SCGP Newsroom

SCGP จับมือ ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล นำกระดาษกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างคุณค่าตามหลัก Circular Economy

SCGP นำโดย คุณพีรพงษ์ เทพวรินทร์ Manager – Recycling Solutions (รักษาการแทน Director – Recycling Materials Management) ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด หรือ TBR โดย คุณบุญเอนก วรรณพานิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษหลังการใช้งาน นำมารีไซเคิลอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดย SCGP จะนำวัสดุบรรจุภัณฑ์กระดาษหลังการบริโภคของ TBR กลับคืนสู่กระบวนการผลิตทั้งหมด เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณ อาคารเล้าเป้งง้วน ชั้น 32

 

ความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนถึงความไว้วางใจของ TBR หนึ่งในผู้นำด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคในประเทศไทยนธมิตรในการให้ SCGP ร่วมบริหารจัดการการเก็บบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพื่อส่งเข้าสู่รีไซเคิลอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดย SCGP ยังคงเดินหน้าสร้างความร่วมมือ ตลอดจนสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภคให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคำนึงถึงการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผสานกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้ธุรกิจเติบโตควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
 

SCGP ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยกับเซเนกัล นำนักธุรกิจศึกษาดูงานบรรจุภัณฑ์ แสดงศักยภาพภาคเอกชนไทย

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SCGP ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ ต้อนรับนักธุรกิจชาวเซเนกัลและแกมเบีย จำนวน 20 ท่าน ที่สนใจศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจบรรจุภัณฑ์ โดยมี คุณจุฑามาศ สายัมพล Manager – Creative Design Management- Inspired Studio and Packaging Solutions, SCGP เป็นวิทยากรบรรยายธุรกิจ และให้ความรู้พื้นฐานเรื่องบรรจุภัณฑ์ โซลูชัน และศักยภาพของ SCGP ในการตอบโจทย์การเติบโตสู่ตลาดสากล

 

“เซเนกัลเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง ในด้านเศรษฐกิจเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก จึงต้องการนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของ SCGP นี่จึงเป็นโอกาสสําหรับทั้งเซเนกัลและไทย ที่จะเพิ่มการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน” คุณปภาดา ภัคดีธนากุล, เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์

 

“นวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำเสนอใน SCGP Inspired Solutions Studio แห่งนี้ มีประโยชน์มากมายต่อความยั่งยืนของตลาดในเซเนกัล อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย พวกเราชื่นชอบและประทับใจมาก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างมากในประเทศของเรา ที่จะช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้สิ่งที่ฉันประทับใจก็คือระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์กระดาษ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งของ SCGP” Mr. Abdourahman Jallow, CEO – Afro Express, Gambia
 

หนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (ครั้งที่ 30) บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

หนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (ครั้งที่ 30)

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

https://investor.scgpackaging.com/storage/content/downloads/shareholders-meetings/2023/20230223-scgp-agm2023-invitation-th.pdf 

เรื่อง            กำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (ครั้งที่ 30)

เรียน           ท่านผู้ถือหุ้น

สิ่งที่ส่งมาด้วย  

1.  รายงานประจำปี 2565 (แบบ 56-1 One Report) และรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565 ในรูปแบบรหัสคิวอาร์ (QR Code)

2.  ข้อมูลของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนกรรมการที่ครบกำหนดออกจากตำแหน่งตามวาระ

3.  ข้อมูลของผู้สอบบัญชีที่ได้รับการเสนอชื่อประจำปี 2566

4.  ข้อมูลของกรรมการอิสระที่บริษัทเสนอเป็นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น

5.  ข้อบังคับบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้น

6.  การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้น การนับคะแนนเสียง และแจ้งผลการนับคะแนน

7.  การใช้รหัสคิวอาร์ (QR Code) สำหรับดาวน์โหลดเอกสารการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566

8.  แบบฟอร์มคำถามล่วงหน้าตามวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566

9.  แผนที่สถานที่ประชุม โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก 

10. เอกสารที่ต้องแสดงก่อนเข้าประชุมและเอกสารประกอบการมอบฉันทะ และหนังสือมอบฉันทะตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์กำหนด แบบ ก แบบ ข และแบบ ค

11. แบบขอรับหนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 และ/หรือ หนังสือรายงานประจำปี 2565 และ/หรือ รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 มีมติอนุมัติให้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (ครั้งที่ 30) ในวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 14.30 น. ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เลขที่ 61 ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระพร้อมด้วยความเห็นของคณะกรรมการดังนี้

วาระที่ 1:     รับทราบรายงานกิจการประจำปี 2565

ความเห็นคณะกรรมการ    เห็นสมควรเสนอรายงานกิจการประจำปี 2565 ซึ่งสรุปผลการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในรอบปี 2565 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

วาระที่ 2:     พิจารณาอนุมัติงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ความเห็นคณะกรรมการ เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านการตรวจสอบและลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว

วาระที่ 3:     พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรประจำปี 2565

ความเห็นคณะกรรมการ    เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท โดยจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.35 บาท ในวันที่ 24 เมษายน 2566

วาระที่ 4:     พิจารณาเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ครบกำหนดออกจากตำแหน่งตามวาระ

ความเห็นคณะกรรมการ    เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งพันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม นางไขศรี เนื่องสิกขาเพียร ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ และนายธีรพงศ์ จันศิริ เป็นกรรมการของบริษัทต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยนางไขศรีฯ และศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ฯ มีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระ

วาระที่ 5:      พิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชีประจำปี 2566

ความเห็นคณะกรรมการ    เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งนางสาวสุรีย์รัตน์ ทองอรุณแสง หรือ นางสาวพรทิพย์ ริมดุสิต หรือนายทรงชัย วงศ์พิริยาภรณ์ แห่งบริษัทเคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท และอนุมัติค่าสอบบัญชีประจำปี 2566 จำนวน 2,675,000 บาท ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเสนอ

วาระที่ 6:     พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยประจำปี 2566

ความเห็นคณะกรรมการ    เสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติให้คงค่าตอบแทนกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยประจำปี 2566 ตามหลักเกณฑ์และอัตราเดิมที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติไว้ ตามที่คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหาเสนอ

วาระที่ 7:     พิจารณาอนุมัติการแก้ไขข้อบังคับของบริษัท

ความเห็นคณะกรรมการ    เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแก้ไขข้อบังคับของบริษัทข้อ 8, 21, 25, 29, 36, 39 และ 42 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหาเสนอ

จึงขอเรียนเชิญผู้ถือหุ้นร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (ครั้งที่ 30) ในวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 14.30 น. ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เลขที่ 61 ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ตามแผนที่สถานที่ประชุม ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 9 บริษัทจะเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นตั้งแต่เวลา 12.30 น.   

สำหรับผู้ถือหุ้นท่านใดที่ประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนในการประชุมครั้งนี้ โปรดกรอกรายละเอียดและลงนามในหนังสือมอบฉันทะแบบ ก หรือ แบบ ข หรือแบบ ค (แบบ ค ใช้เฉพาะกรณีผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศและแต่งตั้งให้ Custodian ในประเทศไทยเป็นผู้รับฝากและดูแลหุ้น) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 10 หรือสามารถดาวน์โหลดจาก www.SCGPackaging.com โดยให้เลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งตามที่ระบุไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นอาจพิจารณามอบฉันทะให้กรรมการอิสระของบริษัทเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนท่านได้เช่นกัน โดยท่านสามารถมอบฉันทะพร้อมกับระบุความประสงค์ในการลงคะแนนเสียงแต่ละวาระเพื่อให้กรรมการอิสระลงคะแนนเสียงตามความประสงค์ของท่านได้อย่างชัดเจน (โปรดใช้หนังสือมอบฉันทะแบบ ข) และบริษัทขอแจ้งรายชื่อกรรมการอิสระที่ไม่ได้ครบกำหนดออกตามวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ตามรายชื่อดังต่อไปนี้   

1)  นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

2)  นายชาลี       จันทนยิ่งยง

3)  นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ

4)  นายวนัส       แต้ไพสิฐพงษ์

5)  นายวิบูลย์     ตวงสิทธิสมบัติ

6 Posted inข่าวประชาสัมพันธ์, อัปเดตธุรกิจLeave a comment on หนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (ครั้งที่ 30) บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

หนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31) บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

หนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31)

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

https://investor.scgpackaging.com/storage/content/downloads/shareholders-meetings/2024/20240223-scgp-agm2024-invitation-th.pdf

เรื่อง        กำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31)
เรียน        ท่านผู้ถือหุ้น
สิ่งที่ส่งมาด้วย    
1.    รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report) และรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2566 ในรูปแบบรหัสคิวอาร์ (QR Code)
2.    ข้อมูลของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนกรรมการที่ครบกำหนดออกจากตำแหน่งตามวาระ
3.    ข้อมูลของผู้สอบบัญชีที่ได้รับการเสนอชื่อประจำปี 2567
4.    ข้อมูลของกรรมการอิสระที่บริษัทเสนอเป็นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น
5.    ข้อบังคับบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้น
6.    หลักฐานแสดงสิทธิการเข้าร่วมประชุม วิธีการมอบฉันทะ การยื่นแบบคำร้องเพื่อเข้าร่วมประชุม (E-Request) การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนนเสียง และแจ้งผลการนับคะแนน สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) 
7.    ขั้นตอนการยื่นแบบคำร้องเพื่อเข้าร่วมประชุม (E-Request) และการใช้งานระบบประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) 
8.    หนังสือมอบฉันทะแบบ ก และแบบ ข ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์กำหนด 
9.    แบบฟอร์มคำถามล่วงหน้าตามวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567
10.  แบบขอรับหนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 และ/หรือ หนังสือรายงานประจำปี 2566 และ/หรือ รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2566
11.  แบบสำรวจผู้ถือหุ้นที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับผู้ถือหุ้นสามัญ SCGP ในปี 2567-2568
12.  ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 มีมติอนุมัติให้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31) ในวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 14.30 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) เพียงแบบเดียวเท่านั้น ตามข้อบังคับของบริษัทข้อ 21 และพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ตลอดจนกฎหมายและกฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระพร้อมด้วยความเห็นของคณะกรรมการดังนี้
วาระที่ 1:    รับทราบรายงานกิจการประจำปี 2566
ความเห็นคณะกรรมการ เห็นสมควรเสนอรายงานกิจการประจำปี 2566 ซึ่งสรุปผลการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในรอบปี 2566 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ 
วาระที่ 2:    พิจารณาอนุมัติงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ความเห็นคณะกรรมการ เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านการตรวจสอบและลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว 
วาระที่ 3:    พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรประจำปี 2566 
ความเห็นคณะกรรมการ  เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ในวันที่ 22 เมษายน 2567
วาระที่ 4:    พิจารณาเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ครบกำหนดออกจากตำแหน่งตามวาระ
ความเห็นคณะกรรมการ  เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ และนายวิชาญ จิตร์ภักดี เป็นกรรมการของบริษัทต่อไปอีกวาระหนึ่ง และเสนอชื่อนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เป็นกรรมการแทนนายชาลี จันทนยิ่งยง โดยนางศุภจีฯ มีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระ
วาระที่ 5:     พิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชีประจำปี 2567
ความเห็นคณะกรรมการ  เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งนางสาวสุรีย์รัตน์ ทองอรุณแสง หรือ นางสาวพรทิพย์ ริมดุสิต หรือนายทรงชัย วงศ์พิริยาภรณ์ แห่งบริษัทเคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท และอนุมัติค่าสอบบัญชีประจำปี 2567 จำนวน 2,699,000 บาท ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเสนอ
วาระที่ 6:    พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยประจำปี 2567
ความเห็นคณะกรรมการ เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้คงค่าตอบแทนกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยประจำปี 2567 ตามหลักเกณฑ์และอัตราเดิมที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติไว้ ตามที่คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหาเสนอ

          จึงขอเรียนเชิญผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31) ในวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 14.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) เพียงแบบเดียวเท่านั้น (บริษัทไม่มีการจัดห้องสำหรับการประชุม)* โดยบริษัทจะเปิดระบบให้ยื่นแบบคำร้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมประชุม ผ่าน E-Request ล่วงหน้าตั้งแต่วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป จนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ และหลังจากที่บริษัทได้ตรวจสอบข้อมูลแบบคำร้องและอนุมัติคำร้องของท่านแล้ว ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะที่ลงทะเบียนจะได้รับอีเมลแจ้งข้อมูล Username และ Password และลิงก์สำหรับใช้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในวันประชุม (26 มีนาคม 2567) โดยจะเปิดระบบให้เริ่มลงทะเบียนเพื่อเข้าประชุมได้ในวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะปิดการประชุม
 

ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะสามารถเข้าใช้งาน E-Request ได้ที่ https://pro.inventech.co.th/SCGP169820R/#/homepage

 

          สำหรับผู้ถือหุ้นท่านใดที่ประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนในการประชุมครั้งนี้ โปรดกรอกรายละเอียดและลงนามในหนังสือมอบฉันทะแบบ ก หรือ แบบ ข ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 8 หรือสามารถดาวน์โหลดจาก www.scgpackaging.com โดยให้เลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งตามที่ระบุไว้เท่านั้น และโปรดยื่นแบบคำร้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมประชุม (E-Request) พร้อมส่งหนังสือมอบฉันทะและเอกสารประกอบตามที่กำหนดมายังบริษัทล่วงหน้าทางไปรษณีย์เพื่อให้บริษัทได้รับภายในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 โดยบริษัทได้จัดเตรียมอากรแสตมป์สำหรับปิดในหนังสือมอบฉันทะเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้น  

          ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานแสดงสิทธิการเข้าร่วมประชุม วิธีการมอบฉันทะ การยื่นแบบคำร้องเพื่อเข้าร่วมประชุม (E-Request) และการออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนนเสียง และแจ้งผลการนับคะแนน สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) ได้ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 6 รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นแบบคำร้องเพื่อเข้าร่วมประชุม (E-Request) และการใช้งานระบบประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) ได้ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 7 นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นอาจพิจารณามอบฉันทะให้กรรมการอิสระของบริษัทเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนท่านได้เช่นกัน โดยท่านสามารถมอบฉันทะพร้อมกับระบุความประสงค์ในการลงคะแนนเสียงแต่ละวาระเพื่อให้กรรมการอิสระลงคะแนนเสียงตามความประสงค์ของท่านได้อย่างชัดเจน (โปรดใช้หนังสือมอบฉันทะแบบ ข) และบริษัทขอแจ้งรายชื่อกรรมการอิสระที่ไม่ได้ครบกำหนดออกตามวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ตามรายชื่อดังต่อไปนี้   
          1)    นายประสาร     ไตรรัตน์วรกุล
          2)    นางไขศรี    เนื่องสิกขาเพียร
          3)    นางผ่องเพ็ญ     เรืองวีรยุทธ
          4)    ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ 
          5)    นายวนัส     แต้ไพสิฐพงษ์
          6)    นายวิบูลย์     ตวงสิทธิสมบัติ

          ข้อมูลกรรมการอิสระที่บริษัทเสนอเป็นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 4

          ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะสามารถส่งคำถามล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นให้แก่บริษัทภายในวันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 ตามช่องทางที่กำหนด (ตามแบบฟอร์มคำถามล่วงหน้า ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 9) โดยบริษัทจะรวบรวมคำถามและจะตอบคำถามในที่ประชุมเฉพาะที่เกี่ยวกับวาระการลงคะแนนโดยตรง สำหรับคำถามและข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการตอบในที่ประชุม บริษัทจะสรุปประเด็นชี้แจงแนบท้ายรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งจะเผยแพร่ผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัทภายใน 14 วันนับแต่การประชุมเสร็จสิ้น

          บริษัทขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านเป็นอย่างสูงที่มีความเข้าใจและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านเป็นอย่างดีเช่นที่ผ่านมา

 

                                                                         ขอแสดงความนับถือ
                                                         กรุงเทพมหานคร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
                                                                    โดยคำสั่งของคณะกรรมการ 
                                                                        (นางสาววรารี โต๊ะเงิน)
                                                                             เลขานุการบริษัท

 

หมายเหตุ :    
1.    *การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งนี้ บริษัทมีสถานที่ควบคุมระบบการประชุม ที่อาคารอเนกประสงค์ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 1 ถนนปูนซิเมนต์ไทย แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
2.    บริษัทได้จัดส่งแบบลงทะเบียนซึ่งได้พิมพ์ข้อมูลของท่านสำหรับใช้กรอกข้อมูลในขั้นตอนการยื่นแบบคำร้องเพื่อเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Request) พร้อมหนังสือเชิญประชุมฉบับที่ได้ส่งให้ท่านผู้ถือหุ้นทางไปรษณีย์แล้ว
3.    ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะสามารถดูหนังสือนัดประชุมและเอกสารประกอบการประชุมในเว็บไซต์ของบริษัท (www.scgpackaging.com) และสามารถส่งคำถามเพื่อสอบถามข้อมูลในแต่ละวาระหรือข้อมูลอื่น ๆ ของบริษัทเป็นการล่วงหน้าผ่าน E-mail address: scgp_corporatesecretary@scg.com หรือทางไปรษณีย์มายังสำนักงานเลขานุการบริษัท บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ชั้น 19 อาคารเอสซีจี 100 ปี เลขที่ 1 ถนนปูนซิเมนต์ไทย แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800 หรือส่งโทรสารไปยังหมายเลข 02-586-3007 โดยระบุที่อยู่หรือข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อได้อย่างชัดเจนเพื่อบริษัทจะติดต่อกลับได้
4.    ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะต้องเตรียมอีเมลสำหรับยื่นแบบคำร้องเพื่อเข้าร่วมประชุม (E-Request) เพื่อรับ 1) ลิงก์สำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม และ 2) Username และ Password สำหรับเข้าร่วมประชุม
5.    สิทธิในการเข้าร่วมประชุม และการลงคะแนนเสียงในการประชุมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะ Username หนึ่งชื่อจะไม่สามารถใช้เข้าสู่ระบบ (log in) Inventech Connect เพื่อเข้าประชุมในเวลาเดียวกันจากอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้ ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะจึงต้องใช้ Username และ Password เพื่อเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองเท่านั้น และจะไม่มอบ Username และ Password ให้กับบุคคลใด ๆ  
6.    หากผู้ถือหุ้นมีความประสงค์จะขอรับเอกสารประกอบการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ของบริษัท กรุณากรอกรายละเอียดใน “แบบขอรับหนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 และ/หรือ หนังสือรายงานประจำปี 2566 และ/หรือ รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2566” ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 10
7.    บริษัทได้จัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัวขึ้น เพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงรายละเอียดการเก็บรวมรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ www.scgpackaging.com
8.    บริษัทขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงวัน เวลา สถานที่ และ/หรือวิธีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (ครั้งที่ 31) เพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บริษัทจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัท

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือพบปัญหาการใช้งานระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) ติดต่อได้ที่ :
Call center
โทรศัพท์ : 02-931-9133 (ระหว่างวันที่ 19-26 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 ¬– 17.30 น. เว้นวันหยุดราชการ)

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวาระการประชุมได้ที่ :
นางสาววรารี โต๊ะเงิน หรือ นางสาวกาญจนาภรณ์ พ่วงสุวรรณ หรือ นางสาวพิมพ์ชนก ณ พัทลุง
สำนักงานเลขานุการบริษัท บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)    
โทรศัพท์ 0-2586-5382 หรือ 0-2586-2855 หรือ 0-2586-3016 โทรสาร 0-2586-3007 
อีเมล scgp_corporatesecretary@scg.com

“Anya Songkran Gift Set” ชุดบรรจุภัณฑ์ขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทย ของขวัญแทนความประทับใจประจำเทศกาลสงกรานต์

เทศกาลสงกรานต์ หรือประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทย ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและชื่นฉ่ำหัวใจที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เพราะจะมีการเล่นน้ำ ปะแป้ง สรงน้ำพระ รวมถึงเป็นโอกาสให้คนที่ทำงานไกลบ้านได้กลับมาหาครอบครัวหรือคนที่เรารัก 

 

อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีอยู่หนึ่งกิจกรรมที่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะต้องปฏิบัติ นั่นคือการรดน้ำดำหัวขอพรผู้หลักผู้ใหญ่โดยใช้น้ำเป็นสื่อกลาง เพื่อแสดงถึงความเคารพ นอบน้อม และขอโทษสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่เคยล่วงเกิน 

 

สุชาณัฐ ชิดไทย นักออกแบบจาก SCGP ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรดน้ำดำหัว จึงต่อยอดออกแบบ “Anya Songkran Gift Set” ชุดบรรจุภัณฑ์ขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทย ที่จะเปลี่ยนให้เทศกาลสงกรานต์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป แถมยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีกด้วย 

โปรเจกต์ Anya หรือ “อัณยา”

 

หลังได้รับโจทย์จากลูกค้าและพบว่าผลิตภัณฑ์มีแค่เพียงขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทย ทางทีมผู้ออกแบบของ SCGP มีความตั้งใจที่จะออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับสิ่งของสำคัญสำหรับการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

ก่อนจะระดมความคิดจนตกผลึกมาเป็นรูปทรงพานพุ่มดอกไม้ ที่มีรายละเอียดยิบย่อยไม่เหมือนใคร สื่อถึงความดีงาม ความรักบริสุทธิ์ ความสดชื่น ภายใต้คอนเซปต์ “ความปรารถนาดีไม่มีที่สิ้นสุด” อันเป็นที่มาของชื่อ Anya หรือในภาษาไทย “อัณยา”

 

เริ่มลงมือ 

 

เริ่มแรก SCGP อยากนำหนึ่งในจุดเด่นขององค์กรอย่าง Micro Flute มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดย “Anya Songkran Gift Set” ไม่มีสักจุดเดียวเลยที่ใช้กาว แต่ทุกองค์ประกอบสามารถเชื่อมต่อหรือยึดกันด้วยวิธีการพับ

 

ในส่วนของฝาปิดซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก มีการออกแบบให้ช่วยล็อคตัวขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทยไม่ให้ขยับเขยื้อน แต่ถ้าหากอยากนำออกมาใช้งานก็สามารถเปิดฝาด้านบนออกได้แบบง่ายดาย 

 

ประกอบกับเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ Digital Print ลวดลายกราฟิกสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกมะลิ ดอกพุด และใบตอง ที่สื่อถึงความเป็นพานพุ่มดอกไม้ได้ทันที ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์สุดพิเศษชิ้นนี้อย่างมาก เนื่องจาก Digital Print ของ SCGP เหมาะกับการผลิตในจำนวนน้อยและไม่จำเป็นต้องขึ้น Block สำหรับการผลิต

 

ถึงแม้ภายนอกจะดูมีความอลังการและชวนคาดคะเนให้คิดว่ามีราคาสูง ทว่าในทุกขั้นตอนการออกแบบ SCGP ได้กำหนดงบประมาณไว้ ส่งผลให้ “Anya Songkran Gift Set” มีราคาที่จับต้องได้และเหมาะสมที่จะนำไปมอบให้ผู้อื่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

 

สว่างไสวหลังใช้งาน 

 

ความพิเศษของ “Anya Songkran Gift Set” ชุดบรรจุภัณฑ์ขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทางทีมผู้ออกแบบของ SCGP ได้วางแผนและออกแบบไว้แล้วว่าหลังจากหยิบขันเงินใบเล็กและขวดน้ำอบไทยออกไป บรรจุภัณฑ์รูปทรงพานพุ่มดอกไม้นี้จะต้องไม่เป็นกลายเป็นเพียงขยะในอนาคต 

 

โดย “Anya Songkran Gift Set” ชุดบรรจุภัณฑ์ขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทย สามารถนำมาใช้วางเป็นของตกแต่งบ้านหรือนำสิ่งของอื่น ๆ มาวางแทนที่ขันและขวดน้ำอบ 

 

แต่ที่เป็นไฮไลท์คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยน “Anya Songkran Gift Set” ให้กลายเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะ สามารถนำหลอดไฟ LED มาใส้ไว้ด้านใน ซ้ำยังสะดวกต่อการต่อสายไฟต่าง ๆ อีกด้วย 

 

คุณภาพและความคุ้มค่าของ “Anya Songkran Gift Set” ชุดบรรจุภัณฑ์ขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทยจาก SCGP การันตีได้จากการได้รับรางวัล Thai Star ประเภท Consumer Package ในงาน ThaiStar Packaging Award เมื่อปี 2021 

 

ทั้งนี้หากผู้ประกอบการท่านใดมีความประสงค์อยากให้บรรจุภัณฑ์ขององค์กรตนเองช่วยเพิ่มมูลค่าได้เหมือนอย่าง “Anya Songkran Gift Set” ชุดบรรจุภัณฑ์ขันเงินใบเล็กและน้ำอบไทย สามารถขอคำปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก SCGP ได้ตลอดเวลาทำการ
 

SCGP ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ “Sustainable Packaging” บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน ให้น้อง ม.นเรศวร

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา SCGP โดย คุณสุเมธ บุณยธนพันธ์ Manager – Inspired Studio and Packaging Solutions, SCGP ร่วมให้ความรู้แก่นักศึกษาระดับปริญาตรี คณะโลจิสติกส์และดิจิตัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 93 คน ด้วยการแชร์ความรู้พื้นฐานของบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อการทำงานด้านโลจิสติกส์ ทั้งเรื่องชนิดบรรจุภัณฑ์ ความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ ความแข็งแรง การจัดหน่วย และความสะดวกของบรรจุภัณฑ์ในการกระจายสินค้า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเลือกใช้บรรจุภัณฑ์โลจิสติกส์เพื่อการจัดการต้นทุน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์โลจิสติกส์ และ  Supply Chain Optimization  รวมถึงการอัพเดทเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น และแนวโน้มการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability packaging) ขององค์กร และแบรนด์สินค้าเพื่อปูพื้นฐาน Sustainability Mindset แก่กลุ่มเยาวชนให้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ไม่อีกครั้งตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานในอนาคตของนักศึกษา และสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นนักนวัตกรรมทางสังคม

“ได้เรียนรู้ถึง Sustainable Packaging ของทาง SCGP ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำงานในรายวิชาที่กำลังศึกษาอยู่ อีกทั้งเมื่อได้ฟังแนวคิดต่าง ๆ ที่ทางวิทยากรบรรยาย ก็มีความรู้สึกสนใจในด้าน Sustainability เพิ่มมากขึ้น ในอนาคตอยากลองฝึกงานในด้านนี้ เพื่อจะได้เป็นการยืนยันว่าเราชอบทางด้านนี้จริง ๆ ครับ” ธนวัฒน์ วิริยะดิลก นักศึกษา

“ได้แนวคิดด้านบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงด้านการขนส่งที่ไม่คิดว่าจะเห็น ชอบที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการขนส่งจานกระดาษไปขายที่ต่างประเทศโดยไม่ใช้พาเลทรอง ซึ่งมันหลุดออกไปจากกระบวนการขนส่งที่เคยเห็นมา รู้สึกว่าการทำ Sustainable Packaging นั้นมีความน่าสนใจ และการบรรยายในครั้งนี้ทำให้ได้ไอเดียต่อยอดในการทำงานได้ด้วยค่ะ” พรรณภัทร รวบเครืออยู่ นักศึกษา
 

“CUre AIR SURE” หน้ากากกรองฝุ่นพิษและเชื้อโรค เพื่อคนไทย

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา บวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในทั่วโลก ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนต้องมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อปกป้องตัวเองจากภัยอันตรายที่ได้คืบคลานเข้ามา

 

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การมาของฝุ่นและเชื้อโรคเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ การสวมใส่ “หน้ากากอนามัย” เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอก ซึ่งครั้งหนึ่งทางนักออกแบบของ SCGP เคยมีโอกาสใหญ่ ๆ ในการได้ร่วมงานกับหน่วยงานที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการผลิตหน้ากากอนามัย และหน้ากากกรองฝุ่น ที่มีประสิทธิภาพ สวมใส่สบาย ออกมาเพื่อให้คนไทยได้ใช้งานกัน ทุ่มเทกำลังกายและใจ ก่อนจะให้กำเนิดหน้ากากกรองฝุ่นพิษและเชื้อโรค ในชื่อ “CUre AIR SURE” ขึ้นมา

 

จุดริเริ่ม

หลายคนน่าจะทราบกันว่า ในช่วงประมาณปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื้อไวรัสโควิด 19 กำลังเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยใหม่ ๆ นั้นก็ได้เกิดวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพขึ้นมา

วิกฤตดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางให้กับสังคมไทย ในการตามหาหน้ากากอนามัยที่ได้คุณภาพมาครอบครอง หรือต่อให้หาได้ หน้ากากอนามัยเหล่านั้นก็ไม่ได้มีคุณภาพมากพอกับการป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคได้อย่างดีที่สุด

 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ที่เป็นกำลังหลักสำคัญในช่วงที่เชื้อไวรัส โควิด 19 กำลังสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนอย่างหนักนั้น หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นอุปกรณ์ที่พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสวมใส่เพื่อทำงานอยู่ตลอด ไม่สามารถหลีกเลี่ยงในจุดนี้ได้

 

ช่วงเวลานั้น ทางกลุ่มทุนวิจัยการผลิต และการจัดการ จากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) และทาง CU Engineering Enterprise จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพออกมาได้เอง ต้องนำเข้าอย่างเดียว และถึงแม้จะนำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศมา หน้ากากอนามัยเหล่านั้นก็มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน มีขนาดที่ไม่ได้เหมาะสมกับโครงหน้าของคนไทยโดยส่วนใหญ่ อาจจะทำให้ผู้ใช้งานมีความเสี่ยงต่ออันตรายได้

 

จึงร่วมมือกันจัดตั้งทีมสำหรับการระดมความคิด, ผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับการใช้งานของคนไทยออกมา ซึ่งทีมดังกล่าวก็ได้ทางนักออกแบบของ SCGP เข้ามาช่วยในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ ในชื่อ หน้ากากกรองฝุ่นพิษและเชื้อโรค “CUre AIR SURE”

 

“อย่างที่เราจำกันได้ ตอนที่ประเทศไทยเจอกับโควิดใหม่ ๆ เนี่ย หน้ากาอนามัยมันจะขาดแคลน ซึ่งหน้ากากอนามัยที่เราหากันมาได้เนี่ย คือแค่มีก็พอแล้ว ใช้ได้ไม่ได้ ไม่รู้ แต่ต้องมีเอาไว้ก่อน” นักออกแบบ SCGP กล่าว

 

“มันก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา พอทาง คณะวิศวะฯ จุฬาฯ ไปสืบค้นดู ก็พบว่าประเทศไทย ยังผลิตหน้ากากอนามัยไม่ได้ ต้องนำเข้า 100 เปอร์เซนต์ โดยนำเข้ามาจากที่ไหนก็ได้ ไม่มีบังคับ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี ให้ประเทศไทยได้มีการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ ออกมาใช้งานได้บ้าง เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการครั้งนี้”

 

ประสิทธิภาพครบครัน

สำหรับหน้ากาก “CUre AIR SURE” นั้น ทางนักออกแบบ SCGP ได้มีการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ออกมาโดยเน้นไปที่ประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและเชื้อโรค และความสะดวกสบายในการใช้งาน

 

ตัวหน้ากากมีความสามารถในการกรองอนุภาคและป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้เทียบเท่ากับหน้ากาก N95 มีประสิทธิภาพการกรองทั้งแบคทีเรีย และฝุ่น ได้กว่า 99 เปอร์เซนต์ มีรูปแบบให้ใช้แผ่นกรองแบบเปลี่ยนได้ ไม่ต้องทิ้งทั้งชิ้นเหมือนกับหน้ากากโดยทั่วไป น้ำหนักเบาเพียง 15 เปอร์เซนต์ ของหน้ากากอนามัยทั่วไป ไม่บดบังทัศนวิสัยระหว่างการทำงานของผู้ใช้งาน สวมใส่สบาย

ส่วนสิ่งที่ทางนักออกแบบ SCGP ต้องเจอกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ หน้ากากกรองฝุ่นพิษและเชื้อโรค “CUre AIR SURE” นั้นก็คือการจำเป็นต้องสื่อสารร่วมงานกับคนหลายฝ่าย เพื่อให้ได้ชิ้นงานออกมาเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทางนักออกแบบ SCGP ก็ได้เปิดเผยว่า ถ้าไม่ได้มีการร่วมงานกับคนในกลุ่มอื่น ๆ เขาก็ไม่มีทางที่จะทำให้ผลงานครั้งนี้เกิดขึ้นจริงได้

 

“เราทำหน้าที่ในส่วนของการออกแบบทั้งหมด แต่เราก็ต้องหาผู้ที่สามารถจัดหาทรัพยากร สำหรับการผลิตผลงานชิ้นนี้ออกมาให้ได้ด้วย มีหลายฝ่ายเลยที่เราต้องไปคุย ต้องไปร่วมงาน ซึ่งก็ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากพวกเขา”

 

ใส่ใจคนใช้งาน

นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการใช้งานแล้ว อีกรายละเอียดหนึ่งที่ทางนักออกแบบ SCGP ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้หน้ากาก “CUre AIR SURE” นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาสำหรับคนไทยทุกคน ก็คือ การออกแบบตัวหน้ากาก ให้มีขนาดที่เหมาะสมกับโครงหน้าของคนเอเชีย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

 

โดยทางนักออกแบบ ก็ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เรื่อง Ergonomics (ตามหลักสรีรศาสตร์) คือตอนที่ดีไซน์ตัวหน้ากาก ผมก็ไปศึกษาเกี่ยวกับโครงหน้าของคนเอเชียมาก่อน เพราะว่าหน้ากากที่มีอยู่ในไทยเกือบทั้งหมด เป็นของสำหรับคนยุโรป เราก็ไปหาหลักสถิติของคนไทยมาว่า จมูกควรประมาณนี้ หน้าควรประมาณนี้ เพื่อให้ตัวหน้ากากมันเหมาะสำหรับให้คนไทยได้ใช้งานมากที่สุด”

 

“และเรื่อง Ergonomics จะส่งผลถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้สวมใส่ด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ผมเพิ่งได้เรียนรู้จากการทำงานนี้ ก็คือถ้าตัวหน้ากาก มีขนาดที่ไม่พอดีกับผู้สวมใส่ จะมีจุดรั่ว พอมีจุดรั่ว ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว”

 

และด้วยทั้งประสิทธิภาพในการใช้งาน ความสะดวกสบายในการสวมใส่ และการใส่ใจในรายละเอียดสำคัญ ที่หลาย ๆ คนอาจมองข้าม ทำให้ผลงาน หน้ากากกรองฝุ่นพิษและเชื้อโรค ในชื่อ “CUre Air Sure” นั้นสามารถก้าวไปถึงเกียรติยศ คว้ารางวัล “Design Excellence Award (DEmark)” กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล ในปี 2021 

 

ต่อเนื่องในปีเดียวกันกับรางวัล “Good Design Award (G-Mark)” จากประเทศญี่ปุ่น ด้านการออกแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ

 

“ทางคณะกรรมการของญี่ปุ่น เขาก็ทึ่งมากว่าเราสามารถทำผลงานชิ้นนี้ออกมาได้ เราได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า SCGP นั้นไม่ธรรมดานะ ทั้งองค์ความรู้ต่าง ๆ เทคนิคการผลิด มันเป็นความรู้ในระดับที่ที่อื่นไม่มีกัน”

 

“เราสามารถสื่อสารให้ผู้ผลิต สามารถเข้าใจในงานออกแบบของเรา และสามารถผลิตชิ้นงานออกมาให้ตรงกับที่เราออกแบบเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นคือองค์ความรู้ที่ผมว่ามีค่า” นักออกแบบ SCGP กล่าว
 

Premium Banana Box บรรจุภัณฑ์กล้วยหอมทองสุดพรีเมียมที่ไม่ “กล้วย” อย่างชื่อ จาก SCGP

“กล้วย” ถือเป็นผลไม้หากินได้ง่ายและพบได้บ่อยตามท้องตลาดของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง และอีกหลาย ๆ สายพันธุ์ ซึ่งผลไม้ชนิดนี้เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร เหมาะสำหรับทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้ที่ดูแลเรื่องสุขภาพ ออกกำลังกาย และนักกีฬา

ซึ่งที่ ไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค ในจังหวัดเชียงราย ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีการเพาะปลูกกล้วยสุดพรีเมียมอย่าง “กล้วยหอมทอง” ซึ่งเป็นกล้วยสายพันธุ์พิเศษและพรีเมียม 

 

เมื่อเป็นผลไม้ที่การันตีเกรด AAA จึงจำเป็นต้องถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถยกระดับ เพิ่มคุณค่าของผลไม้ชนิดนี้ และแน่นอนว่า กล้วยหอมทอง ได้ถูกห่อหุ้มด้วยบรรจุภัณฑ์สุดพรีเมียมที่ได้รับการออกแบบโดย SCGP อย่าง “Premium Banana Box”

 

บรรจุภัณฑ์สุดพิเศษเนื่องในโอกาสพิเศษ

เมื่อกล่าวถึง ไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค หลายคน ๆ อาจรู้จักในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวน่าเช็คอิน และยังเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีเนื้อที่ราว 8,000 ไร่ ซึ่งที่นี่มีเพาะปลูก “กล้วยหอมทอง” หนึ่งในผลไม้สุดพรีเมียมและขึ้นชื่อของไร่ อย่างไรก็ดีเรามาทำความรู้จักกล้วยชนิดนี้กันคร่าว ๆ 

 

สำหรับกล้วยหอมทองนั้นจัดเป็นผลไม้เกรด AAA เป็นกล้วยที่มีความพรีเมียม มีผลขนาดใหญ่ และมีราคาแพง ซึ่งเมื่อสุกแล้วเปลือกของกล้วยนั้นจะเป็นสีเหลืองทองและมีรสชาติหวาน 

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญและเนื่องในโอกาสพิเศษ แน่นอนสิ่งที่อยู่คู่กับช่วงเวลาเหล่านี้คือ ของขวัญ เพื่อนำไปมอบให้กับบุคคลสำคัญ และสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ…ผลไม้ 

 

ไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค ต้องการนำกล้วยชนิดนี้ (กล้วยหอมทอง) มาเป็นของขวัญสุดพิเศษเพื่อมอบให้กับกลุ่มบุคคลสำคัญในระดับผู้บริหารเช่นเดียวกัน และเมื่อเป็นเช่นนั้นผลไม้ดังกล่าวจำเป็นจะต้องถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์สุดพิเศษ 

 

และผู้ที่รับหน้าที่นี้ ได้แก่ คุณอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล และ คุณอติกานต์ บุญประคอง ทีมดีไซน์ของ SCGP ที่ได้นำความแปลกใหม่มามอบให้สำหรับบรรจุภัณฑ์ของผลไม้ชนิดนี้ และยังยกระดับกล้วยสุดพรีเมียมได้อีกทาง  

 

เรียบหรู สื่ออัตลักษณ์

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใส่กล้วยหอมทองนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก 2 อย่าง ได้แก่ เรื่องของน้ำหนักและลวดลายที่สามารถสื่อถึงจุดเด่นและอัตลักษณ์ของไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค 

 

ในอันดับแรกว่าด้วยเรื่องของน้ำหนัก ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ากล้วยหอมทองนั้นเป็นกล้วยสายพันธุ์พรีเมียม เมื่อผลสุกเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ ส่งผลการออกแบบโครงสร้างของกล่องนั้นจำเป็นจะต้องรองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี 

 

ทีมออกแบบได้พัฒนาโครงสร้างให้มีความแข็งแรงและยังคำนึงถึงเรื่องของความเรียบง่าย สวยหรู ซึ่งตัวกล่องนั้นออกแบบด้วยรูปทรงแปดเหลี่ยม เพิ่มจุดเด่นที่บริเวณด้านหน้ากล่องด้วยการเว้นที่ว่าง แสดงให้เห็นถึงตัวสินค้า 

เมื่อเป็นกล่องใส่ผลไม้แน่นอนว่าหูหิ้วตัวกล่องนั้นก็มีความจำเป็นและนั่นคือการบ้านที่จะทำอย่างไรให้กล่องดังกล่าวมีความแปลกใหม่

 

การออกแบบหูหิ้วที่ทีมงาน SCGP ต้องใช้ระยะเวลาในการออกแบบอยู่พอสมควร จนในที่สุดรูปแบบดังกล่าว ปรากฏออกมาผ่านการออกแบบที่เรียบง่าย ด้วยการซ่อนหูหิ้วขนาดกำลังพอดีมือจับแบนราบไปกับตัวกล่อง นอกจากนี้โครงสร้างยังคำนึงถึงการมีรูระบายอากาศให้กับผลไม้เพื่อรักษาความสดใหม่

 

ส่วนประการที่สองคือการออกแบบ “ลวดลาย” ของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของ ไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค โดยทีมงานได้นำเสนอสิ่งที่เป็นจุดเด่นของกล่องใบนี้ก็คือเฉดสี ที่ได้เลือกใช้โทนสีเขียวเข้มเพิ่มความพรีเมียม เพิ่มเติมด้วยลวดลายของ ใบตอง ที่มีความพลิ้วไหว  

 

แล้วสิ่งไหนจะสื่อถึงไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค? 
แน่นอนว่านี่อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย 

ทีมออกแบบของ SCGP ได้ซ่อนกิมมิคเล็ก ๆ เอาไว้รอบกล่องใบนี้เช่นกัน จากเอกลักษณ์ของ ไร่บุญรอด โดยได้มีการศึกษาภูมิทัศน์พื้นที่การเกษตรของไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค อย่างเช่น พื้นที่ไร่ชาที่ปลูกแบบขั้นบันได 

 

และยังมีรูปปั้นของ สิงห์ หรือ ประติมากรรมสีทองขนาดใหญ่ที่เป็นจุดเด่นของไร่นี้มาจัดองค์ประกอบวางเอาไว้บนตัวบรรจุภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งยานพาหนะในการท่องเที่ยวรับชมบรรยากาศของไร่อย่าง…บอลลูน

 

ตอบโจทย์ทุกแง่มุม

ก่อนที่จะกลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่กล้วยหอมทองนี้ ทีมงาน SCGP ต้องทำการบ้านอย่างรอบคอบเพื่อนำเสนอกล่องใส่กล้วยที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ซึ่งมีการประสานงานกันระหว่างทีมออกแบบและทีมโครงสร้างเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็ม 

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวสามารถสื่อตัวตนของทั้งสินค้าและตัวตนของไร่บุญรอด สิงห์ปาร์ค ออกมาได้เป็นอย่างดี จนทำให้กล่องใส่กล้วยสุดพรีเมียมนี้ ได้รับรางวัล Asia Star Point Of Purchase จากการส่งเข้าประกวด บรรจุภัณฑ์ไทย หรือ Thaistar Packaging Awards เมื่อปี 2021 

 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า SCGP มีทีมงานที่สามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างหลากหลาย
 

SCGP คว้ารางวัล ‘Best Green Loan’ จากงาน The Asset Triple A Awards 2024

SCGP คว้ารางวัล Best Green Loan ในสาขา Sustainable Finance จากเวที The Asset Triple A Awards ประจำปี 2024 จัดโดย The Asset นิตยสารทางการเงินชั้นนำของเอเชีย โดย SCGP ได้มีการลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และมีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ตอกย้ำพันธกิจในด้านความยั่งยืนและเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและร่วมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ร่วมแชร์องค์ความรู้และการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สู่ 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน จาก SEAMEO

SCGP เปิดบ้านต้อนรับ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (The Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) หรือ SEAMEO SEPS โดยมีคณะผู้อำนวยการโรงเรียนและคณาจารย์ที่เป็นสมาชิก และเข้าร่วมโครงการ Sufficiency Economy Philosophy towards Sustainability (SEP4School) จาก 7 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว และอินโดนีเซีย เข้าเยี่ยมชม SCGP โรงงานบ้านโป่ง และชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะในโครงการ SCGP ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ เพื่อศึกษาการดำเนินธุรกิจด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตามกรอบแนวคิด ESG และมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ทั้งในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาชุมชน เพื่อร่วมสร้างเสริมความรู้และประสบการณ์ให้แก่สมาชิก ตามวัตถุประสงค์ของการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาวิจัย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติตามบริบทของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จร่วมกันของภูมิภาค และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ