จักและทดลองใช้งาน จะเริ่มเห็นว่า AI เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาช่วยเสริมในสิ่งที่มนุษย์ขาดไป และร่วมทำงานเสมือนพาร์ตเนอร์คนสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

การจะทำให้คนผสานการทำงานกับ AI ได้ดี ต้องคำนึงถึง 3 ส่วนหลัก คือ มนุษย์ (คนทำงาน) ต้องมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพของ AI AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นต้องเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของมนุษย์ได้จริง และสุดท้ายองค์กรต้องพร้อมปรับตัว เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งมนุษย์และ AI สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร

การสร้าง “ดิจิทัลพาร์ตเนอร์” เพื่อคนทำงาน

มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า บริษัทกว่า 1,500 แห่ง มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เมื่อมนุษย์และเทคโนโลยี AI ทำงานร่วมกัน ดังนั้น องค์กรและมนุษย์ที่เป็นคนทำงานควรมีส่วนสนับสนุนการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสรรค์ “ดิจิทัลพาร์ตเนอร์” ที่จะมาช่วยให้งานมีประสิทธิภาพกว่าเดิม และสามารถทำงานร่วมกันในองค์กรได้อย่างมีความสุข ดังนี้

มนุษย์
การสอนความเป็นมนุษย์ให้แก่ AI เราต้องฝึกป้อนข้อมูลให้เทคโนโลยีมีกระบวนการคิดแบบมนุษย์ เพื่อให้ถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ออกมาเสมือนมาจากความคิดและความรู้สึกแบบเดียวกับมนุษย์ให้ได้มากที่สุด
AI
การช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำขึ้น ภายใต้ฐานข้อมูลที่มีการคาดการณ์และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างน่าเชื่อถือ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดีกว่าเดิม จะช่วยยกระดับการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และสินค้า นำไปสู่การพัฒนาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
องค์กร
มีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแผนการทำงานได้รวดเร็ว ไม่ยึดติด และต้องเปิดกว้างกับการนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพคนทำงานอย่างจริงใจ
ตัวอย่างการนำ AI มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การนำ ChatGPT, Gemini, Jasper, Quillbot มาประยุกต์ใช้ในงาน การใช้ Robots และ Autonomous System เพื่อใช้งานในไลน์ผลิตสินค้าและบริการ หรือการพัฒนาด้าน Quantum Computing เพื่อประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล และการส่งเสริม Green & Sustainable Technology เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเทรนด์โลกยุคใหม่ ซึ่งผู้คนหันมาใส่ใจกับประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เช่น IoT, Data Science, VR และ Cloud Computing รวมถึงการฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะด้าน Machine Learning เข้าใจการทำงานของอัลกอริทึมต่าง ๆ และทักษะด้าน Computer Vision สอนให้ AI เข้าใจข้อมูลภาพและวิดีโอ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบได้กับทักษะที่ AI จะต้องมีและจำเป็นต้องใช้งาน ดังนั้น มนุษย์เราในฐานะพาร์ทเนอร์ของ AI ก็จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจทักษะดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ในฐานะคนทำงานยุคใหม่ เราต้องมอง AI และเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยมุมมองใหม่ว่า สิ่งเหล่านี้กำลังจะเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมงานของเรา เพราะพวกเขาสามารถช่วยลดภาระดิจิทัล (Digital Debt) หมายถึง ภาระที่เกิดจากการเก็บสะสมข้อมูลที่มีมากเกินกว่าความสามารถในการจัดการและประมวลผลของมนุษย์ หากเราต้องใช้พลังงานไปกับเรื่องเหล่านี้มาก ๆ จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์และประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปด้วย ดังนั้น การได้ AI มาเป็นพาร์ตเนอร์ (คนรู้ใจ) ของคนทำงานยุคใหม่ จะช่วยเติมเต็มศักยภาพการทำงานของมนุษย์ให้ดีเหนือมาตรฐานมากขึ้น

ที่มา: A LOT Vol.33

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Loading Data...

บริการด้วยใจ พร้อมใช้เทคโนโลยี มัดใจลูกค้ายุคดิจิทัล

ข่าว

บริการด้วยใจ พร้อมใช้เทคโนโลยี
มัดใจลูกค้ายุคดิจิทัล

Select Service Mind + Tech to Impress Digital-Age Customers Service Mind + Tech to Impress Digital-Age Customers
Loading Data...

เมื่อเทรนด์ดิจิทัลก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องท้าทายทั้งกับองค์กรและพนักงาน a LOT ฉบับนี้ ชวนมาเปิดมุมมองการปรับตัวให้ทันเทรนด์ดิจิทัลกับ พี่อ้อ – จินดาภา ปรีชญางกูร Customer Services Director ที่คลุกคลีกับลูกค้ามาตั้งแต่ลงพื้นที่ถึงหน้าประตูบ้าน จนถึงการนำ SCGP Contact Center มาใชในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ปรับโปรดักต์รับเทรนด์ดิจิทัล

หลังศึกษาจบปริญญาโท MBA Marketing พี่อ้อได้เข้ามาร่วมงานกับ SCGP ในตำแหน่งนักวิจัยตลาด ที่สำนักงานวางแผน ต้องรู้จักสินค้าทุกประเภทของบริษัท ได้เรียนรู้ลูกค้าจากการออกไปวิจัยและสำรวจความพึงพอใจของตลาด หลังจากนั้นรับตำแหน่งผู้จัดการแผนกวางแผนและวิเคราะห์ตลาด บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ก่อนมาทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนบริการการตลาด จนปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Customer Services Director

“ขอบเขตงานในปัจจุบันคือ บริหารคำสั่งซื้อของลูกค้าของ SCGP ดูแลงานวางแผนสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ประสานงานกับหน่วยงานวางแผนการผลิต เพื่อผลิตสินค้าให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ ดูแลระบบงานขายทุกช่องทาง ประสานงานกับหน่วยงาน Strategic Supply Chain, Advanced Data Science และ Information Technology เพื่อปรับระบบงานขายให้สอดรับกับคำสั่งซื้อของลูกค้าในยุคดิจิทัลที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว และส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงตามความต้องการ”

“เทรนด์ดิจิทัลที่เข้ามาในช่วงแรกนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเราอย่างชัดเจน ปริมาณความต้องการใช้กระดาษของตลาดลดลง สิ่งพิมพ์เดินหน้าไปสู่ทิศทางดิจิทัลมากขึ้น เราต้องหาโปรดักต์ใหม่เข้ามาเพื่อปรับธุรกิจของเราให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นเรามองไปที่สินค้าประเภทกระดาษ Food Grade, บรรจุภัณฑ์อาหาร Foodservice Packaging ส่วนช่องทางการจำหน่าย เราเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น จากลูกค้า B2B ก็ขยายสู่ B2C จนปัจจุบันเราขยายการจำหน่ายไปสู่ช่องทางออนไลน์และ e-Commerce ถือเป็น Transformation ยุคดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง

AI ช่วยอ่านใจลูกค้า บริการได้รวดเร็วตรงใจ

“สิ่งที่แตกต่างจากเดิมคือจำนวนลูกค้าของ SCGP เยอะขึ้น ทั้ง B2B, B2B2C, B2C, Retail Sales และ e-Commerce ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าต่อคำสั่งซื้อเล็กลง และมีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นระบบการขายต้องตอบสนองลูกค้าได้ทุกช่องทาง ตรงตามความต้องการและรวดเร็ว ขณะเดียวกันระบบหลังบ้านก็ต้องสามารถเห็นสถานะของสินค้า ตั้งแต่อยู่ในกระบวนการผลิตไปจนถึงส่งมอบถึงมือลูกค้าได้

“พี่มองว่าต่อจากนี้ไป AI จะถูกนำมาใช้งานมากขึ้น เช่น ระบบ Robotic Process Automation (RPA) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ หรือเทคโนโลยี Optical Characteristic Recognition (OCR) ซึ่งช่วยแปลงภาพ (Image) เป็นตัวอักษร (Text) และนำเข้าระบบ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยลดภาระงานและลดข้อผิดพลาดในงานที่ต้องทำซ้ำ เมื่องานเหล่านั้นสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว พนักงานก็จะสามารถมุ่งเน้นงานด้าน
กลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น หรือการใช้ Chatbot ช่วยลูกค้าค้นหาข้อมูลสินค้า ช่วยตอบคำถามที่ไม่ซับซ้อนด้วยข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และคาดว่าในอนาคตการทำงานของ AI จะเข้ามาช่วยให้มีความเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและสื่อสารกับลูกค้าเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณี โดยใช้ Humanized Chatbot (ML/AI) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลด Workload พนักงาน และให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วตรงความต้องการมากขึ้น

“แม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จะเป็นเพียงส่วนเสริมให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพเท่านั้น คงไม่สามารถเข้ามาแทนที่คนได้ เพราะการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนและการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้านั้น พนักงานยังเป็นส่วนสำคัญที่ AI หรือเทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม Customer Services ที่มี AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล จะช่วยจัดการปัญหาและข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้ ความสัมพันธ์กับลูกค้าก็จะแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย”

โลกเปลี่ยนไป ต้องปรับให้ไวกว่า

“SCGP ให้ความสำคัญกับการปรับตัวในเรื่องนี้อย่างมาก นอกจากจะมีหน่วยงาน Technology and Digital Platform (TDP) ที่ช่วยสนับสนุนระบบงานต่าง ๆ แล้ว ยังมีการ Upskill และ Reskill พนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง ขณะที่พนักงานก็ต้องศึกษาพื้นฐานและติดตามความก้าวหน้าของ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวและพัฒนาทักษะให้สามารถใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร”

“สิ่งสำคัญในการผลักดันให้พนักงานเรียนรู้เพื่อปรับตัวกับระบบงานที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้คือ การสื่อสาร เราต้องทำให้พนักงานเห็นว่า เทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างไร ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งการสื่อสารก็ต้องให้พนักงานมีส่วนร่วม ร่วมกันคิด และแบ่งปันประสบการณ์ เรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน โดยไม่ลืมสิ่งสำคัญคือ การยึดลูกค้าและผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง”

“หลักคิดในการทำงานหรือการใช้ชีวิตของพี่นั้น เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เราต้องเปลี่ยนให้ทันทีหรือเร็วกว่าซึ่งการลองสิ่งใหม่อาจเกิดความผิดพลาด เราก็เปลี่ยนเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาต่อ น้อง ๆ ต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน เปลี่ยนเรื่องซับซ้อนให้ง่ายขึ้น หาวิธี Lean Process การทำงานจะพัฒนาต่อยอดได้ตลอดเวลา และต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพทีมของเราที่จะสนับสนุนกันและกัน เพื่อให้พัฒนาองค์กรต่อไปได้”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Loading Data...

“ยูไนเต็ด คอนเทนเนอร์” ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ข่าว

“ยูไนเต็ด คอนเทนเนอร์” ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

“United Container” Drives Business with Technology and Environmental Care
Loading Data...

การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ต้องคำนึงถึงสังคมและชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่ คุณธัชชัย ปิยะกุลชัยเดช – กรรมการผู้จัดการ บริษัทยูไนเต็ด คอนเทนเนอร์ จำกัด ใช้ในการดำเนินงานนอกเหนือจากการส่งมอบคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

โฟกัสที่กลุ่มเป้าหมาย แล้วก้าวไปข้างหน้า

จากธุรกิจครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่ก่อตั้ง โดยใช้พื้นที่บ้านละแวกลาดพร้าว – บางกะปิ ที่มีพนักงานเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ผลิตด้วยมือเกือบทั้งหมด และค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนกระทั่งปี 1992 ได้ขยับขยายมาตั้งโรงงานที่ปทุมธานีในปัจจุบัน

“ยูไนเต็ด คอนเทนเนอร์ เราให้บริการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกเป็นหลัก โดยโฟกัสไปที่ลูกค้ากลุ่มที่มีความต้องการสินค้าคุณภาพสูง และต้องการผู้ส่งมอบที่มีความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ส่งออกอาหารแปรรูป ผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ต้องการความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์เป็นพิเศษ ระบบการจัดการคุณภาพและการส่งมอบที่น่าเชื่อถือ และบริการที่รวดเร็ว ตรงเวลา”

“เมื่อเรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน การจัดการโรงงาน การเลือกสรรเครื่องจักร และวัตถุดิบเข้ามาใช้ ก็ต้องทำให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว เราค้นพบว่า กลยุทธ์ที่เหมาะกับการทำธุรกิจที่สุดคือ การโฟกัสกลุ่มธุรกิจเฉพาะ และเจาะลึกไปในกลุ่มที่เราเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้า รับฟังสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้มากขึ้น และส่งมอบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พวกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด”

อัปเดตเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร เพื่อส่งมอบสินค้าคุณภาพ

ธรรมชาติของธุรกิจปกติก็ต้องมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนได้นั้น ไม่ว่าอย่างไรคุณภาพก็ต้องมีความสำคัญเป็นสิ่งแรก และมากไปกว่านั้น การเข้าไปนั่งในใจลูกค้าได้ มาจากการบริหารจัดการภายในองค์กรให้พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการที่เข้ามา

“ความท้าทายในงานของเราคือ การจัดการออร์เดอร์ที่หลากหลายโดยไม่ผิดให้ธุรกิจของลูกค้าเราสามารถแข่งขันได้ในตลาดด้วยการทำงานแบบ Custom  Made งานที่ลูกค้าส่งมาแทบจะไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน และเรามีหน้าที่ส่งมอบให้ทันเวลา เพราะ Pain Point ของลูกค้ากลุ่มส่งออกคือ มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการนำสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เรือ เราดูแลแก้ปัญหาส่วนนี้ให้ลูกค้าได้รู้สึกเบาใจ และเอาเวลาไปโฟกัสกับงานด้านอื่น ๆ ได้เต็มที่”

“ส่วนตัวผมมีพื้นฐานเป็นวิศวกรและโปรแกรมเมอร์ ผมมี Passion ในการเขียนโปรแกรมตั้งแต่เริ่มมาช่วยงานคุณพ่อที่โรงงานตั้งแต่เด็ก ๆ  ซึ่งเราค้นพบว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในโรงงานนั้นได้ผลดีมาก เราจึงไม่เคยหยุดการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ “

“เราสร้างความยั่งยืนด้วยการติดตามเทคโนโลยีการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้สร้างซอฟต์แวร์เฉพาะหน้างานของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาในการทำงาน และไม่ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคลเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ที่โรงงานเรามีระบบบันทึกผลผลิตแบบเรียลไทม์ โดยที่พนักงานไม่ต้องคอยกรอกข้อมูลเอง ทุกๆ ออร์เดอร์การผลิต ระบบสามารถเก็บบันทึกวันเวลาที่เริ่ม/หยุดผลิต จำนวนที่ผลิตได้ สถิติการหยุดเครื่อง และความเร็วในการผลิต ข้อมูลเหล่านี้ถูกบันทึกโดยระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติทั้งโรงงาน และเราสามารถนำมาต่อยอดในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาการผลิต เพิ่มผลผลิต ลดของเสียได้อย่างต่อเนื่องครับ”

“ในด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต เราก็มีการอัปเดตเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรใหม่ ๆ อยู่เสมอ นอกจากนั้น วัตถุดิบต่าง ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการผลิตจะต้องได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดีเพียงพอ รวมถึงการลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพื่อแข่งขันในตลาดได้ด้วย”

“สำหรับโรงงานของเรา บุคลากรคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เราเชื่อในธรรมาภิบาลของการดูแลบุคลากร เรามีนโยบายหลายส่วนที่คอยปรับปรุงระบบสวัสดิการ สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างต่อเนื่อง  เพราะเราเชื่อว่า ถ้าพนักงานมีความสุข สิ่งเหล่านี้จะถ่ายทอดสู่ผลงานขององค์กร และทุกคนจะช่วยกันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ”

ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก เราเชื่อในการดำเนินธุรกิจและอยู่ร่วมกับชุมชน ส่งเสริมชุมชน และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ เราพยายามทำให้ได้เหนือกว่าที่กฎหมายกำหนด และทบทวนสิ่งเหล่านี้สม่ำเสมอ อย่างเช่น เรื่องการบำบัดน้ำเสีย ทางบริษัทก็มีการลงทุนนำเข้าระบบบำบัดน้ำเสียมาจากต่างประเทศ สามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชนเลยแม้แต่หยดเดียว”

“เรื่องรีไซเคิลกระดาษเราทำร่วมกับ SCGP โดยการรวบรวมเศษกระดาษและอัดก้อนส่งกลับ ซึ่งเราไว้วางใจว่า SCGP จะดูแลในส่วนนี้ต่อเป็นอย่างดี ส่วนขยะอุตสาหกรรมอื่น ๆ เราก็จัดการอย่างถูกต้อง มีการฝังกลบในจุดที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล เพราะเราเชื่อว่าการอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมเป็นเรื่องจำเป็นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

“นอกจากนี้เรายังลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบ Full Scale เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน เช่น ในเวลากลางวันที่แดดออกเต็มที่ เราแทบไม่ต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ เลย ซึ่งมุมนี้ก็จะช่วยทั้งในแง่การดูแลสิ่งแวดล้อม และการลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งต่อให้กับลูกค้า”

จับมือพาร์ตเนอร์ที่ตอบโจทย์ด้านคุณภาพ

“เหตุผลสำคัญในการเป็นพาร์ตเนอร์กับ SCGP มาจากนโยบายด้านคุณภาพ ซึ่ง SCGP มีความน่าเชื่อถือในส่วนนี้มาก และมีความสอคคล้องกับเราในเชิงกลยุทธ์ ด้วยนโยบายของยูไนเต็ด คอนเทนเนอร์ ที่เลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าส่งออกและลูกค้าผู้ส่งสินค้าพรีเมียมในประเทศ ความคาดหวังของลูกค้าจึงมีสูงมาก ทั้งความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่แข็งแรงเป็นพิเศษ และความน่าเชื่อถือของระบบ Supply ซึ่ง SCGP ตอบโจทย์เป็นอย่างมากครับ

“นอกจากนั้น การผ่านวิกฤตร่วมกันมาหลายครั้ง ทาง SCGP ก็ดูแลเราดีมาก ช่วงที่กระดาษขาดแคลนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราแทบไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวเลย หรือแม้กระทั่งช่วงที่ภาวะตลาดผันผวนทั่วโลก ทาง SCGP ก็ช่วยเราดูแลเรื่องระดับราคา เพื่อให้เรายังสามารถแข่งขันในตลาดได้ ดูแลให้เราส่งมอบสินค้าได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ให้ลูกค้าเรายังสามารถแข่งขันที่ตลาดปลายทางของเขาได้ด้วย SCGP ช่วยดูแลเราในเรื่องดังกล่าวอย่างดีเสมอมา และหวังว่าเราจะมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันตลอดไปครับ” คุณธัชชัยกล่าวทิ้งท้าย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Loading Data...

นำ Passion ที่มี เสริมคุณค่าในงาน

ข่าว

นำ Passion ที่มี เสริมคุณค่าในงาน

SCGP TEAM
Loading Data...

ว่าด้วยเรื่องของบทบาทเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กร พนักงานเองก็ต้องปรับตัวที่จะเรียนรู้และนำมาใช้ในงานให้มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นพาร์ตเนอร์ในการทำงาน a LOT ฉบับนี้ เราชวน 4 พนักงานที่ร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์สำคัญของ SCGP ในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้พัฒนากระบวนการคัดกรองคุณภาพไม้ที่รับซื้อจากเกษตรกร (Integrated Wood Management) มาแชร์มุมมองการเรียนรู้ในการทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวก

“ผมดูแลกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ และชอบเรื่อง Data Science, Machine Learning และ AI จึงคิดเสมอว่าจะนำสิ่งที่ชอบมาผสมผสานให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้อย่างไร ภายใต้บรรยากาศในการทำงานที่พี่ ๆ เพื่อน ๆ เปิดใจรับ ไม่มีกำแพงปิดกั้น สื่อสารได้รวดเร็ว สนุกในการทำงาน ทำให้เราริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ได้

“เดิมในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ การรับซื้อไม้ต้องใช้คนวัดขนาดในพื้นที่ ผมจึงปรึกษากับทีม และ Forestry เพื่อนำ AI มาใช้วัดไม้ ตอบโจทย์ทั้งเกษตรกร เรา และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพราะโรงงานจะได้ไม้คุณภาพ คนขายจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และเกษตรกรจะเพิ่มความใส่ใจในการดูแลต้นไม้ระยะเวลาตัดไม้ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์” 

ณัฐวุฒิ เมฆหมอก

TPC Pulp Production Department Manager, TPC

“ผมชอบพัฒนาโมเดลเกี่ยวกับ Data Science เป็นการส่วนตัว และพยายามศึกษาเบื้องหลังการทำงานของ Model ต่างๆ ใน Data Science ที่สนใจ ถ้ามองว่าสิ่งไหนประยุกต์กับงานที่ทำได้ก็จะทดลองและต่อยอด ประกอบกับที่ SCGP เปิดรับเรื่องนวัตกรรม เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ เหมือนสนามเด็กเล่นที่ให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในงบประมาณที่เหมาะสม

“โครงการนี้ใช้ Computer Vision เข้ามาช่วยตรวจสอบเป็นหลัก จากการนำกล้อง CCTV สตรีมภาพเข้าสู่โมเดล ตรวจจับตำแหน่งของไม้ในภาพและวัดขนาด โดยความท้าทายคือ การปรับปรุงให้ภาพมีคุณภาพ เพื่อให้โมเดลมีข้อมูลไปเรียนรู้มากขึ้น คำนวณผลได้เที่ยงตรงขึ้น และการนำระบบที่พัฒนาขึ้นใหม่นำไปใช้ในการทำงานจริง เกี่ยวข้องกับเงินจริง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายนอกและภายใน โดยการออกแบบระบบนี้ ผมเริ่มต้นจากการพัฒนาโมเดล POC ง่าย ๆ ในคอมพิวเตอร์แล้วลองดูว่า ตรวจจับวัตถุท่อนไม้ในวิดีโอได้ไหมและต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนสามารถใช้งานได้จริง จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ผมภูมิใจและอยากพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ครับ”

พิพัฒน์ศักดิ์ ไทยรัตน์ / Phiphatsak Thairatana

Supply Chain Analyst – SCGP

“ความท้าทายของการร่วมทำโครงการนี้คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าที่เคยชินกับระบบการวัดขนาดไม้แบบเดิม เรานำผลการวัดขนาดไม้จากระบบเก่าและระบบใหม่มาเทียบการแสดงผลเพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรง แม่นยำ แล้วสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกษตรกร

“SCGP เป็นเหมือนโรงเรียนที่ให้ความรู้เราทุกด้าน ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill เชื่อมั่นในคุณค่าของคนรับฟังและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เรามีความสุขที่ได้ร่วมงานกับพี่ เพื่อน และน้อง ๆ สนุกกับการทำงานทุกวันค่ะ”

ฝนทิพย์ ศรสุราษฎร์ / Fontip Sornsurad

Raw Material and Warehouse Section Manager – TPC Pulp

“SCGP สนับสนุนช่องทางให้สื่อสารทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ พี่ ๆ รับฟังและเห็นคุณค่าในความคิดเรา ให้มุมมองคำแนะนำที่ดีว่า ควรปรับปรุงหรือพัฒนาตรงไหนเพิ่มเติม ทำให้เรากล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ ที่สำคัญ ทุกคนในองค์กรเป็นคนเก่ง คอยช่วยขัดเกลา พอเรามาทำงานประสานกัน ทำให้เราได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้มุมมองต่าง ๆ และช่วยให้มองเห็นเป้าหมายที่เหมือนกัน พาองค์กรก้าวต่อไปข้างหน้า

“ผมว่าความน่าเชื่อถือและความไว้ใจจากทั้งเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ สะท้อนจากสิ่งที่เราปฏิบัติต่อคนที่เกี่ยวข้องกับเรา ถ้าเราส่งมอบสิ่งที่ดีและสามารถตอบโจทย์สิ่งที่เขาต้องการได้ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้ใจให้แก่กันได้”

สิวะรักษ์ บุตรดี / Siwarak Butdee

Value Chain analyst, SCGP

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Loading Data...

Fest Woodenware ชุดช้อนส้อมมีดไม้จากเฟสท์ สะอาด ปลอดภัย ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ข่าว

Fest Woodenware ชุดช้อนส้อมมีดไม้จากเฟสท์ สะอาด ปลอดภัย ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Loading Data...
“ช้อนส้อม” อุปกรณ์ที่ทุกคนต้องใช้ในการรับประทานอาหารทุกมื้อ และหากเราเลือกสั่งอาหารแบบกลับบ้าน (Takeaway) ภาพที่เราคุ้นเคยของช้อนส้อมที่ร้านอาหารให้มาเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับประทาน มีกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ ช้อนส้อมไม้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของร้านอาหาร ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ

Fest Woodenware ถูกออกแบบให้มีรูปทรงมากถึง 3 แบบ 3 สไตล์ ภายใต้คอนเซปต์ International Cuisine ที่มีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรมการกินของแต่ละชนชาติ ได้แก่ จีน เกาหลี และตะวันตก ซึ่งแต่ละชาติมีสไตล์ช้อน ส้ม และมีด ที่มีรูปทรงและรูปแบบการใช้งานแตกต่างกัน โดย Fest ถือเป็นผู้ผลิตเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตช้อน ส้อม และมีดไม้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกันได้อย่างครอบคลุม

  • ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการปลูกไม้ในพื้นที่ว่าง
  • ผลิตจากไม้ท้องถิ่นในไทยและโตเร็ว (ภายใน3 – 5 ปี) เป็นไม้ที่มาจากป่าปลูกหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ สามารถปลูกหมุนเวียนทดแทนได้
  • แข็งแรง ทนทาน ใช้งานกับอาหารได้ทุกประเภท
  • สะอาดปลอดภัย สัมผัสอาหารได้โดยตรง และไม่มีสารอันตราย
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ 100%
  • ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล (BRC)
  • ออกแบบรูปทรงได้หลากหลาย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์
  • มีบริการพิมพ์โลโก้ และจัดชุดเซ็ตสินค้าตามที่ต้องการได้
  • ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและพัฒนามาเพื่อผลิตได้กับไม้หลากหลายประเภท
    กำลังการผลิต 200 ล้านชิ้น/ปี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Loading Data...

Deltalab ได้รับรางวัล Best Channel Partner Southern Europe 2023 เสริมแกร่งธุรกิจ Healthcare Supplies

ดร.พงษ์สุดา ผ่องธัญญา Managing Director, Mr. Angel Abellán National Sale Director – Industry Division, Mr. Mario Muñoz Strategy, Business & Product Development Director และ Mr. Guillermo Hernández Product Specialist & Sale เป็นตัวแทนทีม Deltalab, S.L. (Deltalab) เข้ารับรางวัล Best Channel Partner Southern Europe 2023: Food Science Division ในงาน EMEA Channel Partner Meeting 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2567 ณ สำนักงาน Bio-Rad, Institut Pasteur ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  

 

ในปีที่ผ่านมา Deltalab สามารถทำผลงานในฐานะผู้แทนจำหน่ายสินค้าของ Bio-Rad ได้สูงสุดใน Southern Europe ทั้งในด้านยอดขายและอัตราการเติบโต โดย Bio-Rad เป็นบริษัทระดับโลกที่มีสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือ และชุดตรวจต่าง ๆ ด้าน Healthcare, Life Science และ Food Industry ส่งผลให้ Bio-Rad และ Deltalab พร้อมขยายความร่วมมือทางธุรกิจและมีแผนการเติบโตด้วยกันอย่างต่อเนื่อง  

 

ในงานนี้ ทีม Deltalab ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ใน 2 หัวข้อ ได้แก่ “Strengthen our Business & Partnership: Bio-Rad & Deltalab” โดย ดร.พงษ์สุดา ผ่องธัญญา และ “Success case ในการเสนอการขายและติดตั้งเครื่องมือ IQ-Check Prep ให้กับลูกค้ารายใหญ่ในประเทศสเปน” โดย Mr. Guillermo Hernández นอกจากนี้ยังได้พบปะตัวแทนจำหน่ายจากหลายประเทศ เพื่ออัปเดตข้อมูล ความรู้ทางเทคโนโลยี และสินค้าใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาในอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

“ตลาดนำ- นวัตกรรมเสริม” โอกาสสร้างรายได้ยั่งยืน “ไม้เศรษฐกิจโตเร็ว”

ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ด้วยไม้เศรษฐกิจโตเร็ว” จัดขึ้น ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายการปลูกและการจัดการไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ที่ร่วมเสวนา ต่างประสานเสียงตรงกันว่า “ไม้เศรษฐกิจโตเร็ว” (อายุรอบตัดไม่เกิน 7 ปี อัตราเติบโตเส้นผ่าศูนย์กลาง มากกว่า 1.5 เซนติเมตรต่อปี) ยังเต็มไปด้วยประโยชน์ และโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และผู้คนในห่วงโซ่อุปทาน จากความต้องการทางการตลาดที่มีอยู่มากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกระแสแรงในขณะนี้คือการนำมาแปรรูปเป็น “สินค้ารักษ์โลก” ทดแทนการใช้วัตถุดิบที่มีฐานมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตามเมกะเทรนด์ลดโลกร้อน ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และกติกาการค้าโลกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าวได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ “การตลาดนำ” และ “นวัตกรรมเสริม” นั่นคือ การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วให้ตรงตามความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้คุณภาพที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะยูคาลิปตัส และยางพารา ซึ่งเป็นสองไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่ขับเคลื่อนตลาดไม้เศรษฐกิจโตเร็วในไทยอยู่ในขณะนี้ ทำให้ “ผลตอบแทนการลงทุน” สูงขึ้น เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ย่อมเกิดแรงจูงใจในการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วทั่วประเทศไม่เกิน 5 ล้านไร่  และทำให้เกิด “การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” ตามมา

นายมหาศาล ธีรวรุตม์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ใน SCGP ผู้ส่งเสริมปลูกไม้ยูคาลิปตัส ตรา คู่ดิน by SCGP สะท้อนศักยภาพไม้เศรษฐกิจโตเร็วว่า ปัจจุบันตลาดไม้เศรษฐกิจโตเร็วมีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น จากการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป เช่น ชาม ช้อน ส้อมที่ผลิตจากไม้ เสื้อผ้าที่ผลิตจากเยื่อไม้ ขวดน้ำที่ผลิตจากเยื่อไม้แทนขวดพลาสติก PET หลังคาที่ใช้เยื่อไม้เป็นวัตถุดิบในการผลิต (Wood for construction) รวมถึงการนำเยื่อไม้มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยา เป็นต้น และเห็นว่ายังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น “Bio-based” อื่นๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ทำเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ยูคาลิปตัสอย่างต่อเนื่อง ให้มีคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อพืชต่าง ๆ ที่ปลูกร่วมกัน และให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และฤดูกาลต่าง ๆ ในประเทศไทย ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยปลูกต้นกล้ายูคาลิปตัสก่อนจะรับซื้อคืนเพื่อนำมาเข้าสู่โรงงานผลิตเยื่อในกลุ่มบริษัท โดยเห็นว่ายูคาลิปตัส ถือเป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่เป็นไม้หลักของไทย โดย 70-80% ปลูกจากเกษตรกรรายย่อย ที่มีพื้นที่ 5-10 ไร่ จึงถือเป็นความท้าทายที่จะเพิ่มพื้นที่การปลูกเป็นแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่ 50 ไร่ขึ้นไป เพื่อทำให้เกิด Economy of scale”    

ทั้งนี้เห็นว่า ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน “ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว” ให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ประโยชน์ที่มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการกำหนดโซนนิ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว การออกกฎหมายที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ไม้มากขึ้น เช่น ลดภาษี หรือให้แรงจูงใจอื่น ๆ  การสร้างความเข้าใจ และการรับรู้ประโยชน์จากการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วว่าการใช้ผลิตภัณฑ์จากไม้ไม่ได้เป็นการทำลายป่า แต่ยิ่งช่วยสร้างป่าให้เพิ่มขึ้น (ยิ่งใช้ยิ่งปลูก) การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับภาครัฐ และการผลักดันโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ (วนเกษตร) เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในการใช้พื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมระหว่างรอรอบตัดไม้เศรษฐกิจโตเร็ว  

นายประมวล ประทุม ที่ปรึกษาบริษัท สยามทรีดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ระบุว่า ยูคาลิปตัสยังมีตลาดที่ชัดเจน แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ผลผลิตต่อไร่จึงจะสูงขึ้น และต้องพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าของไม้ยูคาลิปตัส
“บางคนบอกว่ายูคาลิปตัสไม่มีอนาคต ไม่จริง อยู่ที่การดูแลพื้นที่มากกว่า อย่ามองยูคาลิปตัสไม่ดี ทั้งที่จริง ๆ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้  ต้องปรับมุมมองไปที่การบริหารจัดการ ตอนนี้ภาพรวมการใช้ไม้ยูคาลิปตัสในไทยอยู่ที่ 5-6 ล้านตันต่อปี มีการส่งออกไปที่ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ปี 2566 มีการส่งออก 5.17 ล้านตัน” 
นายวัฒนพงศ์ ทองสร้อย ผู้แทนสมาคมการค้าชีวมวลไทย เผยถึงสถานการณ์ไม้พลังงานว่า ในระยะยาวตลาดไม้พลังงานในไทย ซึ่งปัจจุบันมากกว่า 50% เป็นไม้ยางพารา จะถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายความเป็นกลางด้านคาร์บอน (Carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลกเพื่อลดการใช้ฟอสซิล จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาดไม้พลังงาน ซึ่งไทยมีจุดแข็งเนื่องจากมีวัตถุดิบค่อนข้างมาก และเป็นพื้นที่โซนร้อนทำให้ไม้โตเร็ว 
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการปลูกและการตลาดที่ดี โดยต้องปลูกในพื้นที่แปลงใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงสุดถึง 20% และควรมีการพัฒนาไปพร้อมกันระหว่างผู้ปลูก ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ต้องหลากหลาย และมีงานวิจัยรองรับในหลากมิติมากขึ้น เช่น มิติด้านการโลจิสติกส์
นายสำราญ หาญทะเล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิตติวนา มองว่า การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วเป็นการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่เกษตรกร และทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากไม้ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าปัจจุบันได้พัฒนาสายพันธุ์ยูคาลิปตัสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเป็น 20-25 ตัน โดยใช้เวลาปลูก 4 ปีครึ่ง ไม่เหมือนยูคาลิปตัสสายพันธุ์ดั้งเดิม (เพาะเมล็ด) ที่ให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 8-10 ตัน และต้องใช้ระยะเวลาปลูกนานถึง 8-10 ปี ดังนั้นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดจึงเป็นสิ่งที่คนในอุตสาหกรรมนี้ต้องไม่มองข้าม   

นายประจักษ์ รื่นฤทธิ์ ผู้แทนจากบริษัท SilviCarbon Agroforestry จำกัด ให้ทัศนะว่า การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่เหมาะสมสำหรับผู้ปลูกและผู้นำไม้ไปแปรรูปนั้น จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงพัฒนาและคัดเลือกพันธุ์ การผลิตกล้าไม้ การปลูกดูแลรักษา การใช้ประโยชน์ไม้ การตลาด และภาคการเงิน ซึ่งต้องมีการพัฒนาทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.นพรัตน์ คัคคุริวาระ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าเทคโนโลยีในการปลูกและจัดการไม้เศรษฐกิจโตเร็วควรต้องตอบโจทย์ผู้ปลูก โดยผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วในไทยมากกว่า 70% เป็นเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นเทคโนโลยีจะต้องเข้าถึงง่าย สะดวกต่อการใช้งาน มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายง่าย และราคาเข้าถึงได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดการป่าเศรษฐกิจโตเร็วในวงกว้าง 

นายณัฐณรงค์ เอี่ยมมี ผู้จัดการบริษัททรีเทคโนโลยี จำกัด เสนอแนะว่า การปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยคันนาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก หากปรับให้กว้าง 1.5-3 เมตร แล้วปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วบนคันนา 80-200 ต้นต่อไร่ เวลา 6 ปี เกษตรกรจะสร้างรายได้ไร่ละ 24,000-40,000 บาท  อย่างไรก็ตามต้องดูแลและจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด ดังนั้นเห็นว่าการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐมีความสำคัญ อาทิ การสนับสนุนทางการเงิน และองค์ความรู้ด้านการจัดการไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และทั้งหมดนี้คือการสะท้อนศักยภาพของไม้เศรษฐกิจโตเร็วจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากเครือข่ายการปลูกและการจัดการไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ที่ต่างมองเห็น “โอกาส” ในการพัฒนาไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ทั้งในด้านการขยายพื้นที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ ใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อให้ไม้เศรษฐกิจโตเร็วมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคต

SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

SCGP เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2567 ทำรายได้จากการขาย 33,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และกำไรสำหรับงวด 1,725 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ศักยภาพการบริหารต้นทุน การปรับพอร์ตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เดินแผนขยายการลงทุน M&P พัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง

 

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยวของไทยที่ดี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรมียอดขายเติบโตทุกกลุ่มสินค้า และเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของบรรจุภัณฑ์สินค้าคงทน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการในประเทศและการส่งออกในบางพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียใต้ ส่วนธุรกิจเยื่อและกระดาษ มียอดขายบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการท่องเที่ยวฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ความต้องการบรรจุภัณฑ์บางส่วนได้รับผลกระทบจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ของประเทศจีนและประเทศเวียดนาม และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัว รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ต้นทุนด้านพลังงานอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส SCGP จึงได้มุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการปรับพอร์ตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างรอบคอบเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพ

 

ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ มี EBITDA 5,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสำหรับงวด 1,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานตามกลยุทธ์การเติบโต การจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนด้วยการนำ Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ และการบริหารต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคด้วยเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบที่ครอบคลุมในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวม 155 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ SCGP ได้วางงบลงทุน Merger & Partnership (M&P) 10,000 ล้านบาท ในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโต เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ เพื่อรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการผลิตและส่งออก จากงบลงทุนรวมปีนี้ 15,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาดีลที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ 

 

สำหรับการเติบโตผ่านการขยายกำลังการผลิต ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SCGP ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ โดยมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 75,000 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 9 ของกำลังการผลิตเดิมในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและการพิมพ์ที่ทันสมัย เช่น ระบบหุ่นยนต์ (Robotic) ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) และแอปพลิเคชันสำหรับการพิมพ์ ฐานการผลิตแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้กับฐานการผลิตสินค้าแช่แข็งส่งออก ทำให้สามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุนค่าขนส่ง 

 

SCGP ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และวางกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับมือต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ผันผวน และการนำ Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ขยายใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนามเพิ่มเติม รวมถึงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 เพื่อร่วมลดคาร์บอนตามกรอบแนวคิด ESG

 

ล่าสุด SCGP ได้รับการประเมินการดำเนินงานด้าน ESG รวม 85 คะแนนจาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) และรักษาตำแหน่งอยู่ในกลุ่มท็อป 1% แรกของโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งมาจากความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน และได้รับรางวัล Best Green Loan สาขา Sustainable Finance จากงาน The Asset Triple A Awards ปี 2024 โดย The Asset นิตยสารทางการเงินชั้นนำของเอเชีย จากการสนับสนุน Green Loan โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด ESG
 

งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

https://investor.scgpackaging.com/storage/content/downloads/shareholders-meetings/2024/20240327-scgp-statement-financial-position.pdf

งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

รายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่องบการเงินอย่างย่อ

เสนอ  ผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

ความเห็น

งบการเงินอย่างย่อประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 งบกำไรขาดทุนและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ สำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกัน ซึ่งนำมาจากงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ข้าพเจ้าเห็นว่า งบการเงินอย่างย่อนี้มีความสอดคล้องในสาระสำคัญกับงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกาศงบการเงินอย่างย่อในหนังสือพิมพ์

งบการเงินอย่างย่อ

งบการเงินอย่างย่อไม่ได้รวมการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดตามที่กำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ดังนั้น การอ่านงบการเงินอย่างย่อและรายงานของผู้สอบบัญชีไม่สามารถแทนการอ่านงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วและรายงานของผู้สอบบัญชีได้

งบการเงินที่ตรวจสอบแล้วและรายงานของข้าพเจ้าต่องบการเงินดังกล่าว

ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไขต่องบการเงินที่ตรวจสอบแล้วตามรายงานลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
ซึ่งรายงานดังกล่าวรวมถึงการสื่อสารเรื่องสำคัญในการตรวจสอบ เรื่องสำคัญในการตรวจสอบคือเรื่องต่างๆ ที่มีนัยสำคัญที่สุดในการตรวจสอบงบการเงินสำหรับงวดปัจจุบันตามดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพของข้าพเจ้า

ความรับผิดชอบของผู้บริหารต่องบการเงินอย่างย่อ

ผู้บริหารมีหน้าที่ในการจัดทำงบการเงินอย่างย่อตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกาศในหนังสือพิมพ์

ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชี

ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบในการแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างย่อว่าสอดคล้องในสาระสำคัญกับงบการเงิน
ที่ตรวจสอบแล้วหรือไม่ จากการปฏิบัติงานของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส
810 (ปรับปรุง)
“งานการรายงานต่องบการเงินอย่างย่อ”

(พรทิพย์ ริมดุสิต)

ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

เลขทะเบียน 5565

บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด

กรุงเทพมหานคร

13 กุมภาพันธ์ 2567

ประกาศการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (ลงวันที่ 10 – 12 เม.ย. 2567)

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

https://investor.scgpackaging.com/storage/content/downloads/shareholders-meetings/2024/20240327-scgp-dividend-payment-shareholders.pdf

 

ประกาศ

เรื่อง  การจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น

   ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31) ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 โดยจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้น ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันอังคารที่ 2 เมษายน 2567) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี  

 

                                                                                     จึงประกาศมาเพื่อทราบ

                                                                             บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

                                                                                (ลงวันที่ 10 – 12 เมษายน 2567)