VKPC ติดอันดับ 1 ใน 100 บริษัทด้านความยั่งยืนในประเทศเวียดนาม ติดต่อกันเป็นปีที่ 3
สภาพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนแห่งชาติเวียดนาม (VBCSD) มอบประกาศนียบัตรให้แก่ 100 บริษัทด้านความยั่งยืน (CSI 100) จากโครงการประเมินและจัดอันดับธุรกิจยั่งยืนประเทศเวียดนาม โดย Vinakraft Paper Co., Ltd. (VKPC) ใน SCGP ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่น ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมบริษัทในประเทศเวียดนามให้ดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คุณสมภพ วิทวรสกุล Chief Regional Officer, SCGP กล่าวว่า VKPC มุ่งดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนผ่านกลยุทธ์ ESG 4 Plus : มุ่ง Net Zero – Go Green – ลดเหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ Plus รักษาความเชื่อมั่นและโปร่งใส ที่สอดคล้องกับแนวทางขององค์กรและบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเวียดนาม รวมถึงเป้าหมายของประเทศในการมุ่งสู่ Net Zero และ Go Green เริ่มตั้งแต่การผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลเกือบ 100% รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงสินค้า กระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและการนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เช่น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ การนำเศษเหลือใช้กลับมาใช้พลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่
“การได้รับรางวัลจาก CSI 100 ครั้งนี้ สะท้อนถึงกลยุทธ์และเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของบริษัทมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่ง VKPC ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืน” คุณสมภพ กล่าวเพิ่มเติม
Wealthy Orange Box กล่องส้มมั่งมี การใช้งานที่ยั่งยืน
อีก 1 บรรจุภัณฑ์ ของ SCGP ผลงานการออกแบบโดย ธนพร วรวาส และอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล เป็นการดีไซน์กล่องส้มที่บ่งบอกถึงเทศกาลตรุษจีน ที่มีความสำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างมาก ซึ่ง ’ส้ม‘ เป็นเสมือนผลไม้มงคลประจำเทศกาล และอีกทั้งบรรจุภัณฑ์นี้สร้างสรรค์ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน การันตีรางวัลหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น DEmark Award 2021 ประเภทกลุ่มผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ และรางวัลชนะเลิศ ThaiStar Packaging Award 2021 ประเภท Consumer Package และ AsiaStar Packaging Awards
กล่องส้มมั่งมีส่งต่อความเป็นสิริมงคล
หากพูดถึงเทศกาลตรุษจีน ผลไม้ที่นิยมเพื่อนำมามอบให้เป็นของขวัญแก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหรือส่งต่อความรักและเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่กันนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น ’ส้ม’ ที่แฝงไปด้วยความหมายดี ๆ ที่ส่งมอบให้แก่กันผ่านเทศกาล หากมองภายนอกบรรจุภัณฑ์จะมีลักษณะเหมือนโคมไฟที่แขวนไว้ตามบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีน จากความหมายของภาษาจีนบนบรรจุภัณฑ์ ที่แปลว่าความโชคดี และสีแดงสีแห่งความมงคลในเทศกาล
ซึ่ง ส้ม ในภาษาจีนนั้นแปลว่าสิริมงคล ชาวจีนจึงถือว่าส้มเป็นผลไม้มงคลที่มีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง ถือได้ว่า เป็นการอวยพรและมอบของขวัญที่เป็นมงคลให้แก่ญาติผู้ใหญ่และคนที่เรารัก ส่งต่อความมงคล ความมั่งคั่ง และความร่ำรวยให้แก่กัน
ฟังก์ชันการใช้งานที่ยั่งยืน
เราได้เล็งเห็นแล้วว่า สามารถนำบรรจุภัณฑ์นี้ไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่จากบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ที่ได้รับ ไม่ว่าจะนำไปตกแต่งใส่ต้นไม้หรือดอกไม้ไว้ที่ฐานในกล่อง อีกทั้งยังสามารถเก็บถ้วยน้ำชาไว้สำหรับเสิร์ฟ จนกระทั่งเป็นของตกแต่งไว้แขวนในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือความต้องการของผู้ที่ได้รับ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า
ถ้าหากว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะจะมาถึงท่านใดอยากส่งมอบความมงคลและความโชคดีให้แก่กันเป็นของขวัญผ่านเทศกาล และการใช้งานที่คุ้มค่า บรรจุภัณฑ์แทนความหวังดีจาก SCGP ถือว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างยิ่ง
ผู้ประกอบการทุกฝ่ายงานที่มีความต้องการในบรรจุภัณฑ์แบรนด์ของตนเอง ให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างดีมีคุณภาพ สามารถขอคำปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลจาก SCGP ที่มุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อร่วมส่งเสริมการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
HOLIS by SCGP Active Collagen Jelly คว้ารางวัล Superior Taste Award 2024 การันตีรสชาติของสินค้าเอาใจผู้รักสุขภาพ
HOLIS by SCGP Active Collagen Jelly คว้ารางวัล Superior Taste Award 2024 ประเภท Sweets & Confectionary จากสถาบันรับรองรสชาติอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ หรือ International Taste Institute ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ถือเป็นรางวัลที่ได้การรับรองและการันตีด้านรสชาติโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหารในระดับสากล
นายเอกราช นิโรจน์ Enterprise Marketing Director, SCGP กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทฯ ที่สินค้า HOLIS by SCGP Active Collagen Jelly ได้รับรางวัล Superior Taste Award 2024 จากการทุ่มเทด้านงานวิจัยและใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจนได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
สำหรับ HOLIS by SCGP Active Collagen Jelly นับเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใหม่ล่าสุดของ HOLIS by SCGP ที่นอกจากคุณประโยชน์ที่ตอบโจทย์คนใส่ใจสุขภาพผิว คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรส่วนประกอบหลักที่ดีจากธรรมชาติ และกรรมวิธีการผลิตเฉพาะ SCGP ที่ทำให้ได้เนื้อสัมผัสของเจลลี่ที่แตกต่างจากเจลลี่ทั่วไปแล้ว ยังมอบประสบการณ์การรับประทานผลิตภัณฑ์คอลลาเจนในรูปแบบใหม่ คือแบบ เจลลี่เคี้ยวหนึบ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค สะดวก ทานง่าย และยังมีรสชาติอร่อยจากรางวัล Superior Taste Award 2024 เป็นตัวการันตีอีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสารและโปรโมชันจาก HOLIS by SCGP ได้ที่เว็บไซต์ www.holisbyscgp.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ HOLIS by SCGP และ LINE @SCGPHealthcare
SCGP เปิดบ้านต้อนรับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เยี่ยมชมความก้าวหน้า ระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังแก้ปัญหากลิ่นในโรงงานอุตสาหกรรม “E-Nose”
กรมโรงงานอุตสาหกรรม นำโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่างรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหาร ร่วมเยี่ยมชมเทคโนโลยี โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่อง E-Nose ระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม” โดยมี พี่วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูล และร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการพัฒนานวัตกรรม E-Nose ณ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ จังหวัดราชบุรี
SCGP ได้ร่วมมือกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการศึกษาพัฒนาระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้งานตรวจสอบและป้องกันผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง โดยได้ทำการทดสอบกับกลิ่นจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มากกว่า 21 โรงงาน จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีประเด็นเรื่องกลิ่น เช่น โรงงานยางพารา โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงาน Refuse Derived Fuel โรงงานผลิตเยื่อและกระดาษ และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล อีกทั้งยังมีการใช้งานจริงแล้วที่กลุ่มโรงงานเยื่อและกระดาษของ SCGP ซึ่งผลการใช้งานระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังกลิ่น มีความแม่นยำในการระบุอัตลักษณ์และค่าความเข้มข้นของกลิ่น สามารถตรวจวัดได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน ปัญหาร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวนจากการประกอบกิจการโรงงานเกิดขึ้นเฉลี่ย 300 ครั้งต่อปี จากการตรวจสอบกลิ่นด้วยการดม (Sensory Test) ด้วยจมูกคนเพื่อหาค่าความเข้มกลิ่น (Odor Concentration) ระดับการรบกวนของกลิ่น โดยเป็นกลิ่นจากการประกอบกิจการโรงงานที่สามารถดมด้วยจมูกคนได้โดยไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูดดมกลิ่นนั้น และก็ยังมีกลิ่นจากการประกอบการโรงงานอีกหลากหลายชนิดประเภทที่ไม่สามารถใช้จมูกคนดมได้ เนื่องจากกลิ่นมีองค์ประกอบของสารเคมีอันตราย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดมกลิ่น ดังนั้น “E-Nose” สามารถนำมาใช้ในการกำกับดูแล ติตตามเฝ้าระวังระดับความเข้มกลิ่นได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง สามารถลดปัญหาการร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวนจากการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อลดผลกระทบและลดจำนวนข้อร้องเรียนจากชุมชนโดยรอบ เรื่องกลิ่นรบกวนจากการประกอบกิจการโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น และยังคงมีการร่วมมือระหว่าง SCGP และกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจวัดกลิ่นด้วยเครื่องมือ และแนวทางการกำหนดมาตรฐานเชิงเทคนิคในการใช้งานเครื่องมือ E-Nose ในอนาคต
“Ready to Share, Ready to Show” บรรจุภัณฑ์ขนส่งปลอดภัย จัดวางสะดวก ส่งเสริมสินค้าให้โดดเด่น
การจัดส่งสินค้าออกจากโรงงานหรือแหล่งผลิตไปยังจุดที่จำหน่ายสินค้าให้ได้อย่างปลอดภัย เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนให้ความสนใจเป็นลำดับต้น ๆ เพราะหากสินค้าเกิดความเสียหายแม้แต่เล็กน้อยระหว่างที่อยู่ในช่วงของการขนส่ง นั่นเท่ากับว่า มูลค่าของตัวสินค้าก็จะลดลงไปด้วย
ดังนั้นการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าให้ดี เลยเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ รู้สึกมั่นใจว่าสินค้าของพวกเขา สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างไร้ปัญหา
ทางนักออกแบบของ SCGP ธนพร วรวาส และ กฤชพร กุลรัตนรักษ์ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่มีคุณภาพออกมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เลือกนำไปใช้งาน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่มากกว่าการเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าอีกด้วย
บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่นักออกแบบของ SCGP ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาในครั้งนั้น มีชื่อว่า “Ready to Share, Ready to Show”
ชัวร์เรื่องขนส่ง
“Ready to Share, Ready to Show” คือผลงานการสร้างสรรค์ของทางนักออกแบบ SCGP ที่มาในรูปแบบของกล่องบรรจุภัณฑ์ สำหรับขนส่งขวดซอสพริกขนาดใหญ่พิเศษ
ขึ้นชื่อว่าเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ สำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะแล้ว แน่นอนว่ามีจุดเด่นที่เห็นชัดเจนอย่างแรกก็คือ สามารถใช้บรรจุขวดซอสพริกขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อขนส่งไปยังจุดหมายต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีความเสียหายของสินค้าระหว่างทำการขนส่ง
ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติมาตรฐาน (Common Footprint) พร้อมกับผ่านการออกแบบมาอย่างเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ตัวกล่องบรรจุภัณฑ์มีความแข็งแรง ยึดตัวสินค้าให้ติดอยู่กับกล่องบรรจุภัณฑ์ ไม่คลาดเคลื่อนจนเกิดความเสียหาย ซึ่งนักออกแบบ SCGP ได้เน้นย้ำว่าพวกเขาสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์นี้ขึ้นมา โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยบรรจุภัณฑ์นี้ ใช้สำหรับเพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ
หากใช้บรรจุภัณฑ์นี้แล้วมีข้อผิดพลาดที่เกิดจากการขนส่งเกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว มันจะทำให้พวกเขาถูกวิจารณ์จากลูกค้าได้
“เราให้ความสำคัญกับเรื่องความแข็งแรงในการรับแรงกระแทกของบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก” นักออกแบบ SCGP กล่าวถึงจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของกล่องบรรจุภัณฑ์ “Ready to Share, Ready to Show”
“เราจะมีการทำตัวอย่างของบรรจุภัณฑ์ออกมา เพื่อนำไปให้ลูกค้าลองเทส ลองเรียงซ้อนจริง เราดูขั้นตอนการขนส่งสินค้า ตั้งแต่ คลังสินค้า (Warehouse) ของลูกค้าเลย ว่าลูกค้าใช้บรรจุภัณฑ์ของเราจัดเรียงสินค้า แล้วเกิดความเสียหายอะไรไหม ? บรรจุภัณฑ์ของเราสามารถรับแรงกระแทกได้ดีหรือเปล่า ?”
“เราต้องมั่นใจมาก ๆ ว่าบรรจุภัณฑ์ของเรา สามารถใช้ขนส่งสินค้าได้อย่างปลอดภัย ไม่อย่างนั้นเราจะโดนวิจารณ์ได้ หากมีจุดไหนที่เราคิดว่ามันมีความเสี่ยง เราก็จะต้องเช็กให้ชัวร์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ก่อน ถึงจะส่งงานออกไปได้”
“ต้องคิดหลาย ๆ อย่างเผื่อเอาไว้ จำลองใช้บรรจุภัณฑ์ในทุกสถานการณ์ดูก่อน เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในทุกแง่มุม”
สะดวกต่อทุกฝ่าย
ต่อจากการใช้งานในด้านการขนส่งแล้ว จุดเด่นถัดมาของ “Ready to Share, Ready to Show” ก็คือเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งขวดซอสพริกขนาดใหญ่พิเศษ ที่ผู้จำหน่ายสามารถนำตัวสินค้ามาติดตั้งวางขายได้สะดวก
ทางนักออกแบบ SCGP ได้เปิดเผยว่าพวกเขาเลือกใช้ “SRP” หรือ “Shelf Ready Packaging” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลัก สำหรับการออกแบบตัวกล่องบรรจุภัณฑ์ “Ready to Share, Ready to Show”
ซึ่ง “SRP” หรือ “Shelf Ready Packaging” นั้นเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์รูปแบบหนึ่ง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการนำสินค้ามาวางเรียงบนชั้นได้อย่างสะดวก ช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัดขั้นตอน ประหยัดเวลาประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเรียงสินค้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของตัวสินค้าที่ถูกวางอยู่ใน “SRP”
“เราออกแบบตัว Common Footprint ที่เรามีอยู่แล้วให้มีความเป็น Shelf Ready Packaging ไปในตัวด้วย ก่อนที่จะออกมาเป็น Ready to Share, Ready to Show ที่ตัวโครงสร้างของกล่อง จะเป็น Common Footprint ผสมรวมเข้ากับ Shelf Ready Packaging” นักออกแบบ SCGP เผย
“เราคำนึงถึงเรื่องหน้างาน ทั้งพนักงานของลูกค้าปลายทางของเรา หรือผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้าในจุดจำหน่ายแต่ละแห่ง ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากเรา”
“พนักงานสามารถทำงานได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลากับการจัดวางสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของเรา และผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้า เห็นตัวสินค้าได้อย่างชัดเจน และเกิดความสนใจในตัวสินค้า”
เฉิดฉายน่าสนใจ
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ “Ready to Share, Ready to Show” ก็คือเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สามารถช่วยชูตัวสินค้าให้มีความโดดเด่น ดึงดูดสายตาของผู้ซื้อให้เข้ามาให้ความสนใจกับตัวสินค้า นำไปสู่โอกาสที่ดีในการส่งเสริมการขาย
นักออกแบบ SCGP ได้บอกว่า “ลูกค้าเน้นย้ำเรื่องการรีเทลสินค้า การที่พวกเขาจะต้องนำสินค้าไปวางขาย แล้วมีผู้ซื้อเข้ามาให้ความสนใจกับตัวสินค้าและซื้อ จึงให้ความสำคัญกับผู้ที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้ที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า หยิบสินค้าได้ง่าย เราเลยมองถึงตัว Shelf Ready Packaging”
“เราต้องหาทางทำให้สินค้าของลูกค้า Outstanding กว่าสินค้าของลูกค้ารายอื่น ก็เลยมีการคุยกับทางกราฟิกดีไซน์ในทีม ให้ช่วยออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างกว่าของคู่แข่ง ทำอย่างไรให้กล่องบรรจุภัณฑ์ของเรา สามารถช่วยโปรโมตแบรนด์ลูกค้า สร้างความน่าจดจำให้กับผู้ซื้อสินค้า”
ทำให้ผลงานของเราไม่ได้เป็นเพียงกล่องบรรจุภัณฑ์ สำหรับขนส่งสินค้าอย่างเดียว
ด้วย 3 จุดเด่นหลักของกล่องบรรจุภัณฑ์ “Ready to Share, Ready to Show” ทำให้ผลงานดังกล่าวสามารถก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลชนะเลิศประเภท Transport Package บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ในงานประกวด “ASIASTAR 2022 AWARDS”
“การที่เราออกแบบผลงาน โดยต้องการทำให้ตอบโจทย์หลากหลายรูปแบบ แต่ยังคงเรื่องการขนส่งเป็นเรื่องหลัก เลยทำให้ผลงานของเราค่อนข้างแน่นในเรื่องคุณภาพ และได้รับความสนใจจากคณะกรรมการ” นักออกแบบ SCGP กล่าวถึงรางวัลที่ได้มาจากผลงาน “Ready to Share, Ready to Show”
“ประทับใจในการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ออกมา ทางเรามีการแจ้งกับทางลูกค้า ว่าผลงานครั้งนี้ได้รับรางวัลมา ซึ่งพวกเขาก็ดีใจกับเราด้วย”
SCGP ทำรายได้ปี 66 ที่ 129,398 ล้านบาท จากยอดขายบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่แข็งแกร่ง กลยุทธ์บริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ชี้ดีมานด์ปี 67 ฟื้นตัว ดันรายได้ปีนี้ 1.5 แสนล้าน
SCGP ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ทำรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท และกำไรสำหรับปี 5,248 ล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนและเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ครอบคลุม ชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปีนี้ฟื้นตัวจากการกระตุ้นท่องเที่ยว ส่งออกฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลง กางแผนปี 2567 วางกลยุทธ์รุกสร้างรายได้และทำกำไรให้ธุรกิจ ตั้งเป้าหมายรายได้จากการขาย 150,000 ล้านบาท
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP แถลงผลการดำเนินงานบริษัทฯ ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน มี EBITDA 17,769 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน และมีกำไรสำหรับปี 5,248 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากปีก่อน โดยมีอัตรา EBITDA Margin ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 จากปีก่อนที่ร้อยละ 13 จากการมุ่งเน้นบริหารต้นทุนและการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ มียอดขายบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น และมีปัจจัยอัตราเงินเฟ้อและภาวะดอกเบี้ยซึ่งส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์ราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษในภูมิภาคผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในภูมิภาคอาเซียนและประเทศจีน
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 มีรายได้จากการขาย 31,881 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วน EBITDA 4,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวด 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 171 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้และต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดย EBITDA และกำไรสำหรับงวดที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายในเกือบทุกกลุ่มสินค้า และการเสริมประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในประเทศไทย การมีเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ครอบคลุม ช่วยลดผลกระทบด้านราคาและเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานชีวมวล
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย สินค้าส่งออกโดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ฟื้นตัวดี ส่วนสินค้าคงทนยังทรงตัว
จากผลการดำเนินงานของปี 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 2 เมษายน 2567
นายวิชาญ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศจีน โดยมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มลดลงจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มทรงตัวจนถึงเพิ่มขึ้น และการปรับค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง
SCGP พร้อมสร้างการเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ปี 2567 ที่ 150,000 ล้านบาท ด้วยงบลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท ผ่านกลยุทธ์การขยายในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง อย่างธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์ การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ และการบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่ไปกับการยกระดับการทำงานสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) ผ่านการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการขับเคลื่อน ESG เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก พร้อมทั้งดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593
ESG in Everyday Life
ESG in Everyday Life
ด้วยแนวคิดเรื่อง ESG ในระดับองค์กรที่ SCGP มุ่งเน้นคิดค้นและดำเนินโครงการดี ๆ มากมายที่สร้างประโยชน์แก่สังคม ตลอดจนการเสริมความตระหนักรู้ในวิธีคิดของคนในองค์กร วันนี้เราชวน 2 วิศวกรจากโครงการ Recycled Plastic Pellet โรงงานวังศาลา ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษพลาสติกเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกระดาษ มาร่วมแชร์วิธีคิดและแนวทางการทำงานที่เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่สำคัญในการดูแลโลกของเราใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไปในอนาคต
“ผมดูแลการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกับทีมวิศวกรโครงการ ทีมงานผลิต คู่ธุรกิจ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดของงานที่ทำจะเปลี่ยนไปตามโจทย์ หรือรูปแบบงานโครงการที่ได้รับมอบหมาย
“ผมมองงานที่ต้องรับผิดชอบเป็นความท้าทาย ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม อยากจะทำให้สำเร็จ เช่น โครงการที่ทำตอนนี้ เราก็ไม่เคยจับงานในลักษณะนี้มาก่อน คนละแบบกับที่เราคุ้นเคย แต่เราก็คิดว่าต้องทำให้ออกมาดีที่สุด ต้องมีวิธี ต้องมีทางออก ระหว่างทางตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับผิดชอบ เราก็ค่อย ๆ แก้ข้อจำกัดทีละประเด็นไป จนงานสำเร็จ
“แรงบันดาลใจในการทำงานมาจากความสุขที่จะได้เจอกับเรื่องใหม่ ๆ อาจมีอุปสรรคเข้ามาบ้าง เราก็หาทางแก้ไข เวลาเจออุปสรรค ผมว่าสิ่งที่สำคัญคือ คนรอบตัว ทีมเวิร์ก และหัวหน้า ที่ให้คำปรึกษา รวมถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทุกอย่างจะช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี
“โครงการที่ทำอยู่ตอนนี้ตอบโจทย์เรื่อง ESG โดยตรง ตั้งแต่ได้รับผิดชอบงานนี้ มีการเรียนรู้มาเรื่อย ๆ ทำให้เราซึมซับงานที่ทำ ได้คิดถึงผลกระทบมุมมองการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และโลกของเรา สิ่งเหล่านี้นำไปปรับใช้ในการทำงานเรื่องอื่น ๆ หรือชีวิตประจำวันได้ด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การคัดแยกขยะ ทำให้สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกวิธีการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก ที่ลดการกำเนิดมลพิษ และดูแลสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน”
สรายุ พลพิทักษ์ (โอ๊ต) – Engineer – Recycling and Water Management Technology
“การทำงานต้องประสานงานกับแต่ละหน่วยงานค่อนข้างเยอะ อันดับแรกคือ เราต้องรู้ก่อนว่าหน้าที่ของเราคืออะไรบ้าง Mindset แรกคือ พยายามรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด พยายามทำความเข้าใจแต่ละหน่วยงานว่าเขาต้องการอะไร และเราสามารถ Support จุดไหนในขอบเขตของเราได้บ้าง สามารถทำอะไรให้ประสานงานได้ราบรื่นขึ้นบ้าง
“บริษัทค่อนข้างเปิดโอกาสให้ได้คิด ได้ทำ สนับสนุน และผลักดันเรื่อง ESG เป็นอย่างมาก ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา เราเลยสนุกกับงานอยู่ตลอด ไม่เคยเบื่อ เพราะได้ทำสิ่งที่ตรงกับความสนใจของเรา ยิ่งพอมีธุรกิจ Recycling เข้ามา ก็ทำให้เราเรียนรู้ต่อไปได้อีก
“แนวคิด 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอด อย่างการคัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับมารีไซเคิล และการลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ และสิ่งที่เพิ่มขึ้นจากแนวคิดนี้คือ เราในฐานะผู้บริโภคที่เลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับบริษัทที่ใส่ใจต่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้ามีโอกาสเราก็จะเลือกสนับสนุนบริษัทที่เขาทำเรื่องดี ๆ เหล่านี้ เพราะเรารู้แล้วว่า การจะเปลี่ยนสังคมต้องเริ่มที่ตัวเรา”
วรรณชนก สกุลดาราชาติ (โอปอล) – Engineer – Recycling and Water Management Technology
5 วิธีปรับไลฟ์สไตล์ ใช้ชีวิตง่าย ๆ และยั่งยืน
5 วิธีปรับไลฟ์สไตล์ ใช้ชีวิตง่าย ๆ และยั่งยืน
วิถีชีวิตที่ยั่งยืนเป็นเทรนด์โลกที่กำลังได้รับความสนใจจากคนยุคใหม่ ที่เริ่มใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น ว่ากันว่าการจะปรับเปลี่ยนวิถีของสังคมไปสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคม โดยพวกเราอาจเริ่มต้นจากการสำรวจ 5 Key Lifestyles ใกล้ตัวง่าย ๆ เมื่อเราเริ่มสำรวจและใส่ใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้นในทุกโอกาส ในทุกวันที่เราออกไปใช้ชีวิต ก็นับว่ามีส่วนขับเคลื่อนและพาสังคมโลกขยับเข้าไปใกล้วิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้นอีกขั้นแล้ว
- อาหาร
ลองคิดว่า อาหารและเครื่องดื่มของเราแต่ละมื้อ มีกระบวนการผลิตและแปรรูปมาอย่างไร หรือวิธีกำจัดเศษของเหลือจากอาหารเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาเป็นธัญพืช ผลไม้ ผัก หรือ Plant-Based ก็จะช่วยลดอัตราการผลิตเนื้อสัตว์จากระบบปศุสัตว์ที่เกินจำเป็น รวมถึงการเลือกบริโภคพืชผักที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ก็มีส่วนช่วยลดปริมาณปล่อยของเสียระหว่างกระบวนการผลิตหรือแปรรูปได้
- ที่อยู่อาศัย
เราเลือกสร้างที่อยู่อาศัยจากวัสดุแบบใด เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในบ้านทั้งหมด มีส่วนสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ในทุกครั้งที่เราใช้งาน ดังนั้น เราจึงควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนการเลือกนวัตกรรมเครื่องใช้ที่ประหยัดพลังงาน ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
- การขนส่ง
ระบบขนส่งที่เลือกใช้ทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอย่างไร เรายังใช้งานรถยนต์รุ่นเก่าที่การสันดาปเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์อยู่หรือไม่ เราสามารถเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ที่ช่วยลดการก่อมลพิษได้ในหลาย ๆ โอกาส การเลือกรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีระบบสนับสนุนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ย่อมดีต่อสังคมในระยะยาว
- สันทนาการ
การใช้เวลาว่าง หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ไป เราใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทุกวันนี้เริ่มมีธุรกิจทัวร์แนวใหม่ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อย่างการท่องเที่ยวชมท้องทะเลแบบไม่ทำร้ายปะการัง ไม่รบกวนถิ่นที่อยู่ของสัตว์น้ำ การใส่ใจเรื่องไม่นำขยะพลาสติกเข้าไปในพื้นที่อุทยานหรือแหล่งท่องเที่ยว เราพร้อมจะเลือกใช้บริการการท่องเที่ยวเหล่านั้นไหม
- สินค้าอุปโภคบริโภค
ส่วนใหญ่มาจากกระบวนการผลิตผ่านโรงงานอุตสาหกรรม และใช้เคมีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้น กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมา เกิดของเสียอะไรขึ้นบ้าง หรือจะเป็นของเสียเหลือใช้ที่ปล่อยไปสู่สิ่งแวดล้อม หากเทียบกับปริมาณและความถี่ในการใช้งาน สามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหน หรือลองหันมาสนับสนุนสินค้าที่เริ่ม มีนวัตกรรมลดปัญหาขยะ เช่น ผลิตภัณฑ์นมที่ใช้หลอดกระดาษแทนพลาสติก ถุงขนมที่ทำจากเยื่อธรรมชาติย่อยสลายได้เอง ฯลฯ
นี่เป็นเพียงไลฟ์สไตล์ตัวอย่างของการใช้ชีวิตประจำวันที่ชวนให้ทุกคนหันกลับมาสำรวจตัวเองมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องบีบบังคับตัวเองเพื่อก้าวไปสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน แต่ทุกครั้งที่เรามีโอกาสเลือกได้ ควรเลือกสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตระหนักและใส่ใจโลกให้มากขึ้น เท่านี้ก็นับว่าเราได้ค้นพบ “กุญแจดอกแรก” ที่จะไขประตูไปสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนได้แล้ว
เมื่อทุกคนเริ่มตระหนักถึงวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ประโยชน์แรกย่อมเกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น การเลือกกินอาหารที่ดี ช่วยกันลดการสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เราเองจะได้รับสุขภาพที่ดีและแข็งแรงเป็นสิ่งตอบแทน นอกจากนี้ยังส่งต่อไปยังโลกที่น่าอยู่ขึ้น ลดภาวะโลกร้อนหรือปัญหาขยะล้นโลก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเรา จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมแห่งการเปลี่ยนแปลงให้ขยายกว้างใหญ่ออกไปในอนาคตได้
จักร์จิตร กล่อมสิงห์ เดินหน้าเรื่อง Collaboration เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Sustainable Packaging
จักร์จิตร กล่อมสิงห์
เดินหน้าเรื่อง Collaboration เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Sustainable Packaging
ธุรกิจในยุคสมัยใหม่ที่ความท้าทายเกิดขึ้นรอบด้าน การ Collaboration ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ องค์กรต้องวางแนวทางให้เกิดขึ้นทั้งภายในองค์กร และกับคู่ค้าหรือลูกค้า เพื่อให้สามารถร่วมกันตอบโจทย์เทรนด์และสถานการณ์โลกปัจจุบันได้ วิธีการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของใจความสำคัญที่ พี่หนุ่ม – จักร์จิตร กล่อมสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ SCGP ได้หยิบยกมาแชร์ ใน P-DNA ฉบับนี้ นอกเหนือจากการแชร์แนวคิดการทำงาน เพื่อให้น้อง ๆ พร้อมสำหรับทุกโอกาสและความท้าทายที่เข้ามา
ยึดหลักความเป็นจริงในการทำงาน
จากเส้นทางของพี่หนุ่มที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2532 หลังจากเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และการคว้าโอกาสเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุก ๆ 2-3 ปี พี่หนุ่มจะได้รับมอบหมายให้ย้ายไปประจำตามโรงงานต่าง ๆ ของ SCGP ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รับผิดชอบดูแลงานผลิต งานซ่อมบำรุง งานเทคนิคในกระบวนการผลิต ไปจนถึงโครงการขยายกำลังผลิตต่าง ๆ ก่อนจะขยับมาดูเรื่อง Business Development จนกระทั่งเติบโตในหน้าที่การงานสู่สายงานบริหาร
“หลักในการบริหารงานที่พี่ใช้มาตลอดตั้งแต่ยังเป็นวิศวกรเลยคือ ใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในการทำงาน และคอนเซปต์ 3G ของญี่ปุ่น GENBA GENBUTSU และ GENJITSU หมายถึงการทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ไปดูของจริง ที่สถานที่จริง ด้วยวิธีการปฏิบัติและวิธีการแก้ไขที่เป็นจริง
“ขณะเดียวกัน พี่จะพยายามคิดบวก เชื่อว่าทุกอย่างเราทำได้ ถ้าทำแล้วได้ผลไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ พี่จะไม่มองว่ามันล้มเหลว แต่จะกลับมาดูว่ามีจุดไหนที่ยังแก้ไขหรือพัฒนาได้ หาโซลูชัน หาแผนใหม่แล้วทำซ้ำ ถ้าบางครั้งมันล้มเหลวจริง ก็ต้องยอมรับ ไม่โทษใคร เปลี่ยนมาช่วยน้อง ๆ หาโซลูชันใหม่ที่รอบคอบกว่าเดิมขึ้นแทน
“การบริหารงานควบคู่กับบริหารคนก็มีความสำคัญมาก หลาย ๆ ธุรกิจที่พี่ไปบริหารมาจากการ Joint Venture เราต้องมีความเป็นธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดซึ่งกันและกัน ถึงจะทำงานเป็นทีมได้ เมื่อครั้งที่ไปบริหารงานโรงงานกล่องที่ปราจีนบุรี มีพี่ท่านหนึ่งบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองนะ เพราะเรามีทีม เรามีคนที่คอยช่วยเหลือ ร่วมมือกัน ก็เลยเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย การทำงานคนเดียวไม่สามารถทำได้สำเร็จ ต้องเรียนรู้เรื่องคน และการทำงานร่วมกับคน เวลาไปที่ใหม่ ก็ต้องเรียนรู้ในการปรับตัว การพัฒนาตัวเองของพี่ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่และปรับตัวอยู่ตลอด จะติดอยู่อย่างเดิมไม่ได้ บางทีไปต่างประเทศอาจจะเจอวัฒนธรรมใหม่ด้วย ก็ต้องเปิดใจเรียนรู้ไปกับทีม จึงจะสามารถทำงานให้สอดคล้องกันและพัฒนาไปด้วยกันได้”
เดินหน้าเรื่อง Collaboration เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Sustainable Packaging
“เรื่องสังคมคาร์บอนต่ำ การลดโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอน การใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้วัตถุดิบ การใช้ซ้ำ สามารถนำมารีไซเคิลได้ (3R) สิ่งเหล่านี้คือ เทรนด์ของ Sustainable Packaging ที่ลูกค้าของเราหลายรายกำหนดเป็นนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้ผู้ที่ทำธุรกิจหรือส่งของข้ามประเทศไปที่ยุโรป ต้องจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ซึ่งเปรียบเสมือนการเก็บภาษีเพิ่มตามปริมาณการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือ ความท้าทายที่เราต้องเร่งหาทางบริหารจัดการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
“พี่จึงแยกกลยุทธ์ออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การ Collaborate ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสนับสนุนลูกค้าของ SCGP ที่ต้องการตอบโจทย์เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน ทุกวันนี้เราคำนวณค่าเฉลี่ย Carbon Emissions ในทุกกระบวนการผลิตของทุกโรงงาน โดยร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และกำลังจัดทำระบบที่สามารถ Declare ได้ว่า Packaging ที่ลูกค้าเลือกใช้มีค่า Carbon Emissions เท่าไร ขณะเดียวกันก็ดูว่า SCGP จะช่วยสนับสนุนลูกค้าได้อย่างไรอีก เช่น โซลูชันที่ลดการใช้วัตถุดิบ หรือการนำเสนอสินค้าที่ทำจากกระดาษและสามารถรีไซเคิลได้
“ยกตัวอย่าง Clixpak บรรจุภัณฑ์รวมหน่วยกระป๋องเครื่องดื่มที่ผลิตจากกระดาษแผ่นเดียว ด้วยคุณสมบัติของกระดาษและการออกแบบ ทำให้บรรจุภัณฑ์มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี หยิบจับสะดวก สามารถหิ้วแพคเครื่องดื่มด้วยมือเดียว และง่ายต่อการคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือการพัฒนาสินค้าร่วมกับลูกค้า ดิไซเนอร์ก็ต้องช่วยออกแบบให้ใช้วัตถุดิบน้อยลง ซึ่งการออกแบบแพคเกจจิ้งเหล่านั้นก็จะถูกซัปพอร์ตด้วยทีมผลิตอีกที เพราะฉะนั้นการ Collaborate มันเกิดขึ้นทุกส่วน
“เรื่องที่สองคือ การสร้าง Awareness เรื่องความยั่งยืนให้พนักงาน มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการใช้วัตถุดิบน้อยลง มีการเอาพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ ปัจจุบันกิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ SCGP ในประเทศไทยทั้งหมดนำ Solar Roof มาใช้ เอารถฟอร์กลิฟต์ไฟฟ้า (EV Forklift) มาใช้แทนรถแก๊สและน้ำมัน รถฟอร์กลิฟต์ในโรงงานเป็น EV ทั้งหมดแล้ว และกำลังศึกษาเรื่องการนำ Biomass เข้ามาใช้ในธุรกิจ
“เรายังคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่ม Yield ลด Loss ลดการใช้วัตถุดิบ ส่งผลให้ใช้พลังงานน้อยลง การปล่อย Carbon Emissions น้อยลงตามไปด้วย เพื่อให้สินค้าสามารถตอบโจทย์เทรนด์ Sustainable Packaging ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้า และธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”
ยืดหยุ่น เตรียมพร้อม คว้าโอกาสใหม่ ๆ เสมอ
“ทุกวันนี้เราขยายธุรกิจไปในหลายภูมิภาคแล้ว สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากน้อง ๆ คือ ต้องรู้จักปรับตัว ย้ายตัวเองไปทำงานที่ไหนก็ได้ ออกจากกรอบเดิม ๆ ได้เสมอ เราควรยินดีที่ได้ไปทำงานในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่แค่ในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็จะทำให้เราได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย
“ตอนนี้บริษัทอยู่ในช่วงเติบโต อยากให้น้อง ๆ เตรียมตัวให้พร้อมทั้งเรื่องความรู้และความสามารถ ไม่ว่าจะทางด้าน Functional หรือด้านการเป็นผู้นำ เพราะการเติบโตขององค์กรต้องมีเครื่องมือ นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามา และโอกาสก็มีเข้ามาเสมอ น้อง ๆ ต้องพร้อมที่จะคว้าเอาไว้
“พี่เชื่อว่า ความโชคดีคือส่วนผสมของโอกาสกับความพร้อม การเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อโอกาสมา และจะดีกว่าถ้าเราเสาะหาโอกาสด้วย พี่มีโอกาสได้ไปทำงานหลายที่ แต่ก็เป็นลักษณะของการถูกเลือก แต่การเติบโตของบริษัทก็อาจจะมีเรื่องอาสาสมัครเพื่อไปทำงานในพื้นที่ท้าทายมากขึ้น ไม่ว่าโอกาสจะมาแบบไหน เราก็ต้องพร้อมเติบโตไปในอนาคต และอย่าลืมว่า ในการเติบโตนั้น การมีภาวะความเป็นผู้นำสำคัญมาก เป็นสิ่งที่คนคนนั้นควรต้องมีเพิ่มเติม นอกเหนือจากทักษะทางด้าน Functional ที่แต่ละคนมี พี่ก็อยากให้น้อง ๆ เตรียมตัวไว้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้นะครับ”